วัดสวนดอกวรมหาวิหาร

Suandok1

วัดสวนดอก หรือชื่อเดิมว่าวัดบุปผารามสวนดอกไม้ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ซึ่งมีความสำคัญมากวัดหนึ่งของเชียงใหม่ ตั้งอยู่บนถนนสุเทพ เลขที่ ๒๑/๑ หมู่ที่ ๓ ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

โดยตั้งอยู่นอกเขตกำแพงเมืองเชียงใหม่ทางด้านทิศตะวันตก มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ ๓๕ ไร่ ๒ งาน ๔๔ ตารางวา และมีที่ธรณีสงฆ์จำนวน ๕ แปลง เนื้อที่ ๓ ไร่ ๒ งาน ๔๔ ตารางวา ปัจจุบันผนวกเอาวัดพระเจ้าเก้าตื้อรวมไว้เป็นส่วนหนึ่งของวัดสวนดอกแล้ว

พระเจดีย์วัดสวนดอก ได้รับการบูรณะใหม่และหุ้มแผ่นทองจังโก

ประวัติความเป็นมาของวัดสวนดอกที่ปรากฏใน ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ และ พงศาวดารโยนก มีโดยย่อดังนี้ คือ พระญากือนา (ราชโอรสของพระยาผายู) ทรงเป็นกษัตริย์แห่งล้านนาองค์ที่ ๖ ในราชวงศ์มังราย ทรงเดชานุภาพทั้งในด้านยุทธศาสตร์ ศิลปศาสตร์ทั้งมวล อีกทั้งทรงมีความเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่งต่อพระพุทธศาสนา ทรงครองราชย์ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๘๙๘ – ๑๙๒๘

พระองค์ทรงทราบว่ามีพระเถระรูปหนึ่งนามว่า พระสุมนเถร ได้เข้ามาเผยแผ่พุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ในกรุงสุโขทัย เมื่อพระยาทรงเกิดความสนพระทัยและเลื่อมใสเป็นอันมาก จึงโปรดเกล้าฯ ให้หมื่นเงินกองไปอาราธนาพระสุในเถระมาเผยแผ่ศาสนา ณ นครพิงค์เชียงใหม่

พร้อมกับทรงพระราชทานอุทยานดอกไม้ส่วนพระองค์ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของนครเชียงใหม่ให้สร้างเป็นวัดขึ้นมาเมื่อราวปี พ.ศ. ๑๘๑๔ (ตามชินกาลมาลีปกรณ์ ของพระรัตนปัญญา) และทรงพระราชทานนามว่า “วัดบุปผาราม” ซึ่งแปลได้ว่าวัดสวนดอกไม้ แต่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า “วัดสวนดอก” และในครั้งนั้นพระญากือนาได้สถาปนาพระสมุนเถระให้เป็นพระสังฆราช มีพระนามในตำแหน่งว่า “พระสุมนสุวัณณรัตนมหาสวามี”
เมื่อถึง พ.ศ. ๑๙๑๖ พระสุมนสวามีเจ้า ได้ถวายพระบรมสารีริกธาตุที่นำติดตัวมาด้วยแต่พระญากือนา ซึ่งพระองค์ทรงทำพิธีสักการบูชาและสรงน้ำพระธาตุ พงศาวดารโยนก กล่าวว่า ขณะที่พระองค์กระทำการสักการะพระธาตุอยู่นั้นเองได้เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้น

คือพระธาตุแสดงปาฏิหาริย์แบ่งออกเป็น ๒ องค์ และเปล่งฉัพพรรณรังสีให้เห็น พระญากือนาและพระสุมนสวามีจึงพร้อมใจกันสร้างเจดีย์ขึ้นบรรจุพระบรมธาตุองค์หนึ่ง ณ วัดสวนดอก สำหรับพระบรมธาตุอีกองค์ได้รับการประดิษฐานไว้ ณ พระบรมธาตุดอยสุเทพ ในปี พ.ศ. ๑๘๒๗
อนึ่ง ข้อความที่ปรากฏใน ชินกาลมาลีปกรณ์ เกี่ยวกับการสร้างวัดสวนดอกมีดังนี้ คือ “ฝ่ายพระเจ้ากือนาโปรดให้สร้างพระราชอุทยานของพระองค์เป็นวัดบุปผารามมหาวิหารเมื่อจุลศักราช ๗๓๓ (พ.ศ. ๑๘๑๔) แล้วนิมนต์พระสุมนเถระมาจากวัดพระยืน หริภุญชัย มอบถวายวัดบุปผารามแก่พระเถระนั้นแล้ว โปรดให้พระเถระจำพรรษาอยู่ที่นั้น

ต่อจากนั้น พระสุมนเถระซึ่งมีพระเจ้ากือนาทรงอุปถัมภ์ ได้ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่ท่านอัญเชิญมาจากเมืองสุโขทัยนั้นไว้ในวัดบุปผาราม เมื่อวันพุธ เดือน ๙ จุลศักราช ๗๓๕ (พ.ศ. ๑๘๑๖) และพระบรมสารีริกธาตุนั้นได้เป็นที่กราบไหว้บูชาของประชาชน พระมหากษัตริย์และคณะพระภิกษุทั้งหลายตราบเท่าทุกวันนี้ ฝ่ายพระเจ้ากือนามีพระชนมายุ ๔๖ ปี ครองราชสมบัติอยู่ ๓๐ ปีเต็มก็สวรรคต”

นอกจากตำนานและพงศาวดารต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ยังมีตำนานวัดสวนดอกซึ่งได้รับการปริวรรตโดยฝ่ายวิจัยคัมภีร์ใบลานในภาคเหนือ สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เนื่องในโอกาสที่เชียงใหม่จะมีอายุครบ ๗๐๐ ปี มีใจความดังต่อไปนี้ คือ

“วันนึ่ง ออกวัสสาแล้ว พระพุทธเจ้าวิหรดิชวนเอาภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย ๔ ตน ออกเทศนาธรรมตามเมืองต่าง ๆ จนกระทั่งมาถึงเมืองพิงค์ (เชียงใหม่) ซึ่งในขณะนั้นเป็นเมืองแห่งทมิฬหรือชาวลวะ พระองค์ทรงประทับนั่งอยู่เค้าไม้บุนนาคบุปผารามที่นั้นเป็นเค้า ไว้พระเกศธาตุพระพุทธเจ้าเส้นหนึ่งให้แก่ชาวลวะผู้หนึ่งเพื่อบรรจุไว้ที่บุปผารามเป็นเค้า จากนั้นเสด็จไปทางทิศใต้เป็นระยะทางประมาณ ๗๐๐ วา แล้วไว้พระเทศธาตุเส้นหนึ่งแก่ชาวละ สถานที่นั้นจึงได้ชื่อว่า บุปผาราม …

หลังจากที่พระพุทะเจ้าปรินิพพานไปได้ ๑๙๐๙ วัสสา ตรงกับจุลศักราช ๗๒๙ ปี ท้าวกือนาได้เป็นกษัตริย์เสวยราชสมบัติในเมืองเชียงใหม่ เป็นราชวงศ์มังรายองค์ที่ ๗ ในยามนั้นเมืองเชียงใหม่มีความสงบสุขและอุดมสมบูรณ์ไปด้วยข้าวปลาอาหาร

อนึ่ง เนื่องด้วยท้าวกือนาเป็นผู้ที่มีพระภิกษุผู้รู้รจนา สามารถกระทำกรรมน้อยใหญ่ได้ทุกประการมาไว้ในเมืองเชียงใหม่ และในครั้งนั้นพระไทยสองตนชื่ออโนมรสี (ที่ถูกต้องคืออโนมทัสสี) และสุมนได้พากันไปเรียนพระไตรปิฎกที่นครศรีอยุธยาและที่นครสุโขทัย

ภายหลังพระภิกษุสองรูปนี้ได้ข่าวเกี่ยวกับพระอุทุมพรบุปผามหาสวามี พระมหาเถระชาวรามัญ ผู้ตั้งศาสนาคณะลังกาวงศ์ ณ เมืองรามัญประเทศ ท่านทั้งสองจึงไปศึกษาในสำนักของมหาเถรอุทุมพรบุปผามหาสวามีแล้วกลับมาสู่สยามประเทศ โดยพระมหาสุมนเถรเจ้าอยู่ที่เมืองสุโขทัยและพระอโนมรสีอยู่ที่เมืองสะเรียงหรือกำแพงเพชร”
จากนั้น “อยู่มาวันหนึ่ง พระมหาสุมนเถรเจ้ามีนิมิตฝันว่าเทวดาตนหนึ่งมาบอกสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าซึ่งอยู่ ณ เมืองบางจาในเขตเมืองศรีสัชนาลัย โดยพระบรมสารีริกธาตุบรรจุอยู่ในซากเจดีย์ปรักหักพังและมีกอดอกเข็มรูปร่างเหมือนม้าขึ้นอยู่ต้นหนึ่ง พระมหาสุมนเถระจึงออกเดินทางไปยังเมืองบางจาและขอให้พระบรมธาตุแสดงปาฏิหาริย์

ตกกลางคืนก็ปรากฏรัศมีของพระบรมธาตุขึ้นที่กอดอกเข็มอย่างโชติช่วงตลอดทั้งคืน รุ่งเช้าของวันใหม่ เมื่อคนทั้งหลายทำการขุดหาพระบรมสารีริกธาตุซึ่งบรรจุในโกศแก้วซ้อนด้วยโกศเงินและโกศทองจนพบแล้ว ก็ทำการสักการบูชาแล้วเปิดโกศแก้วออกดู พบว่ามีพระบรมสารีริกธาตุขนาดเท่าเม็ดถั่วเขียวบรรจุอยู่

จากนั้นมีเหตุอัศจรรย์เกิดขึ้น คือพระบรมสารีริกธาตุได้กระทำปาฏิหาริย์ แยกออกเป็น ๒ องค์ ๓ องค์ ครั้นพระญาสัชนาลัยทราบเรื่องดังกล่าว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้อาราธนาพระบรมสารีริกธาตุเข้ามาสู่เมือง จากนั้นทรงแจ้งข่าวไปยังพระญาสุโขทัยทราบ

ซึ่งพระองค์ทรงรำพึงว่า หากพระบรมสารีริกธาตุกระทำปาฏิหาริย์ปรากฏให้เห็น พระองค์จะสร้างเจดีย์ทองคำให้เป็นที่ประดิษฐาน แต่เมื่อพระองค์ทำการสักการบูชาแล้วสรงน้ำธาตุพระชินมารพระบรมสารีริกธาตุกลับไม่กระทำปาฏิหาริย์ พระองค์จึงให้พระมหาสุมนเถรเจ้าเป็นผู้เก็บรักษาไว้ ”

ภายหลัง เมื่อพระญากือนา เจ้านครพิงค์เชียงใหม่ ได้ทราบข่าวเกี่ยวกับพระอุทุมพรบุปผามหาสวามี พระองค์จึงอาราธนาพระมหาสวามีเจ้ามาสืบพระศาสนาในเมืองเชียงใหม่โดยตอนแรกโปรดเกล้าฯ ให้พระมหาสวามีพำนักอยู่ที่วัดพระยืนจังหวัดลำพูน ต่อมาหลังจากที่พระญากือนาและพระมหาสุมนเถระได้ร่วมกันสร้างพระพุทธเจ้ายืนไว้ที่วัดพระยืนในปีจุลศักราช ๗๓๑

พระมหาสุมนเถรเจ้าได้ถวายพระบรมสารีริกธาตุซึ่งท่านนำติดตัวมาแต่พระญากือนา พระองค์จึงใคร่สร้างวัดถวายพระสุมนเถระ ซึ่งบังเอิญทรงมีนิมิตฝันว่าเทวดามาบอกให้พระองค์สร้างวัด ณ สวนดอกไม้ซึ่งเป็นสถานที่อันดี ดังนั้นพระองค์จึงนิมนต์พระมหาเถรเจ้าไปดูสวนบุปผา

ซึ่งพระมหาเถรเจ้าเห็นว่าเป็นที่อันดี อีกทั้งท่านมีนิมิตฝันว่ามีดอกบัวหลวงดอกหนึ่งบังเกิดขึ้นในอุทยานแห่งนั้น พระญากือนาจึงโปรดเกล้าฯให้เบิกสวนอุทยานใหญ่กว้างและให้สร้างเท่าอารามเชตวัน โดยลวงยาวมี ๓๓๑ วาเขตอากาศ โดยลวงกว้าง ๓๑๑ วาขาดแท้ดีหลี ในปีรวงไก๊ จุลศักราชได้ ๗๓๓ ปีดีงามและให้ชื่อว่า วัดบุปผารามสวนดอกไม้

นอกจากนี้ พระญากือนายังโปรดเกล้าฯให้สร้างกุฏิ ๑ หลังถวายแด่พระสุมนเถรเจ้า พร้อมทั้งมีการผูกพัทธสีมาหนวันออกจ๊วยใต้ แห่งสวนดอกไม้บัวหลวงซึ่งพระญากือนาฝันเห็น
จากนั้น “พระญากือนาและพระมหาสุมนเถรเจ้า ได้ร่วมกันก่อสร้างเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุในวัดสวนดอกไม้ เมื่อมีการอาราธนาพระบรมธาตุมาใส่โกศทองคำ พระบรมธาตุเจ้าก็แสดงปาฏิหาริย์ บังเกิดเป็นแสงสว่างสดใสให้คนทั้งหลายได้เห็นโดยทั่วกัน

บางคนเห็นว่ามี ๒ องค์ ๓ องค์ และหลายองค์ต่าง ๆ กันไป ทั้งสีทอง นาก และสีอื่น ๆ ในขณะนั้นท้องฟ้าก็พลันมืดมิด เมื่อพระมหาสุมนเถระเจ้านำพระบรมธาตุออกจากน้ำที่สรง ปรากฏว่ามีพระบรมธาตุจำนวน ๒ องค์ ท่านจึงเลือกเอาพระบรมสารีริกธาตุที่มีลักษณะอันงามสมบูรณ์บรรจุในองค์เจดีย์

จากนั้นจึงก่อกำแพงปราการที่ชั้นนอก และทั่วข่วงตลอดจนทำการก่อสร้างมหาวิหารไว้ที่วัด ท้ายสุดมีการเฉลิมฉลองพระอารามที่สร้างขึ้นใหม่อย่างยิ่งใหญ่ นับจากนั้นเป็นต้นมาภิกษุทั้งหลายทั้งในเมืองเชียงใหม่และอาณาจักรใกล้เคียง ได้มาเรียนธรรมที่วัดสวนดอกไม้อย่างไม่ขาดสาย”

จึงอาจกล่าวได้ว่าคณะสงฆ์วัดสวนดอกไม้ เริ่มขึ้นครั้งแรกในสมัยพระญากือนานี้เอง และมีความรุ่งเรืองอย่างเห็นได้ชัด จากรูปแบบและการศึกษาของวัดที่ได้กลายมาเป็นแบบอย่างของคณะสงฆ์พื้นเมืองล้านนา รวมทั้งการที่พระสงฆ์ – สามเณรจากเชียงตุง พะเยา ลำปาง เชียงราย และเมืองอื่น ๆ ได้เดินทางมาศึกษาพระศาสนาในสำนักสงฆ์วัดสวนดอกไม้
ซึ่งถอดรูปแบบการศึกษามาจากคณะสงฆ์พระอุทุมพรบุปผามหาสวามี เมืองพันทุกอย่าง รวมทั้งการอุปสมบทของคณะสงฆ์ในสำนักนี้ที่กระทำครั้งแรกในรัชกาลของพระญากือนาเช่นกัน โดยพระสุมนเถระได้กระทำพิธีด้วยวิธีที่เรียกว่า “สมมุตินทีสีมา” หรือการบวชในแพขนานในลำน้ำปิง (แพโบสถ์น้ำ) ซึ่งเป็นการรับอิทธิพลมาจากลังกาโดยตรง ทั้งนี้ การจัดพระราชพิธีอุปสมบทหลวงของคระสงฆ์มักได้รับการส่งเสริมจากกษัตริย์ล้านนาแทบทุกพระองค์
อนึ่ง การปกครองวัดบุปผารามในฝ่ายคณะสงฆ์สมัยพระสุมนเถระ มีการลดหลั่นตามชั้นอำนาจ คือพระมหาสวามี (สังฆราช) ซึ่งมีอำนาจปกครองสูงสุดในฝ่ายอรัญวาสี รองลงมาคือพระสังฆราชา ซึ่งมีบทบาทดูแลคณะสงฆ์ในคณะ จากนั้นจึงจะเป็นตำแหน่งเจ้าอาวาสและพระอุปัชฌาย์

ขอขอบคุณ http://www.oknation.net/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .