วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม)

วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองเชียงใหม่ และตั้งอยู่บริเวณเชิงดอยสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรืออยู่ในซอยหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ประวัติ
เหตุการณ์ล่วงผ่านไปอดีต เมื่อปี พ.ศ. 1839 พระยามังรายทรงสร้างอาณาจักรล้านนาร่วมกับพระสหาย คือ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช กษัตริย์ปกครองสุโขทัย และพระเจ้างำเมือง กษัตริย์ปกครองพะเยา มาสร้างเมืองเวียงเหล็ก (บริเวณวัดเชียงมั่นในปัจจุบัน) และตั้งชื่อเมืองว่า “นพบุรี ศรีนครพิงค์” ท่านมีความใฝ่ในศาสนาพุทธ จึงทรงทำนุบำรุง ส่งเสริมศาสนาให้รุ่งเรืองในล้านนา ในขณะนั้น ทางฝ่ายพระเจ้ารามคำแหงมหาราชได้ส่งคนนิมนต์พระสงฆ์จากลังกามาอาศัยอยู่ใน จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อที่พระสงฆ์ได้เผยแพร่พระพุทธศาสนาในสุโขทัย เมื่อพระยามังรายทราบข่าวดังกล่าว จึงส่งคนไปนิมนต์พระลังกาจากพระเจ้ารามคำแหง 5 รูป โดยมีพระกัสสปะเถระเป็นหัวหน้าคณะสงฆ์นี้ โดยจำพรรษาที่วัดการโถม ต่อมาพระยามังรายสร้างวัดเวฬุกัฏฐาราม (ปัจจุบัน คือ วัดอุโมงค์) เมื่อสร้างเสร็จจึงอาราธนาพระมหากัสสปะเถระจำพรรษาที่วัดแห่งนี้

ต่อมาเมื่อพระเจ้ามังรายสวรรคต ศาสนาพุทธขาดการทำนุบำรุง เพราะมัวแต่ทำศึกสงครามกันเองในเชื้อพระวงศ์ในการแย่งชิงราชสมบัติ จนถึงสมัยพระเจ้าผายู ศาสนาพุทธได้รับการฟื้นฟูจนถึงสมัยพระเจ้ากือนาธรรมาธิราช (ประมาณ พ.ศ. 1910) ท่านมีความเลื่อมใสในพระมหาเถระจันทร์ พระเจ้ากือนาจึงสั่งให้คนบูรณะวัดเวฬุกัฏฐาราม เพื่ออาราธนาพระมหาเถระจันทร์จำพรรษาทีวัดแห่งนี้ และตั้งชื่อวัดนี้ว่า “วัดอุโมงค์เถรจันทร์” ตามชื่อของพระมหาเถระจันทร์ มีการซ่อมแซมเจดีย์โดยการพอกปูน สร้างอุโมงค์ไว้ทางทิศเหนือจากเจดีย์ ในอุโมงค์มีทางเดิน 4 ช่องซึ่งเชื่อมต่อกันได้

ราชวงศ์มังรายล่มสลาย เมื่อปี พ.ศ. 2106 เปลี่ยนเป็นพม่าปกครองล้านนา ทำให้วัดอุโมงค์ขาดการทำนุบำรุง ปล่อยให้ร้าง ปรักหักพังเรื่อยๆ ต่อมา เจ้าชื่น สิโรรส ได้จัดการแผ้วถางบูรณะวัดนี้ และสร้างกุฏิหลังใหม่เพิ่ม จากนั้นจึงนินต์พระภิกษุปัญญานันทะจากสวนโมกข์ อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี มาจำพรรษา และท่านได้เผยแพร่ศาสนาสืบไป

ภาพจิตรกรรมภายในอุโมงค์
จิตรกรรมฝาผนังวัดอุโมงค์ในส่วนที่เหลือหลักฐานให้ชมในปัจจุบันอยู่บริเวณเพดานโค้งภายในอุโมงค์ ตัวอุโมงค์ตั้งอยู่บริเวณต่อเนื่องกับเจดีย์ทางทิศเหนือ โดยหันทางเข้าหลักไปยังทิศตะวันออกจำนวน 3 อุโมงค์ในด้านหน้า ซึ่งอุโมงค์กลาง (อุโมงค์ที่ 4) มีขนาดใหญ่ที่สุด ซึ่งสามารถเห็นได้ เพียง 3 อุโมงค์เท่านั้น คือ อุโมงค์ที่ 1, 2, และ 3 นอกเหนือจากนี้ไม่สามารถเห็นได้ อีกทั้งภาพหลักฐานจิตรกรรมฝาผนังในอุโมงค์มีสภาพลบเลือนไปมาก จำเป็นต้องใช้เทคนิคคัดลอกจิตรกรรมด้วยมือและคอมพิวเตอร์ควบคู่กัน โดยการคัดลอกลายเส้น และการคัดลอกเป็นภาพสี จึงทำให้ยังสามารถเห็นภาพจิตรกรรมฝาผนังอันเก่าแก่ของศิลปะล้านนาซึ่งมีอายุกว่า 500 ปีได้ชัดเจนมากขึ้นกว่าเดิม

เห็นภาพจิตรกรรมภายในอุโมงค์ได้อย่างไร?
จิตรกรรมผาผนังภายในอุโมงค์ของวัดอุโมงค์ตามสภาพปัจจุบันนั้น อยู่ในสภาพที่ชำรุดลบเลือนมาก จนหลายคนเข้าใจว่าคงไม่มีภาพจิตรกรรมหลงเหลือแล้ว

แต่จากการสำรวจของโครงการย้อนรอยอดีตจิตรกรรมวัดอุโมงค์ กลับพบหลักฐานของจิตรกรรมฝาผนังมากกว่าที่คาดคิด เป็นเหตุให้กรมศิลปากรช่วยเหลือโดยจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน เพื่อมาทำการสำรวจ และอนุรักษ์จิตรกรรมแห่งนี้เมื่อปลายปี พ.ศ. 2542-กลางปี พ.ศ. 2543

นอกจากนี้คุณภัทรุตม์ สายะเสวี ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการอนุรักษ์จิตรกรรมวัดอุโมงค์ของกรมศิลปากรในขณะนั้นได้เข้าร่วมทำงานอนุรักษ์จิตรกรรมอีกด้วย โดยการให้คำแนะนำและดูแลการปฏิบัติงานของทีมงานโครงการย้อนรอยอดีตจิตรกรรมวัดอุโมงค์ เป็นอย่างดี

ส่วนการอนุรักษ์งานจิตรกรรมฝาผนังวัดอุโมงค์นั้นได้นำกระบวนการทางเคมีและศิลปะ ซึ่งมีขั้นตอนตั้งแตทำการสำรวจ, ทำความสะอาดภาพจิตรกรรม, เสริมความแข็งแรงของผนังปูนฉาบ, ชั้นสีของงานจิตรกรรมให้มั่นคงแข็งแรงพร้อมทั้งบันทึกหลักฐานตลอดงานการอนุรักษ์ทั้งภาพถ่าย แผนผัง และภาพลายเส้น ระหว่างขั้นตอนดังกล่าวทีมงานได้ค้นพบภาพจิตรกรรมฝาผนังเพิ่มเติมด้วยความบังเอิญ คือ เหตุที่ทำให้อุโมงค์ชำรุดเนื่องจากมีรอยร้าวที่อุโมงค์ เมื่อฝนตกทำให้น้ำไหลซึมเข้ารอยร้าว จึงเกิดการสะสมของหินปูนที่เคลือบลายจิตรกรรมจนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ทีมงานจึงเอาคราบหินปูนออกโดยใช้น้ำยาเคมีที่ทำให้คราบหินปูนอ่อนตัวลง จากนั้นใช่มีดฝานหินปูนออกทีละนิดจนหมด จึงปรากฏภาพจิตรกรรมที่สวยงาม

ขอขอบคุณ http://th.wikipedia.org/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .