ประวัติวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร

วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร มีโบราณสถานโบราณวัตถุที่สำคัญอยู่มากมาย จึงได้รับประกาศให้เป็นโบราณสถานของชาติ ดังประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๓ ตอนที่ ๓๔ หน้า ๑๕๓๐ วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๔๗๙ และประกาศขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุจำนวน ๒๑ รายการ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๖ ตอนที่ ๑๖ หน้า ๗๒๖-๗๒๘ วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๓๒ ทั้งนี้เพราะแทบทุกที่ทุกทางภายในวัด ล้วนมีคุณค่าต่อการศึกษาและมีประโยชน์สำหรับอนุชนทั้งสิ้น ซึ่งจะขอกล่าวถึงโบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญภายในวัดตามลำดับ ดังนี้

องค์พระบรมธาตุเจดีย์
สัญลักษณ์ของเมืองนครศรีธรรมราชที่รู้จักกันดีในทุกภาคของประเทศไทย ตลอดถึงต่างประเทศก็คือองค์พระบรมธาตุเจดีย์ อันเป็นมิ่งขวัญของชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชและชาวพุทธทั้งมวล เพราะเป็นที่บรรจุประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นที่เคารพสักการะบูชาของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก เป็นเจดีย์ทรงกลมแบบลังการูประฆังคว่ำ หรือโอคว่ำ ตั้งอยู่บนลานทักษิณสี่เหลี่ยม
กล่าวกันว่า แต่เดิมรูปทรงของพระบรมธาตุเจดีย์ไม่ได้มีรูปทรงอย่างทุกวันนี้ ที่เห็นเป็นพระเจดีย์ที่สร้างขึ้นใหม่เพื่อครอบเจดีย์องค์เก่าไว้ พระเจดีย์องค์เดิมที่อยู่ภายในนั้นสร้างตามคติความเชื่อของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ในสมัยศรี

วิชัยประมาณ พ.ศ. ๑๓๐๐ พระบรมธาตุเจดีย์องค์เดิมจึงสร้างแบบสถาปัตยกรรมศรีวิชัย รูปแบบจึงคล้ายพระบรมธาตุไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ครั้นถึงสมัยศรีวิชัยตอนปลายประมาณ พ.ศ. ๑๗๐๐ พุทธศาสนานิกายหินยานเจริญมากในลังกา ดังนั้น ไทยพม่าและมอญจึงส่งพระภิกษุไปศึกษาพระธรรมวินัยที่ลังกา พระภิกษุสงฆ์จากเมืองนครศรีธรรมราชนี่เองที่ไปศึกษาดังกล่าว พระเจ้าจันทรภาณุศรีธรรมราชซึ่งทรงเป็นศาสนูปถัมภกได้จัดส่งไป เมื่อพระภิกษุเหล่านั้นกลับมานคร ใน พ.ศ. ๑๗๗๐ ก็ชักชวนพระภิกษุชาวลังกามาตั้งคณะสงฆ์ที่เมืองนครศรีธรรมราช เรียกว่า “พุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์”

ระยะนั้น พระบรมธาตุเจดีย์ของเมืองนครศรีธรรมราชองค์เดิมกำลังชำรุดทรุดโทรมมาก พระเจ้าจันทรภาณุ เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ผู้เป็นพุทธศาสนูปถัมภก ได้ทรงเห็นพระมหาธาตุเจดีย์ชำรุดทรุดโทรม จึงได้บูรณะซ่อมสร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๗๗๐ ให้เป็นไปตามสถาปัตยกรรมลังกา แต่ไม่ได้ทำอันตรายแก่พระมหาธาตุเจดีย์องค์เดิม คงก่อสถูปแบบลังกาหุ้มเจดีย์องค์เดิมไว้ เหมือนอย่างเช่นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบูรณะซ่อมสร้างเจดีย์นครปฐมหุ้มครอบพระเจดีย์องค์เดิมไว้ ฉะนั้น
องค์พระบรมธาตุเจดีย์ที่พระเจ้าจันทรภาณุทรงบูรณะซ่อมสร้างขึ้นใหม่นั้น คือ พระบรมธาตุเจดีย์ที่เห็นประจักษ์อยู่บัดนี้ เจดีย์องค์เดิมนั้นได้ค้นพบเมื่อคราวปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุเจดีย์ในสมัยรัชกาลที่ ๕ และมีหลักฐานยืนยันว่าชาวลังกาเคยมาอยู่เมืองนครศรีธรรมราชจริงๆ นอกจากพระบรมธาตุเจดีย์แล้วยังมีโบราณวัตถุที่ขุดพบด้วย คือ ใน พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้ขุดพบพระพุทธรูปลังกาทำด้วยหินสีเขียวคล้ายมรกตหนึ่งองค์ ฝีมือช่างลังการุ่นเก่า โดยขุดพบที่บริเวณพระพุทธบาทจำลองในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ปัจจุบันเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ วัดพระมหาธาตุนครศรีธรรมราช
ตามความเชื่อที่มีมาแต่โบราณเชื่อว่า ภายในองค์พระบรมธาตุเจดีย์นั้นปรากฏตามตำนานว่า มีสระกว้างยาวด้านละ ๘ วา ลึก ๘ วา รองด้วยศิลาแผ่นใหญ่ ข้างๆ ผูกด้วยปูนเพชรทั้ง ๔ ด้าน ในสระนั้นทำเป็นสระเล็กขึ้นสระหนึ่ง หล่อด้วยปูนเพชร กว้างยาว ๒ วา ลึก ๒ วา ใส่น้ำพิษนาคมีแม่ขันทองคำ ใส่ผอบทองคำบรรจุพระทันตธาตุลอยอยู่ในสระนั้น กับมีทองคำ ๔ ตุ่ม ตุ่มหนึ่งหนัก ๓๘ คนหาม ตั้งอยู่สี่มุมสระนั้นด้วย”

ขอขอบคุณ http://www.phraborommathat.com

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .