วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร

ตั้งอยู่ริมถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง วัดพระมหาธาตุเป็น พระอารามหลวงชั้นเอก ชั้นวรมหาวิหาร เดิมชื่อวัดพระบรมธาตุ เป็นปูชนียสถานที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของ ภาคใต้และประเทศไทย ตามตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช กล่าวว่า เจ้าชายธนกุมารและพระนางเหมชาลา เป็นผู้นำเสด็จพระบรมธาตุมาประดิษฐาน ณ หาดทรายแก้วและสร้างเจดีย์องค์เล็ก ๆ เป็นที่หมายไว้ ต่อมาในปีมหาศักราช 1098 (พ.ศ.1719) พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ทรงสร้างเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นพร้อมการก่อสร้างเจดีย์ขึ้นใหม่ พระบรมธาตุเจดีย์มีลักษณะรูปแบบศิลปกรรมเป็นเจดีย์ทรงลังกาสูง 55.78 เมตร (กรมศิลปากรวัดเมื่อการบูรณะปลียอดทองคำเมื่อ พ.ศ. 2538) จากฐานบัวคว่ำบัวหงายถึงปลียอด 6.80 เมตร ใช้ทองคำเนื้อสิบหุ้มโดยรอบ ภายในวัดพระมหาธาตุฯ มีวิหารที่มีความสำคัญหลายหลังประดิษฐานอยู่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระวิหารหลวงมีความงามตามแบบสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา วิหารสามจอม วิหารที่มีพระพุทธรูปทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ชื่อว่า “พระศรีธรรมาโศกราช” ประดิษฐานอยู่ วิหารพระมหาภิเนษกรมน์ (วิหารพระทรงม้า) วิหารทับเกษตร ส่วนวิหารเขียน และวิหารโพธิ์ลังกานั้นเป็นสถานที่จัดแสดงโบราณวัตถุที่พุทธศาสนิกชนถวายเป็นพุทธบูชา
พระพุทธสิหิงค์ ประดิษฐานภายในหอพระพุทธสิหิงค์บริเวณศาลากลางจังหวัด เป็นพระพุทธรูปสำคัญที่ตามตำนานกล่าวว่า พระมหากษัตริย์ลังกาโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 700 และมาอยู่ประเทศไทยในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ปัจจุบันพระพุทธสิหิงค์ในประเทศไทยมีอยู่ 3 องค์ คือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ และหอพระพุทธสิหิงค์ จังหวัดนครศรีธรรมราช หอพระพุทธสิหิงค์นี้เดิมเป็นหอพระประจำวังของเจ้าพระยานคร (น้อย) ภายในหอแบ่งเป็นสองตอน ตอนหน้าเป็นที่ประดิษฐานองค์พระพุทธสิหิงค์และพระลากเงิน พระลากทอง ส่วนหอตอนหลังเป็นที่บรรจุอัฐิของสกุล ณ นคร
หอพระอิศวร อยู่ริมถนนราชดำเนิน เป็นโบราณสถานในศาสนาพราหมณ์ เป็นที่ประดิษฐานศิวลึงค์ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของพระอิศวร และฐานโยนิ รวมทั้งเทวรูปสำริดอีกหลายองค์ อาทิ เทวรูปศิวนาฏราช พระอุมา และพระพิฆเนศ ปัจจุบันเทวรูปสำริดในหอพระอิศวรเป็นของจำลอง ของจริงได้นำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช
หอพระนารายณ์ ตั้งอยู่ถนนราชดำเนิน เป็นโบราณสถานในศาสนาพราหมณ์อีกแห่งหนึ่ง ตรงข้ามกับหอพระอิศวร อาคารหอพระนารายณ์เดิมไม่สามารถสืบทราบรูปแบบได้แล้ว สิ่งที่พบภายในหอพระนารายณ์ ได้แก่ เทวรูปพระนารายณ์สลักจากหินทรายสีเทาทรงหมวกรูปกระบอกปลายสอบและพระหัตถ์ขวาทรงสังข์ มีอายุราวพุทธศตวรรษ ที่ 10–11 นับเป็นเทวรูปที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันได้เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช โบราณวัตถุที่ตั้งแสดงอยู่ในหอพระนารายณ์ขณะนี้คือ เทวรูปพระนารายณ์จำลองจากองค์จริงที่พบในแหล่งโบราณคดีแถบอำเภอสิชล
พระวิหารสูงหรือหอพระสูง เป็นปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมืองนครศรีธรรมราช ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองโบราณนครศรีธรรมราชด้านทิศเหนือในบริเวณสนามหน้าเมือง ถนนราชดำเนิน เรียกชื่อตามลักษณะของการก่อสร้างของพระวิหารซึ่งสร้างบนเนินดินที่สูงกว่าพื้นปกติดถึง 2.10 เมตร ไม่ปรากฏหลักฐานแสดงประวัติอย่างแท้จริง แต่สามารถสันนิษฐานจากลักษณะของสถาปัตยกรรม และจิตรกรรมฝาผนังว่าสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ภายในพระวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นแกนดินเหนียว สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพุทธศตวรรษที่ 23–24 หรือในสมัยอยุธยาตอนปลาย
กุฏิทรงไทย หรือ กุฏิร้อยปี ตั้งอยู่ริมถนนราชดำเนิน บริเวณที่เชื่อว่าตรงข้ามกับ วังตะวันออกอันเป็นนิวาสสถานของเจ้าจอมปราง เดิมเป็นอุทยาน ต่อมาเจ้าพระนคร (น้อย) ยกวังตะวันออก และอุทยานตรงข้ามให้เป็นวัดเช่นเดียวกัน จึงเป็นวัดวังตะวันตก พ.ศ. 2431 พระครูกาชาด (ย่อง) พร้อมด้วยสานุศิษย์ได้สร้างกุฏิขึ้นหมู่หนึ่ง เป็นเรือนเครื่องสับ 3 หลัง มีหลังคาจั่ว แต่ละหลังคาคลุมเชื่อมต่อกัน ตัวเรือนฝาปะกน ตามประตู หน้าต่างและช่องลม ประดับด้วยลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองนคร ปี พ.ศ. 2535 สมาคมสถาปนิกสยาม คัดเลือกกุฏิวัดวังตะวันตกให้เป็นอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประเภทปูชนียสถานและวัดวาอาราม
วัดสวนหลวง ตั้งอยู่ริมถนนราชดำเนิน ตรงข้ามกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช อยู่ภายในเขตเมืองพระเวียงอันเป็นเมืองโบราณ วัดแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามนามว่า สมเด็จเจ้าแม่ลาวทอง ปางอุ้มบาตร และเป็นพระพุทธรูปสำคัญในงานประเพณีลากพระในเทศกาลออกพรรษา โดยจะอัญเชิญสมเด็จเจ้าแม่ลาวทองประดิษฐานบน “นมพระ” หรือ “พนมพระ” (บุษบก) และชักลากไปทั่วเมืองเพื่อให้พุทธศาสนานิกชนได้ร่วมบุญด้วยการ “ลากพระ” ตามประเพณีโบราณที่สืบทอดกันมา และพระอุโบสถในวัดสวนหลวงนั้นเป็นพระอุโบสถสมัยอยุธยา โดยมีภาพปูนปั้นฝีมือช่างท้องถิ่นเกี่ยวกับพุทธประวัติประดับอยู่ผนังภายในพระอุโบสถ
วัดสวนป่าน อยู่ใกล้สามแยกหอนาฬิกา ถนนศรีธรรมโศก ภายในโบสถ์มีภาพจิตรกรรมเกี่ยวกับ สมัยรัชกาลที่ 5 เสด็จมาประทับที่วัดสวนป่าน เมื่อครั้งเสด็จกลับจากประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปี พ.ศ.2441 และภาพพุทธประวัติของพระพุทธเจ้า ผลงานของ แนบ ทิชินพงศ์ ผู้มีผลงานดีเด่นด้านศิลปของนครศรีธรรมราช วาดเสร็จตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 ผู้สนใจชมต้องติดต่อกับทางวัดเพื่อเปิดประตูโบสถ์
สำนักวิปัสสนากรรมฐานวัดชายนา ตั้งอยู่ที่ถนนพัฒนาการทุ่งปรัง เป็นสถานที่ที่มี การสอนวิปัสสนากรรมฐานแก่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ โดยท่านพุทธทาสภิกขุเป็นผู้เริ่ม ดำเนินการ เพื่อให้เป็นสาขาของวัดสวนโมกข์ บรรยากาศในวัดร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่
เก๋งจีนวัดแจ้ง ตัวอาคารเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนรูปทรงอย่างอาคารจีนภายใน
ประดิษฐานบัวบรรจุอัฐิของเจ้าพระยานคร (หนู) และหม่อมทองเหนี่ยวผู้เป็นชายา ปัจจุบัน
ตั้งอยู่ในเขตวิทยาลัยสงฆ์ภาคทักษิณซึ่งอยู่ในวัดแจ้ง ถนนราชดำเนิน
เก๋งจีนวัดประดู่ ตั้งอยู่ในบริเวณวัดประดู่ ถนนราชดำเนินใกล้สนามกีฬาจังหวัด สร้างสมัยต้นรัตนโกสินทร์ มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นแบบจีนเช่นเดียวกับเก๋งจีนวัดแจ้ง โดยเป็นที่ประดิษฐานอัฐิเจ้าพระยานคร (น้อย) ผู้เป็นบุตรของเจ้าพระยานคร (หนู)
เจดีย์ยักษ์ อยู่ริมถนนศรีปราชญ์ ข้างสำนักงานเทศบาลนครศรีธรรมราช เป็นเจดีย์สูงใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากเจดีย์พระบรมธาตุ ทรงเจดีย์เป็นแบบลังกา สันนิษฐานว่าชาวลังกาที่สร้างพระบรมธาตุเป็นผู้สร้าง ราวพ.ศ. 1800–1900 มีการซ่อมสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่ก่อนองค์เจดีย์ทรุดโทรมมากและยอดหัก กรมศิลปากรได้ซ่อมแซมใน ปี พ.ศ. 2518–2522 ด้านหน้าพระเจดีย์มีวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปั้นนั่งองค์ใหญ่ สมัยอยุธยา เรียกพระเงินหรือหลวงพ่อเงิน
บ้านหนังตะลุงสุชาติ ทรัพย์สิน เลขที่ 10/18 ถนนศรีธรรมโศก ซอย 3 ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว (Thailand Tourism Awards) ประจำปี 2539 รางวัลดีเด่นประเภทวัฒนธรรมและโบราณสถาน บริเวณบ้านหนังตะลุงได้จัดแบ่งเป็นพิพิธภัณฑ์หนังตะลุง จัดแสดงหนังตะลุงประเภทต่าง ๆ สาธิตการแกะรูปหนังตะลุง มีเวทีสาธิตหนังตะลุงอย่างครบวงจร นักท่องเที่ยวและผู้สนใจสามารถเข้าชมและศึกษาศิลปวัฒนธรรมได้ทุกวัน โทร. 0 75 34 6394
กำแพงเมือง อยู่ริมถนนราชดำเนิน เป็นกำแพงที่ซ่อมขึ้นใหม่ตามรูปเดิมในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และได้รับการบูรณะเพิ่มเติมขึ้นอีกในปี พ.ศ. 2533 เป็นแนวขนานไปกับคูเมือง ตั้งแต่ป้อมประตูชัยเหนือ หรือประตูชัยศักดิ์ ไปทางตะวันออก ยาวประมาณ 100 เมตร
สนามหน้าเมือง ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองทางตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นสนามรบในอดีต ต่อมากลายเป็นสถานที่ใช้ประกอบพิธีกรรมและกิจกรรมทั้งของรัฐและราษฎร เช่น เคยใช้เป็นที่สร้างพลับพลารับเสด็จพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลต่าง ๆ เป็นที่ประกอบพิธีสงกรานต์ ฝึกทหาร และยุวชนทหาร และจัดงานประเพณีที่สำคัญของชาวนครรวมทั้งงานรื่นเริงอื่น ๆ บริเวณที่อยู่ใกล้หอพระสูงมีอาคารสถาปัตยกรรมท้องถิ่นที่สร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2469 ชื่ออาคารศรีธรรมราชสโมสร ปัจจุบันคือ สำนักงาน ททท. ภาคใต้ เขต 2 สมาคมสถาปนิกสยามได้มอบรางวัลดีเด่นด้านอนุรักษ์สถาปัตยกรรม ประจำปี 2537 และทางด้านหลังสำนักงาน ททท. คือ ถนนท่าช้าง ได้ชื่อว่าเป็นถนนหัตถกรรม เพราะมีอาคารร้านค้าจำหน่ายผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมนานาชนิด อันเป็นเอกลักษณ์ เก่าแก่ของเมืองนครศรีธรรมราชมาช้านาน
ศาลาโดหก หรือศาลาประดู่หก อยู่ริมถนนราชดำเนิน เดิมเป็นศาลานอกกำแพงเมืองตรงประตูชัยเหนือ อันเป็นที่พักของคนเดินทาง ซึ่งเข้าเมืองไม่ทัน เพราะประตูเมืองปิดเสียก่อน ศาลาแห่งนี้ตั้งอยู่ระหว่างต้นประดู่ (ต้นโด) หกต้น ชาวนครเรียกว่า “หลาโดหก” ศาลาหลังที่มีอยู่ทุกวันนี้สร้างขึ้นใหม่เป็นศาลาทรงไทยอยู่ริมถนนราชดำเนิน ส่วนต้นประดู่ทั้งหกต้นได้ตายไปหมดแล้ว ทางเทศบาลจึงปลูกขึ้นใหม่เพื่อเป็นที่ระลึกถึงประดู่ทั้งหกต้น
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช ตั้งอยู่ถนนราชดำเนิน ตรงข้ามวัดสวนหลวง ตำบลในเมือง เป็นอาคารทรงไทย 2 ชั้น สร้างเมื่อ พ.ศ. 2514 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จเปิดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2517 บริเวณโดยรอบพิพิธภัณฑสถานฯ ร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ ภายในอาคารจัดแสดงโบราณวัตถุที่พบในจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดใกล้เคียง โบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ศิลปะสมัยทวารวดีจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เครื่องถ้วยจีน เครื่องถ้วยอันนัม (ญวณ) เครื่องสังคโลก เงินตราสมัยต่าง ๆ ศิลปพื้นบ้านภาคใต้ หนังตะลุง มโหรสพพื้นบ้านภาคใต้ เครื่องมือเครื่องใช้ในการดำรงชีวิตของคนภาคใต้ ได้แก่ เครื่องมือในการทำนา เครื่องทอผ้า อุปกรณ์การกรีดยาง รากไม้แก้วแกะสลักเป็นรูปสัตว์กว่าร้อยชนิดอยู่รวมกันเป็นฝีมือของ นายอ่ำ ศรีสัมพุทธ ซึ่งได้รับรางวัลที่ 1 ประเภทงานแกะสลักของจังหวัดในงานเดือนสิบ และมรดกดีเด่นของจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แก่ พนักกันยา เรือพระที่นั่งทำด้วยแผ่นเงินขนาดใหญ่ถมทองอย่างสวยงามถือว่าเป็นถมทองชิ้นเยี่ยมที่สุดและใหญ่ที่สุดในจังหวัดนครศรีธรรมราช และยังมี หน้าบันไม้จำหลักภาพ เทพรำศิลปะภาคใต้ เครื่องถม เครื่องทองเหลือง ผ้ายกเมืองนครศรีธรรมราช รถม้าโบราณ เป็นต้น เปิดให้เข้าชมทุกวันพุธ –วันอาทิตย์ เว้นวันจันทร์-วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 09.00–16.00 น. ค่าเข้าชมคนไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท สอบถาม ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช 80000 โทร. 0 7534 1075, 0 7534 0419, 0 7535 6229 โทรสาร 0 7534 0419
สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ 84 (ทุ่งท่าลาด) อยู่ที่ถนนราชดำเนิน เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่มีเนื้อที่ประมาณ 1,257 ไร่ ตั้งอยู่หลังสนามกีฬาจังหวัดนครศรีธรรมราช พื้นที่แห่งนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของ “สวนราชฤดี” ในสมัย ร.5 ภายในสวนมีสวนสัตว์เปิด สวนนกนานาชนิด สวนสุขภาพ รวมทั้งทะเลสาบซึ่งเป็นที่อาศัยของนกเป็ดน้ำที่อพยพมาจากถิ่นอื่นในช่วงมกราคมถึงมีนาคม ของทุกปี
อนุสาวรีย์วีรไทย ตั้งอยู่ในค่ายวชิราวุธ (กองทัพภาคที่ 4) ถนนราชดำเนิน เป็นอนุสาวรีย์ที่หล่อด้วยทองแดงรมดำ เป็นรูปทหารเตรียมรบสองมือจับปืนติดดาบเตรียมแทง ชาวบ้านเรียกว่า “จ่าดำ” หรือ “เจ้าพ่อดำ” สร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์ของทหารไทยในภาคใต้ที่เสียชีวิตในการปะทะกับทหารญี่ปุ่น ในสงครามมหาเอเชียบูรพา เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2484
สำนักศิลปและวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏนครศรีธรรมราช ตั้งอยู่ในสถาบันราชภัฏนครศรีธรรมราช อยู่ห่างจากตัวเมืองไปตามเส้นทางนครศรีธรรมราช-พรหมคีรี (ทางหลวงหมายเลข 4016) ประมาณ 13 กิโลเมตร เป็นสถานที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดีที่ขุดค้นพบในนครศรีธรรมราช ซึ่งได้จัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้านในอดีต ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเมืองในสมัยต่างๆ จนมาเป็นอาณาจักรศรีวิชัย ทั้งยังเป็นศูนย์อนุรักษ์และฟื้นฟูมหรสพพื้นบ้าน เป็นแหล่งค้นคว้ารวบรวมทางด้านภาษาและวรรณกรรม รวมทั้งคติชนวิทยาที่สำคัญได้แก่ข้อความจากศิลาจารึกที่ค้นพบที่เขาช่องคอย และโบราณวัตถุที่ชุมชนโบราณวัดโมคลาน เป็นหลักฐานที่สำคัญที่ระบุว่าเมืองนครศรีธรรมราชสร้างขึ้นเมื่อใด ศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้แห่งนี้เปิดให้เข้าชมวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00 –16.00 น

ขอขอบคุณ http://www.oceansmile.com

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .