ก่อนการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ผู้ปฏิบัติควรจะเตรียมตัวอย่างไร?–สำนักวิปัสสนากรรมฐาน วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร

___________________10

ก่อนที่จะเริ่มปฏิบัติผู้ปฏิบัติควรจะตัดหรือละไว้ชั่วคราว บ่วง ๑๐ บ่วง (ปลิโพธิ) ซึ่งหากไม่มีการละหรือวาง จะทำให้ไม่สามารถเจริญวิปัสสนาได้ บ่วงทั้ง ๑๐ คือ
o ที่อยู่อาศัย ความกังวลเรื่องที่อยู่อาศัยของตนเอง
o ตระกูล ความกังวล คือตระกูล คือ ตระกูลญาติหรือตระกูลอุปัฏฐาก
o ลาภ ความกังวลถึงผลประโยชน์ในปัจจัย ๔ ,ของรางวัล และรายได้ต่างๆ
o หมู่คณะ ความกังวลถึงบุคคลรอบข้าง
o การงาน ความกังวลถึงหน้าที่การงาน การกระทำ การก่อสร้างต่างๆ
o การเดินทาง ความกังวลถึงการเดินทาง
o ญาติ ความกังวลถึงญาติ คือ ญาติในวัดเช่น พระอาจารย์ และญาติในบ้าน คือ พ่อ แม่ พี่ น้อง
o อาพาธ ,พยาธิ ความกังวลถึงโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นกับตน
o การศึกษา ความกังวลถึงการศึกษาเล่าเรียน
o อิทธิฤทธิ์ ความกังวลถึงการบรรลุถึงอิทธิฤทธิ์

สิ่งของที่ผู้จะเข้าปฏิบัติต้องเตรียมมีอะไรบ้าง?

บัตรประจำตัวประชาชน หรือ หนังสือสุทธิ(สำหรับพระภิกษุ) ชาวต่างประเทศต้องมีหนังสือเดินทาง และวีซ่าที่สมบูรณ์และถูกต้อง ซึ่งทางสำนักจะเก็บรักษาไว้ตลอดที่ผู้ปฏิบัติเข้าอยู่ปฏิบัติ การแต่งกาย เสื้อ – ผ้า ชุดขาว (หาซื้อได้บริเวณหน้าวัด)
– นักปฏิบัติธรรมชาย เสื้อ – กางเกงขายาวสีขาว
– นักปฏิบัติธรรมหญิง ผ้าถุงหรือกางเกงขายาว – สไบ – เสื้อขาว เสื้อทับในขาว (สวมทับชั้นในให้ดูเรียบร้อย) กระโปรงซับในขาว (เมื่อนุ่งผ้าถุง) ตามแต่ความสะดวกและเหมาะสม
ห้ามเสื้อคอกว้าง – รัดรูป – แขนกุด – เอวลอย

ในช่วงที่มีอากาศหนาวเย็น ควรเตรียมเสื้อหนาๆ หรือชุดกันหนาว ถ้าเป็นไปได้ควรจะเป็นสีขาว ของใช้ส่วนตัวประจำวัน เช่น สบู่ แปรงสีฟัน-ยาสีฟัน ผ้าเช็ดตัว รองเท้า และอื่นๆ นาฬิกาที่สามารถจับเวลาได้ ซึ่งใช้ในการกำหนดระยะเวลาการปฏิบัติ ร่ม ไฟฉาย ขวดน้ำ ยาทากันยุง รวมถึง ชา กาแฟ ถ้าต้องการ ยาประจำตัว

หมายเหตุ ไม่สวมเครื่องประดับทุกชนิดเมื่อมาเข้าปฏิบัติ โทรศัพท์และสิ่งของมีค่าไม่ควรนำมา เพื่อไม่ให้เป็นภาระเมื่อมาเข้าปฏิบัติ เว้นการใช้เครื่องสำอาง – ของหอม ตกแต่งใบหน้าและร่างกาย และให้เก็บ – มัดรวมผมให้เรียบร้อย

“เพื่อความสบายในขณะอยู่ปฏิบัติธรรม ควรสวมรองเท้าแตะส้นเตี้ย”

การอบรมการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนี้มีระยะเวลาเท่าใด และผู้ปฏิบัติสามารถอยู่ปฏิบัติได้นานเท่าใด?

สำหรับผู้ที่เริ่มปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน หลักสูตรเบื้องต้นจะใช้เวลา ๒๑ วัน แต่ระยะเวลาปฏิบัติของผู้ปฏิบัติแต่ละท่านแตกต่างกัน ดังนั้นจึงไม่มีการกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน โดยการปฏิบัติเริ่มตั้งแต่การขึ้นกรรมฐาน สำหรับผู้ที่เคยมาปฏิบัติกับทางสำนักแล้ว การทวนญาณจะใช้เวลาประมาณ ๑๐ วัน เพราะผู้ที่เคยผ่านการอบรมการปฏิบัติเบื้องต้นแล้วจึงไม่จำเป็นต้องเสียเวลาในการปฏิบัติแบบเบื้องต้นอีก โดยผู้ปฏิบัติสามารถอยู่ปฏิบัติที่สำนัก ได้เป็นระยะเวลาไม่เกิน ๑ เดือน โดยจะต้องทำการจองกุฏิที่พักกับทางสำนักล่วงหน้า

การฝึกปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่สำนักแห่งนี้ มีครูผู้สอนหรือไม่ ?

ทุกวัน (ยกเว้นวันพระ) ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจะต้องเข้าทำการสอบอารมณ์กับพระอาจารย์ เกี่ยวกับการปฏิบัติ และผลของการปฏิบัติในแต่ละวัน นอกจากนี้ผู้ปฏิบัติยังสามารถถามข้อสงสัยที่ได้จากการปฏิบัติกับพระอาจารย์ นอกจากนี้พระอาจารย์ยังจะถามคำถาม เพื่อที่จะช่วยให้ทราบถึงระดับของความมีสมาธิของผู้ปฏิบัติ และแนะนำแนวทางให้ผู้ปฏิบัติไปปฏิบัติต่อ ตามระดับสมาธิของผู้ปฏิบัติ นอกจากนี้ พระอาจารย์ทอง ยังจะสอนผู้เข้าปฏิบัติใหม่ทุกวันในตอนเย็นในการขึ้นกรรมฐานด้วย สำหรับผู้ปฏิบัติที่เป็นชาวต่างชาติ ทางสำนักจะมีพระ แม่ชี ที่มีความรู้ด้านภาษาอังกฤษคอยแปลคำสอนของพระอาจารย์ให้กับผู้เข้ารับการปฏิบัติเป็นภาษาอังกฤษ

อะไรคือเทคนิคการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน และแนวทางการปฏิบัติ?

การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้น ผู้ปฏิบัติสามารถปฏิบัติได้ภายในกุฏิของตนเอง หรือสถานที่อื่นตามแต่ผู้ปฏิบัติจะเลือก ในการเข้าปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่สำนักนี้ ผู้ปฏิบัติแต่ละท่านจะได้รับคำแนะนำการปฏิบัติจากครูผู้สอน โดยจะเป็นไปตามแนวทางสติปัฏฐาน ๔ คือ กาย เวทนา จิต และธรรม ในเบื้องต้นการปฏิบัติจะประกอบด้วยการนั่งสมาธิซึ่งให้ความสำคัญที่การหายใจของผู้ปฏิบัติ และการเดินจงกลม ซึ่งให้ความสนใจที่การเคลื่อนไหวของเท้าระหว่างการเดิน การปฏิบัติจะแบ่งออกเป็นชุด (บัลลังค์) โดยเริ่มจากการกราบ ตามด้วยการเดินจงกลม และการนั่งสมาธิ ผู้ที่เริ่มต้นฝึกอาจจะเริ่มที่การเดินจงกลม และการนั่งสมาธิอย่างละ ๑๐ นาที และค่อยๆเพิ่มระยะเวลาการเดิน และการนั่งต่อไป

ที่พักที่ทางสำนักจัดให้กับผู้เข้าปฏิบัติมีลักษณะเป็นอย่างไร?

ผู้เข้าปฏิบัติแต่ละท่านจะได้รับการจัดที่พักแยกกันอยู่เป็นกุฏิเดี่ยว โดยภายในแต่ละกุฏิจะมีห้องน้ำในตัว มีน้ำ ไฟฟ้าให้บริการ รวมถึงบริการเครื่องซักผ้าส่วนรวม กุฏิของผู้ปฏิบัติชายและหญิงจะอยู่แยกกัน ทางสำนักมีการเตรียมหมอน ที่นอน และผ้าห่ม ไว้ให้แล้ว

อาหารที่ทางสำนักจัดให้เป็นอย่างไร?

ทางสำนักจะจัดอาหารให้กับผู้ปฏิบัติวันละ ๒ มื้อคือ เช้าเวลา ๐๖.๐๐ น. และเพล เวลา ๑๑.๐๐ น. โดยมีให้เลือกแบบธรรมดาและมังสะวิรัติ สำหรับช่วงเวลาหลังเที่ยงไปจนถึงเช้ามืดของวันรุ่งขึ้นนั้น ผู้ปฏิบัติไม่สามารถรับประทานอาหารอีก (สามารถดื่มนม ชา กาแฟ ได้) สำหรับผู้ที่มีความต้องการเรื่องอาหารเพิ่มเติม สามารถปรึกษากับเจ้าหน้าที่ของสำนักได้เมื่อมาถึง

ในบริเวณสำนักมีคลินิกหรือโรงพยาบาลในกรณีที่มีเหตุการณ์ฉุกเฉินหรือไม่?

สำหรับอาการปวดเมื่อยจากการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้น ผู้ปฏิบัติควรกำหนดรับรู้ถึงอาการดังกล่าว เพราะว่าอาการปวดเมื่อยจากการปฏิบัตินั้นเป็นเรื่องปกติ ซึ่งจิตของผู้ปฏิบัติทำให้เกิดขึ้น การกำหนดจิตรับรู้ถึงอาการดังกล่าวสามารถช่วยลดอาการปวดเมื่อยดังกล่าวได้

หากต้องการการรักษาพยาบาลจริงๆ บริเวณใกล้วัดมีคลินิกและร้านขายยา และโรงพยาบาลจอมทองก็ตั้งอยู่ไม่ไกลจากบริเวณวัด

ชุดที่ใช้ใส่ระหว่างปฏิบัติเป็นสีขาว และสุภาพเรียบร้อย (ห้ามใส่กางเกงขาสั้น) นอกจากนี้ผู้ปฏิบัติจะต้องอาราธนาถือศีล ๘ คือ

1. ไม่ฆ่าสัตว์
2. ไม่ลักทรัพย์
3. ไม่กระทำการใดๆเกี่ยวกับกามารมณ์
4. ไม่พูดปด พูดหยาบคาย พูดจาไร้สาระ หรือพูดส่อเสียดผู้อื่น
5. ไม่ดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอล์กอฮอล์
6. ไม่รับประทานอาหารหลังเวลาเที่ยงวันไปแล้ว
7. เว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง บรรเลงดนตรี ดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ การทัดทรงดอกไม้ ของหอมและเครื่องลูบไล้ ซึ่งใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่ง
8. ไม่นอนหรือนั่งในที่สบาย

สำหรับศีลข้อ ๖ นั้น มีข้อยกเว้นว่าผู้ปฏิบัติสามารถดื่มเครื่องดื่มต่างๆ ได้ เช่นนม นมเปรี้ยว นมถั่วเหลือง น้ำผลไม้ ในช่วงหลังเที่ยงได้ สำหรับศีลข้อ ๗ ขอความร่วมมือจากผู้ปฏิบัติให้ งดใช้เครื่องมือสื่อสาร หรือสิ่งให้ความบันเทิงทุกชนิดระหว่างที่อยู่ปฏิบัติ ซึ่งรวมถึงหนังสือต่างๆ ด้วย

มีวันที่มีกิจกรรมพิเศษอื่นๆ หรือไม่?

ทุกวันโกน (วันก่อนวันพระ) จะมีการปาฐกถาธรรม (ฟังธรรม) หลังจากการสวดมนต์ทำวัตร
ทุกวันพระจะไม่มีการสอบอารมณ์ ซึ่งผู้ปฏิบัติจะมีเวลาปฏิบัติตามคำแนะนำของพระอาจารย์ และหลังทำวัตรเวลาประมาณ ๑๙.๔๕ น. มีการฟังธรรม และเวียนเทียนรอบเจดีย์พระธาตุ

เดินทางมาสำนักได้อย่างไรบ้าง

จากกรุงเทพฯ สามารถเดินทางมาที่สำนักได้หลายวิธี เช่น รถไฟ (ใช้เวลาประมาณ ๑๓-๑๕ ชั่วโมง) หรือ รถโดยสาร บขส. จากสถานีขนส่งหมอชิตมาถึงหน้าวัด หรือเครื่องบิน (ใช้เวลาประมาณ ๑ ชม.) มาที่ตัวเมืองเชียงใหม่ จากตัวเมืองเชียงใหม่ สามารถเดินทางมาที่สำนักได้ดังนี้

o รถโดยสารประจำทางไม่ปรับอากาศ ออกจากตัวเมืองเชียงใหม่ทุก ๑ ชม. ที่บริเวณประตูเชียงใหม่ (ประตูด้านใต้) o รถสองแถวประจำทางสีเหลือง ออกเดินทางจากบริเวณเดียวกัน รถแท็กซี่สนามบิน สำหรับผู้ที่เดินทางโดยเครื่องบินมายังท่าอากาศยานเชียงใหม่ สามารถใช้บริการรถแท็กซี่ของทางสนามบินได้ทันที

ขอขอบคุณ http://dhamma-free.blogspot.com/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .