พระมหาธาตุแก่นนคร (พระธาตุ 9 ชั้น ,เจดีย์เก้าชั้น) วัดหนองแวง

img_9156

วัดหนองแวง (พระมหาธาตุแก่นนคร) ตั้งอยู่ที่ถนนกลางเมือง ริมบึงแก่นนคร อำเภอเมือง ภายในวัดหนองแวงเมืองเก่าซึ่งเป็นพระอารามหลวง มีพระมหาธาตุแก่นนคร หรือ พระธาตุเก้าชั้นฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 50 เมตร เรือนยอดทรงเจดีย์จำลองแบบจากพระธาตุขามแก่น จัดสร้างขึ้น เนื่องในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี และมหามังคลานุสรณ์ 200 ปี เมืองขอนแก่น ความสูงขององค์พระธาตุฯ 80 เมตร มีพระจุลธาตุ 4 องค์ ตั้งอยู่ 4 มุมและมีกำแพงแก้วพญานาค 7 เศียรล้อมรอบ เป็นศิลปะสมัยทวาราวดี ผสมผสานศิลปะอินโดจีน ซึ่งเป็นลักษณะแบบชาวอีสานตากแห

ประวัติวัดหนองแวง พระอารามหลวง

วัดหนองแวง เดิมชื่อวัดเหนือ ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2332 พร้อมกับวัดกลาง และวัดธาตุ โดยท้าวเพียเมืองแพน เจ้าเมืองคนแรก ณ บ้านบึงบอน (บึงแก่นนคร) พ.ศ.2354 ท้าวจามมุตร ท้ายเพียเมืองแพน เจ้าเมืองคนที่ 2 ได้ย้ายเมืองไปอยู่บ้านดอนพันชาติ เขตเมืองมหาสารคาม (บ้านโนนเมือง ตำบลแพง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม) บ้านบึงบอนจึงกลายเป็นเมืองเก่าตั้งแต่นั้นมา

ปัจจุบันนตั้งอยู่ เลขที่ 593 ถนนกลางเมือง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2442 โดยพระยานครศรีบริรักษ์(อู๋) และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2527 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร มีเนื้อที่ดินที่ตั้งวัด 26 ไร่ 65 ตารางวา โดยมีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์เป็นโฉนด 713 เลขที่ 28 หน้าสำรวจ 794 เล่มที่ 8 หน้า 13

ลักษณะพื้นที่ตั้งวัดและบริเวณโดยรอบเป็นที่ราบเรียบ เป็นลักษณะ 6 เหลี่ยม มีหมู่บ้านล้อมรอบสามด้าน และมีบึงแก่นนครอยู่ทางทิศตะวันออกของวัด

เคยได้รับรางวัล เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง ปี พ.ศ.2524 เป็นวัดพัฒนาดีเด่น ปี พ.ศ. 2526 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกฐานะขึ้นเป็น พระอารามหลวง ปี พ.ศ. 2527

ภายในองค์พระธาตุมีอยู่ 9 ชั้น คือ

ชั้นที่ 1 เป็นหอประชุมมีพระบรมสารีริกธาตุ ประดิษฐานอยู่บนบุษบกตรงกลางและพระประธาน 3 องค์อยู่ตรงกลาง บานประตู หน้าต่าง แกะสลักภาพนิทานเรื่องจำปาสี่ต้น โดยเฉพาะบานประตูแกะสลักภาพ 3 มิติและมีจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เมืองขอนแก่น

ชั้นที่ 2 เป็นหอพัก บานประตูหน้าต่างเขียนลวดลายเบญจรงค์และภาพแกะสลักนิทานเรื่องสังศิลป์ชัย ตามผนังด้านบนมีภาพเขียนเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับคะลำ หรือข้อห้ามต่าง ๆ ของชาวอีสาน

ชั้นที่ 3 เป็นหอปริยัติ บานประตูหน้าต่างเขียนลวดลายเบญจรงค์และภาพแกะสลักนิทานเรื่องนางผมหอม

ชั้นที่ 4 เป็นหอปริยัติธรรม ภายในมีพิพิธภัณฑ์ของเก่าบานประตูหน้าต่างภาพพระประจำวันเกิด เทพประจำทิศและตัวพึ่ง-ตัวเสวย

ชั้นที่ 5 เป็นหอพิพิธภัณฑ์ มีบริขารของหลวงปู่พระครูปลัดบุษบา สุมโน อดีตเจ้าอาวาสวัดรูปที่ 6 บานประตูหน้าต่างแกะสลักภาพพุทธชาดก

ชั้นที่ 6 เป็นหอพระอุปัชฌายาจารย์ บานประตูหน้าต่างแกะสลักนิทานชาดกเรื่องเวสสันดร

ชั้นที่ 7 เป็นหอพระอรหันตสาวก บานประตูหน้าต่างแกะสลักนิทานเรื่องพระเตย์มีใบ้

ชั้นที่ 8 เป็นหอพระธรรม เป็นที่รวบรวมพระธรรม คัมภีร์สำคัญทางพระพุทธศาสนามีพระไตรปิฏก ฯลฯ บานประตูแกะสลักรูปพรหม 16 ชั้น

ชั้นที่ 9 เป็นหอพระพุทธ ตรงกลางมีบุษบก เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า บานประตูแกะสลักภาพ 3 มิติ รูปพรหม 16 ชั้น และสามารถชมทัศนียภาพของตัวเมืองขอนแก่นได้ทั้ง 4 ด้าน โดยเฉพาะทางด้านทิศตะวันออกสามารถมองเห็นบึงแก่นนครได้สวยงามมาก

ทางวัดได้จัดให้มีมัคคุเทศก์น้อยนำชม อธิบายภาพเขียนต่าง ๆ รวมทั้งสิ่งของที่จัดแสดงไว้ เพื่อความเข้าใจในเรื่องราวต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น

ขอขอบคุณ http://www.hotsia.com/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .