ประวัติความเป็นมาวัดหนองแวง

wat-nongwaeng

วัดหนองแวง เดิมชื่อวัดเหนือ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2332 พร้อมกับวัดกลางและวัดธาตุ โดยท้าวเพียเมืองแพน เจ้าเมืองคนแรก ณ บ้านบึงบอน (บึงแก่นนคร) ต่อมา พ.ศ.2354 ท้าวจามมุตร ท้ายเพียเมืองแพน เจ้าเมืองคนที่ 2 ได้ย้ายเมืองไปอยู่บ้านดอนพันชาติ เขตเมืองมหาสารคาม (บ้านโนนเมือง ตำบลแพง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม) บ้านบึงบอนจึงกลายเป็นเมืองเก่าตั้งแต่นั้นมา

วัดหนองแวงได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2442 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งสุดท้าย เมื่อ พ.ศ. 2527 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร เคยได้รับรางวัลเป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง ปี พ.ศ. 2524 และเป็นวัดพัฒนาดีเด่น ปี พ.ศ. 2526 และได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ยกฐานะขึ้นเป็นวัดพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ในปี พ.ศ.2527

ส่วนพระมหาธาตุแก่นนคร เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2533 และสร้างเสร็จเรียบร้อยเมื่อ พ.ศ. 2540

วัดหนองแวง ตั้งอยู่ที่ถนนกลางเมือง ริมบึงแก่นนคร ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เป็นพระอารามหลวง ภายในวัดมีพระมหาธาตุแก่นนคร หรือ พระธาตุเก้าชั้นฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 50 เมตร เรือนยอดทรงเจดีย์จำลองแบบจากพระธาตุขามแก่น จัดสร้างขึ้น เนื่องในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี และ มหามังคลานุสรณ์ 200 ปี เมืองขอนแก่น ความสูงขององค์พระธาตุฯ 80 เมตร มีพระจุลธาตุ 4 องค์ ตั้งอยู่ 4 มุมและมีกำแพงแก้วพญานาค 7 เศียรล้อมรอบ เป็นศิลปะสมัยทวาราวดี ผสมผสานศิลปะอินโดจีน ซึ่งเป็นรูปทรงแบบชาวอีสานตากแห

พระมหาธาตุแก่นนคร เป็นพระธาตุสำคัญของเมืองขอนแก่น เนื่องจากมี 9 ชั้น ชาวบ้านจึงเรียกว่า “พระธาตุ 9 ชั้น” ภายในรวบรวมพระธรรมคัมภีร์สำคัญทางพระพุทธศาสนา แต่ละชั้นโดดเด่นด้วยลวดลายของบานประตูและหน้าต่างแกะสลัก บอกเล่าเรื่องราวเป็นภาพชาดก ภาพพุทธประวัติ และภาพแกะสลักรูปพรหม 16 ชั้น ชั้นบนสุดของพระธาตุเป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุกลางบุษบก อีกทั้งยังสามารถชมทัศนียภาพของเมืองขอนแก่นได้รอบทั้ง 4 ทิศ

ขอขอบคุณ http://www.teeteawthai.com/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .