“สิมอิสาน” ที่วัดป่าแสงอรุณ

001_0

มีวัดป่ากรรมฐานอีกมากที่เป็นวัดป่าปฏิบัติสายหลวงปู่มั่น โดยเฉพาะจังหวัดทางภาคอิสานมีวัดที่เป็นวัดปฏิบัติล้วนๆมากกว่าสี่-ห้าวัด บางวัดไม่เป็นที่เปิดเผยแก่สาธารณชนมากนัก เพราะวัดป่ากรรมฐานเป็นสถานที่ที่ต้องการความสงบ สัปปายะ เพื่อปฏิบัติธรรมภาวนาเพื่อมรรคผล เว้นไว้เป็นกรณีไป วัดป่ากรรมฐาน สายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ในจังหวัดขอนแก่นที่ตั้งขึ้นช่วงไล่เลี่ยกันในปี พ.ศ. 2471-2473 สมัยที่พระครูพิศาลอรัญญเขต (หลวงปู่จันทร์ เขมิโย) อดีตเจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น (ธรรมยุต) วัดศรีจันทร์ อำเภอเมือง ได้นิมนต์หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม, หลวงปู่มหาปิ่น ปญฺญาพโล ซึ่งขณะนั้นอยู่ในระหว่างปฏิบัติศาสนกิจที่จังหวัดอุบลราชธานี มาช่วยศาสนกิจที่จังหวัดขอนแก่นมีอยู่สองวัด หลวงปู่สิงห์พร้อมด้วยพระอาจารย์กรรมฐานหลายรูป เช่นหลวงปู่ฝั้น อาจาโร, หลวงปู่คูณ, หลวงปู่คำดี, หลวงปู่อุ่น,หลวงปู่อ่อน, หลวงปู่สีโห, หลวงปู่สิม,หลวงปู่เพ็ง, พระอาจารย์เกียรติ มาตั้งวัด ณ บริเวณ โคกเหล่างา (วัดป่าวิเวกธรรมซึ่งได้เสนอไปใฉบับที่แล้ว) ส่วนอีกวัดหนึ่งนั้นหลวงปู่มหาปิ่นซึ่งแยกมากับหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี (วัดหินหมากเป้ง) หลวงปู่หลุย จนฺทสโร ,หลวงปู่ภูมี, หลวงปู่สีลาสีลา,หลวงปู่กงมา และหลวงปู่แดง (พระสุธรรมคณาจารย์) วัดประชานิยม มาจำพรรษาอยู่ ณ ดอนปู่ตา “บ้านพระคือ” จึงถือว่าผู้ที่เริ่มการบุกเบิกในการก่อตั้งและสร้างวัดป่าแสงอรุณ คือ หลวงปู่มหาปิ่นและ หลวงปู่เทสก์

ต่อมาในปีพ.ศ. 2474 หลวงปู่มหาปิ่นติดตามหลวงปู่สิงห์ และคณะพระอาจารย์กรรมฐาน ไปช่วยการพระศาสนาที่จังหวัดนครราชสีมา ตามคำนิมนต์ของท่านเจ้าคุณพระธรรมปาโมกข์ จึงได้มอบหมายหน้าที่การบริหารวัดป่าพระคือ ให้พระอาจารย์ผู้มีพรรษารองลงมารับหน้าที่สืบต่อกันมาโดยลำดับ วัดนี้จึงมีพระอาจารย์กรรมฐานสายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต แวะพักและอยู่จำพรรษาให้การอบรม ในด้านการสมาธิภาวนาแก่พุทธบริษัทติดต่อกันมาไม่ขาดระยะ

เมื่อตั้งวัดขึ้นที่ดอนปู่ตาครั้งแรกก็เรียกกันว่า “วัดป่าพระคือ” เพราะพระอาจารย์ผู้นำสร้าง ย้ายมาจากดอนปู่ตา (วัดสมศรี) ทั้งได้รับการอุปถัมภ์จากชาวบ้านพระคือมาก่อน ครั้นมาถึงช่วงระยะที่ท่านพระอาจารย์สอน พระอาจารย์ครูจันทร์ เป็นเจ้าอาวาส เห็นว่าถึงฤดูกาลงานประจำปี มีการนิมนต์พระตามวัดต่างๆ มารับกัณฑ์เทศน์ เป็นการไม่สะดวก เพราะไม่อาจระบุชื่อวัดให้แน่นอนได้ จึงคิดตั้งชื่อวัดขึ้น ครั้งแรกให้ชื่อว่า วัดป่าอรุโณ (น่าจะหมายถึงคำว่า อรุโณทัย) ต่อมาท่านเจ้าคุณพระวินัยสุนทรเมธี (พระราชสุเมธี) วัดศรีจันทร์ อดีตเจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น (ธรรมยุต) เห็นว่าเป็นชื่อที่ขาดๆ วิ่นๆ ฟังไม่เพราะ มีเนื้อความไม่สมบูรณ์ จึงเปลี่ยนเสียใหม่ว่า “วัดป่าแสงอรุณ” มาจนถึงปัจจุบัน

วัดป่าแสงอรุณ เลขที่ 449 หมู่ 9 บ้านเลิงเปือย (แอวมอง) ต.พระลับ อ.เมือง จ.ขอนแก่น มีเนื้อที่ 39 ไร่ เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุต ตั้งอยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดขอนแก่นประมาณ 3 กิโลเมตร ตามเส้นทางขอนแก่น-กาฬสินธุ์ เป็นวัดหนึ่งที่เข้าร่วมโครงการปฏิบัติธรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามแนวนโยบายของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2550 เนื่องในวโรกาสมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา แม้วัดป่าแสงอรุณ จะเปลี่ยนสภาพจากสายปฏิบัติมาเป็นวัดสายศึกษา ที่เรียกว่า “ปริยัติ” ตามสภาพแวดล้อม แต่ปฏิปทาของพระบูรพาจารย์สายปฏิบัติทางวัดก็ยังรักษาไว้ ไม่ให้หายสาบสูญไปทั้งหมด เช่น การกวาดลานวัดทุกวัน การทำวัตรสวดมนต์เช้า-เย็น การอบรมพระภิกษุสามเณรประจำวัน และการฝึกสมาธิ เป็นต้น

สถาปัตยกรรมโดดเด่นภายในวัดป่าแสงอรุณที่ดึงดูดทุกสายตาให้ประทับใจในความงดงามคือสิมอิสานประยุกต์หรือเรียกกันสั้นๆว่าสิมอิสาน ซึ่งเจ้าอาวาสวัดป่าแสงอรุณ และเจ้าคณะภาค 9 (ธรรมยุต) พระเทพวรคุณ (สมาน สุเมโธ) ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนามที่ “พระธรรมดิลก” เป็นผู้สร้างสิมอีสานนี้ขึ้น ในภาคอีสานจะเรียกพระอุโบสถกันว่า “สิม” ซึ่งเป็นรูปของเสียงที่กร่อนมาจากคำว่า “สีมา” ซึ่งหมายถึงเขตหรืออาณาเขตที่กำหนดขึ้น เพื่อใช้ทำกิจกรรมในพระพุทธศาสนา สิมอีสานสมัยโบราณ เป็นอาคารขนาดเล็ก มีสัดส่วน ทรวดทรง การตกแต่งภายนอก ภายในเพื่อความสวยงาม การเลือกใช้วัสดุที่มีในท้องถิ่น ตลอดจนใช้โครงสร้าง มีลักษณะที่ค่อนข้างลงตัว คือ ทุกอย่างดูพอดี พอเหมาะ ไม่เล็ก ไม่ใหญ่เกินไป เป็นลักษณะของสถาปัตยกรรมพื้นบ้านอีสานที่มีรูปแบบเรียบง่าย หนักแน่น มีพลัง มีความสมถะ ส่อคุณลักษณะแห่งความจริงใจ อันเป็นคุณสมบัติเด่นของชาวอีสาน สำหรับสิมอิสาน ของวัดป่าแสงอรุณที่ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 9 ปี ใช้งบประมาณ 49 ล้านบาทถ้วนนี้ เป็นสิมอิสานประยุกต์ที่นำสถาปัตยกรรมแบบอีสานตอนบนผสมผสานกับสถาปัตยกรรมส่วนกลาง เพื่อให้สวยโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว กว้าง 15 เมตร ยาว 34 เมตร ปลียอดบนทำด้วยโลหะทองคำบริสุทธิ์สูงจากพื้นดิน 60 เมตร เสา 52 ต้น หน้าต่าง 14 ช่อง ประตู 3 ช่อง หลังคามุงด้วยกระเบื้องเกล็ดปลาแบบโบราณ มีหอระฆัง 4 หอ ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว

จากศูนย์ข้อมูลทางวัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่นและหนังสือพิธีผูกพัทธสีมา (ขอดสิม) วัดป่าแสงอรุณขอนแก่น 13-23 เมษายน 2549 ให้รายละเอียดและแง่คิดภูมิธรรมในสถาปัตยกรรมแต่ละจุดไว้ว่า….ส่วนประกอบของสิมอีสานอันดับแรกคือบันได เพราะบันไดสิมเหมือนก้าวแรกของการประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมทางพุทธศาสนาเปรียบเหมือนมรรค 8 องค์ ข้อแรกคือสัมมาทิฐิหมายถึงการเดินถูกทางแล้ว ช่างพื้นบ้านอิสานนิยมสร้างรูป พญานาค เฝ้าบันไดทั้งสองข้าง และรูปสัตว์อีกชนิดหนึ่งคือ สิงห์ หรือ มอมอีสาน รูปปั้นสิงห์หรือมอมเป็นรูปปั้นเฝ้าบันไดทางขึ้น ซึ่งเป็นรูปแบบสิงห์ที่แตกต่างจากภาคอื่นๆ สำหรับวัดป่าแสงอรุณส่วนชั้นฐานตอนล่างสุดของอาคาร ซึ่งเป็นลานประทักษิณรอบตัวสิมมีบันไดขึ้นลงสี่ทิศ รูปสัตว์เฝ้าบันได เป็นรูปสัตว์ที่แกะสลักด้วยหินทราย ทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศดีประกอบด้วย รูปคชสีห์ ราชสีห์ พญาช้าง และพญาเสือ ด้านหลังสิมอีสานซึ่งเป็นทิศประจิมหรือทิศตะวันตก มีราชสีห์สองตัวนั่งเฝ้าบันไดอยู่ ราชสีห์หรือเรียกว่าสิงหราช หรือสีหเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาเป็นสรรพนามของพระพุทธเจ้า นั่นคือคำว่า พระชินสีห์ ซึ่งแปลว่าราชสีห์ผู้ชนะ การที่ชาวพุทธใช้คำว่า “สีห” เป็นพระนามของพระพุทธเจ้าเพราะต้องการเปรียบเทียบกำลังแห่งพระปัญญา อำนาจแห่งพระธรรมอันบริสุทธิ์ลึกซึ้ง และความเป็นใหญ่กว่ามนุษย์ ทั้งหลาย

ทิศอุดร หรือทิศเหนือมีรูปช้างสองเชือกหมอบถือดอกบัวเฝ้าบันไดดูสง่างามให้ความรู้สึกอ่อนโยนเมื่อพบเห็นรูปช้างดังกล่าวพอทำให้ทราบว่าเป็นพญาช้างปาริเลยยกะซึ่งมีความสำคัญเกี่ยวข้องกับพระพุทธองค์ ในพรรษาที่ 10 พระพุทธเจ้าได้ประทับจำพรรษา ณ โคนต้นไม้สาละ ป่าปาริเลยยกะ หรือป่ารักขิตวันอยู่ในแคว้นโกศลระหว่างกรุงโกสัมพีกับกรุงสาวัตถี พญาช้างปาริเลยยกะ ซึ่งปลีกตัวจากฝูงในป่า เห็นพระพุทธเจ้ามาประทับอยู่โคนต้นสาละจึงถวายอุปัฏฐาก ด้วยอาการต่างๆตลอดพรรษามิได้ขาด บันไดส่วนชั้นฐานสิมอีสานมีรูป คชสีห์สองตัว เฝ้าหน้าด้านทิศบูรพา หรือทิศตะวันออก คชสีห์เป็นสัตว์ในนวนิยาย ผสมระหว่างช้างและราชสีห์ มีงวง มีงา ตัวเป็นราชสีห์ มีกีบเท้า อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ คชสีห์ที่เฝ้าบันไดนี้แฝงคติธรรมที่เชื่อว่า คชสีห์มีอำนาจ มีตบะ มีเดชะ กำลังมหาศาลรวมกันระหว่างกำลังแห่งช้างและกำลังแห่งราชสีห์ คชสีห์เฝ้าบันไดทางทิศบูรพาทิศเบื้องหน้าแห่งพุทธองค์ จึงเสมือนกำลังอำนาจของพระอัญญาโกณฑัญญะที่คอยถวายอุปฐากพระพุทธเจ้า หรือคอยปกป้องสิมอีสานอันประดุจหัวใจแห่งอาราม แห่งพระพุทธศาสนา และแห่งพุทธศาสนิกชน

ผนังด้านในสิมเขียนเป็นรูปเทพเทวดาประทับนั่งในซุ้ม อย่างวิจิตรสวยงาม บานหน้าต่างแกะรูปเรื่องราวมหาเวสสันดรชาดกกันฑ์ต่างๆตลอดจนความวิจิตรงดงามของภาพเขียนฝาผนังลายผ้าไหมมัดหมี่ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดขอนแก่น เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้และอนุรักษ์สถาปัตยกรรมท้องถิ่น พระประธานในสิมอิสานมีชื่อว่า “พระพุทธรังสิโยภาสสุขพิพัฒน์” เป็นพระพุทธรูปปางสะดุ้งมาร ขนาดหน้าตักกว้าง 69 นิ้ว สูง 2 เมตรเศษ มีลักษณะงดงาม ปูชนียวัตถุที่สำคัญของวัด อาทิ พระประธานประจำวัดมีชื่อว่า “หลวงปู่ขาว” เป็นพระพุทธรูปปางสะดุ้งมาร (ปางมารวิชัย) สมัยเชียงแสน ขนาดหน้าตักกว้าง 11 นิ้ว สูง 1 ฟุตเศษ ซึ่งเป็นพระคู่บารมีของวัด พระพุทธปฎิมาองค์ดำจำลองมาจากมหาวิทยาลัยนาลันทา ประเทศอินเดียประดิษฐานอยู่ ณ ศาลาหลวงพ่อองค์ดำ และรูปเหมือนพระบูรพาจารย์สำคัญ 2 รูปคือหลวงปู่มั่น และหลวงปู่เทสก์

นอกจากนี้ยังมีศาลาไม้แก่นขาม ซึ่งก่อสร้างโดยใช้วัสดุที่เป็นไม้แก่นขามทั้งหมด ตั้งแต่เสาถึงหลังคาชั้นบนเพียงชนิดเดียว โดยไม่ใช้ไม้อื่นๆแม้กระทั่งไม้ฐานตั้ง พระพุทธรูปและพระพุทธรูปปางรำพึง สูงประมาณหนึ่ง เมตร ก็เป็นไม้แก่นขามทั้งสิ้น บริเวณด้านหน้าเป็นที่ตั้งพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งวิถีชาวชนบทอีสาน พิพิธภัณฑ์หุ่นปั้นที่เกี่ยวกับอาชีพเกษตรกรรมทั้งหมด โดยมีจุดมุ่งหมายให้เยาวชนไทยได้ทราบวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของบรรพบุรุษของตน จะได้เกิดความประทับใจในความเป็นไทยที่สืบทอดมาด้วยความเหนื่อยยาก นอกจากนี้ทางด้านหน้าวัดด้านทิศเหนือของสิมอีสานยังมีน้ำตกจำลอง สวนหย่อม สนามหญ้า ป่าไม้หลากหลายพันธุ์ ให้ผู้ที่เข้าไปเยี่ยมชมได้พบเห็นและพักผ่อนหย่อนใจ เมื่อเข้าไปในบริเวณวัดอีกด้วย

ขอขอบคุณ http://www.yingthai-mag.com/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .