วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษ ชนิดราชวรมหาวิหาร–สมัยรัชกาลที่ ๒

ในรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้เสวยราชสมบัติในปีนั้น เมื่อได้ทรงจัดการถวายพระเพลิงพระบรมศพเสร็จแล้ว เมื่อปีมะแมตรีศก จุลศักราช ๑๑๗๓ ถึงปีระกาเบญจศกจุลศักราช ๑๑๗๕ จึงได้ทรงสร้างวัดสุทัศน์ต่อมา โดยพระราชดำริว่าพระพุทธรูปองค์ใหญ่ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่เสาชิงช้านั้น สมเด็จพระบรมชนกนาถ มีพระดำริจะสร้างวัดใหญ่ขึ้นกลางพระนคร พอก่อรากพระวิหารประดิษฐานพระศรีศากยมุนีแล้ว ก็พอสิ้นรัชกาล ยังมิได้ประดิษฐานเป็นสังฆาราม ซี่งเรียกกันในเวลานั้นว่า วัดพระโต จึงโปรดให้สถาปนาต่อมา สร้างพระวิหารยังไม่แล้ว “ แล้วทรงพระดำริให้ช่างเขียนเส้นลายบานประตูวัดพระใหญ่ยกเข้าไป ทรงพระศรัทธาลงลายพระหัตถ์สลักภาพกับกรมหมื่นจิตรภักดี

เรื่องบานประตูวัดพระใหญ่ซึ่งทุกวันนี้เรียกว่าพระโต คือพระศรีศากยมุนีวัดสุทัศน์นี้ได้ความชัดเจนดีนัก ประหลาดที่ไม่ใคร่จะมีใครรู้ เล่ากันไปต่างๆ นานา แต่ที่ทรงเองเห็นจะเป็นบานกลาง เมื่อรัชกาลที่ ๔ ทรงสร้างพระอุโบสถวัดราชประดิษฐ์ มีพระราชประสงค์อยากจะให้สลักบานอย่างพระวิหารพระศรีศากยมุนี โปรดให้กรมขุนราชสีห์และช่างสลักมีพระยาจินดารังสรรค์เป็นต้น ไปคิดอ่านสลักให้เหมือนเช่นนั้นไม่สำเร็จต้องสลักเป็นสองชั้นซ้อนกันลงเพราะถากไม้ไม่เป็น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าทรงถากรูปหุ่นดีนัก จึงได้ถากลายบานนี้ได้เพราะเป็นการเหลือวิสัย ที่ช่างเขียนหรือช่างสลักจะทำ

ไม้บานประตูพระวิหารนี้ เป็นไม้กระดานแผ่นเดียวสลักดีไม่มีที่ไหนเหมือน อันเป็นของที่ควรชมอยู่ทุกวันนี้ ไม้บานหนา ๑๖ เซ็นต์ หน้ากว้าง ๑.๓๐ เมตร ยาวหรือสูง ๕.๖๔ เมตร สลักลึกลงไป ๑๔ เซ็นต์ เป็นรูปภูเขาต้นไม้ มีถ้ำคูหา และรูปสัตว์ต่างๆ เสือ ลิง กวาง หมู จะขาบ งู อึ่งอ่าง นก และอื่นๆ อีกมาก สลักเป็นรูปเด่นเป็นตัว สลับซับซ้อนเป็นชั้นๆ น่าพิศวงมาก ซึ่งไม่เห็นมีที่ไหนจะทำได้เหมือนอย่างนี้ มีคำเล่าสืบกันมาว่า ช่างที่สลักบานพระวิหารพระโตนี้ เมื่อทำการเสร็จแล้ว ประสงค์จะไม่ให้ใครทำได้เหมือน จึงเอาเครื่องมือทิ้งน้ำเสีย ข้อนี้ทางสันนิษฐานเห็นว่า เครื่องมือที่ใช้ในการแกะสลักนั้น ให้ประดิษฐ์ทำขึ้นใช้ทำการอื่นอีกไม่ได้ต้องยุบทำอย่างอื่นต่อไป มีคำเล่ากันว่าเมื่อมีความประสงค์จะต้องการเครื่องมือเล็กใหญ่รูปคดโค้งอย่างไร ก็สั่งให้ช่างเหล็กทำขึ้นอย่างนั้นสำหรับใช้ในการนั้น ครั้นเสร็จการนั้นแล้วเครื่องมือนั้นก็ใช้การอื่นไม่ได้ เป็นเหมือนเอาเครื่องมือทิ้งน้ำ คงเอาไว้แต่ลายฝีมือ ข้อนี้เป็นความสันนิษฐาน แต่ความจริงจะเป็นอย่างไรนั้นไม่ทราบ สุดแล้วแต่ผู้อ่านจะพิจารณาลงสันนิษฐานฯ

การสร้างพระวิหารพระศรีศากยมุนี ในรัชกาลที่ ๒ เพียงแต่ตัวประธานพระวิหารยังไม่มีมุขเด็จหน้าหลังทั้ง ๒ ด้าน ช้านานประมาณ ๑๐ ปี ยังไม่สำเร็จบริบูรณ์ ยังไม่ได้ยกช่อฟ้าใบระกา และยกบานประตูหน้าต่าง ทรงสลักบานประตูยังค้างอยู่ ก็ทรงพระประชวร ครั้นถึงวัน ๔ฯ ๑๓ ๘ ค่ำ ปีวอกฉศก จุลศักราช ๑๑๘๖ ก็เสด็จสวรรคต อยู่ในราชสมบัติ ๑๔ ปี ๑๐ เดือน ๑๔ วัน (๒๑ กรกฎาคม ๒๓๖๗)
ขอขอบคุณ http://www.dhammathai.org/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .