วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษ ชนิดราชวรมหาวิหาร–สมัยรัชกาลที่ ๔

ลุถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสร้างเพิ่มเติมต่อมาเมื่อจุลศักราช ๑๒๑๕ (พ.ศ. ๒๓๙๖) ทรงดำริว่า “ วัดสุทัศน์นั้น พระศาสดา ซึ่งสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยไปเชิญเอามาแต่วัดบางอ้อยช้างในกรุงเทพฯ มาไว้ที่วัดประดู่ ทรงเห็นว่า พระศาสดา พระชินราช พระชินสีห์ ท่านอยู่วัดเดียวกันจะให้ไปอยู่วัดในเรือกสวนนั้นไม่สมควร จึงให้ไปเชิญมาไว้หน้าพระอุโบสถต่อพระประธานใหญ่ออกมา ภายหลังวิหารวัดบวรนิเวศแล้ว ก็ให้เชิญพระศาสดาไปไว้แล้วให้สร้างพระพุทธรูปใช้ใหม่องค์ ๑ พระอสีติมหาสาวก ๘๐ องค์นั่งฟังธรรมเทศนา ประดิษฐานแทนไว้ในพระอุโบสถแล้วถวายนามพระประธานในวิหารว่า “ พระพุทธศรีศากยมุนี ” พระประธานในพระอุโบสถถวายพระนามว่า พระพุทธตรีโลกเชษฐ์ ๑.

๑. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ร.๔ ฉบับสำนักพิมพ์คลังวิทยา พ.ศ. ๒๕๐๖ หน้า ๗๗๕-๗๗๖ (วิจิตร)

โปรดให้เชิญพระพุทธศาสดามาวัดสุทัศน์

ด้วยเจ้าพระยาธรรมาธิการ เสนาบดี รับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่า พระพุทธศาสดาหน้าตักกว้าง ๖ ศอก อยู่วัดประดู่ จะชักลงเรือสำปั้นแห่มาท่าพระ ณ วัน ฯ ๔ ๑๐ ค่ำ เพลาเช้า จะได้เชิญพระลงเรือ แห่มาแต่วัดประดู่มาประทับอยู่ท่าพระสมโภชคืนหนึ่ง ครั้นรุ่งขึ้น ณ วัน ฯ ๕ ๑๐ ค่ำ เพลาเช้า จะได้ชักขึ้นจากท่าแห่ไปทางประตูวิเศษไชยศรีเลี้ยวป้อมเผด็จดัษกรถนนโรงม้า ตรงไปถนนเสาชิงช้าไปไว้หน้ามุขพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม ให้กรมนครบาลป่าวประกาศ ประชาราษฎรไทย จีน ตั้งเครื่องบูชาตามบก เรือ แพ แล้วให้ไล่ โรงร้าน เรือ แพ อย่าให้กีดขวางทางที่จะแห่พระพุทธรูปได้เป็นอันขาด อนึ่ง ให้พันจันทนุมาตย์เกณฑ์เรือกราด เรือราชการยาว ๙ ถึง ๑๐ วา ๓๐ ลำ มีธงมังกรปักจำลองหน้าท้ายลำละ ๒ คัน ไปแห่ชักพระพุทธรูป แต่วัดประดู่มาจนถึงท่าประตูท่าพระ ให้มีเชือกชักจูงทุกลำ แล้วให้เกณฑ์พิณพาทย์ ๔ สำรับลงเรือพระพุทธรูป ๔ มุมเรือ ให้ไปลงเรือพระพุทธรูปที่วัดประดู่แต่ ณ วัน ฯ ๔ ๑๐ ค่ำ เพลาย่ำรุ่งให้ทันกำหนด แล้วให้บอกบุญแก่กันกับนักเลงเพลง ปรบไก่ ดอกสร้อย สักวา ตามประดาที่มีอยู่ในกรุงเทพฯ ให้มาเล่นสมโภชพระพุทธรูปที่ท่าพระ แต่ ณ วัน ฯ ๔ ๑๐ ค่ำ เพลาค่ำ คืนหนึ่ง อนึ่งให้แผ่พระราชกุศลไปในพระบวรราชวงศ์และให้จัดเรือญวน แจว ๑๐ ลำ ให้มีนาย เรือ เชือกชัก ไปจูงเรือพระพุทธรูปที่วัดประดู่มาจนถึงท่าพระ ให้นุ่งห่มตามประสา แล้วให้มีพิณพาทย์ จีน ไทย ลงเรือตีประโคมให้ครึกครื้น อนึ่งให้ชาวพระคลังพิมานอากาศจ่ายโคมแก้วให้ ๔ ตำรวจ ๑๖ ใบ ไปแขวนเรื่อยมาใส่พระพุทธรูปให้ทันกำหนด อนึ่งให้ชาวพระคลังราชการจ่ายน้ำมันมะพร้าวให้ ๔ ตำรวจ ตามโคมแก้ว ๑๖ ใบให้พอคืนหนึ่ง อนึ่งให้กรมท่าพระจัดพิณพาทย์ ๔ สำรับไปแห่พระพุทธรูปแต่วัดประดู่ แต่วัน ฯ ๔ ๑๐ ค่ำ เพลาเช้าให้หาเรือไปตามชอบใจ อนึ่งให้สนมพลเรือนรับพวงดอกไม้ต่อท่านข้างในไปแขวนเพดาน พระพุทธรูปให้งามดี ๓๐ พวง ให้เร่งไปแขวนแต่ ณ วัน ฯ ๔ ๑๐ ค่ำ เพลาย่ำรุ่งให้ไปแขวนที่ท่าวัดประดู่ให้ทันกำหนด อนึ่งให้พันพุฒ พันเทพราช เกณฑ์เลขไพร่หลวง ๓๐๐ คน ให้มีนายหมวดกำกับดูแล แล้วให้ส่งต่อพระอินทรเทพ แต่ ณ วัน ฯ ๔ ๑๐ ค่ำ เพลาบ่าย อนึ่งให้ชาวพระคลังวิเศษจ่ายผ้าขาวดิบให้ ๔ ตำรวจ ทำเพดานระบายให้พอเรือ ประมาณพระพุทธรูปให้ทันกำหนดอย่าให้ขาดได้ตามรับสั่ง

สร้างศาลาโรงธรรม

ลุจุลศักราช ๑๒๑๖ (พ.ศ. ๒๓๙๗) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกศาลาโรงธรรม มีหมายสั่งว่า ด้วยจะหมื่นจงขวารับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ สั่งว่า กำหนดฤกษ์จะได้ยกศาลาโรงธรรมที่วัดสุทัศนเทพวราราม ณ วัน ฯ ๑๒ ๙ ค่ำ เพลาเช้าย่ำรุ่ง ให้พันพุฒ พันเทพราช จ่ายเลข ๓๐ คนกับนายการแต่ ณ วัน ฯ ๑๑ ๙ ค่ำ เพลาบ่าย

หล่อพระพุทธเสฏฐมุนี

พระพุทธรูปประธานในการเปรียญนั้น หล่อในรัชกาลที่ ๓ เมื่อปีกุนเอกศก จุลศักราช ๑๒๐๑ (พ.ศ. ๒๓๘๒) ด้วยกลักฝิ่นที่จับมาเผาเสีย หน้าตัก ๔ ศอก-คืบ-นิ้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ถวายพระนามว่า พระพุทธเสฏฐมุนีฯ

ได้ความเพิ่มเติมว่า “ ทรงปราบเรียบตั้งแต่ภาคกลางลงไปจนภาคใต้ คราวที่ใหญ่ที่สุดปราบตั้งแต่ปราณจนถึงนครฯ ฟากหนึ่ง ตะกั่วป่าถึงถลางอีกฟากหนึ่ง ได้ฝิ่นดิบเข้ามา ๓,๗๐๐ หาบเศษ ฝิ่นสุก ๒ หาบ โปรดให้เผาที่หน้าพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ครั้งนั้นพวกขี้ยาได้กลิ่นคงแทบขาดใจตาย กลักฝิ่นเอามาหล่อพระพุทธรูปซึ่งเป็นพระประธานในศาลาการเปรียญวัดสุทัศน์ฯ ” ๑.

๑. จาก- แผ่นดินที่สาม ของ นาย สมภพ จันทรประภา ฉบับพิมพ์ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๑๕ หน้า ๒๓ (วิจิตร)

ฉลองศาลาดิน

ลุจุลศักราช ๑๒๒๐ (พ.ศ. ๒๔๐๑) ปีมะเมียสัมฤทธิศก โปรดฯ ให้จัดการฉลองศาลาดินริมวัดสุทัศน์ มีกำหนดว่า ณ วัน ฯ ๑๐ ๔ ค่ำ ปีมะเมียสัมฤทธิศก สั่งให้ชาวพระคลังอากาศทำโคมนาฬิกา ๑๐ โคม เสา ๖ ทำให้แล้วแต่วัน ฯ ๑ ๔ ค่ำ

ปิดทองบานหน้าต่างพระวิหาร

ลุถึงปีมะแม เอกศก จุลศักราช ๑๒๒๑ (พ.ศ. ๒๔๐๒) โปรดให้ปิดทองบานหน้าต่างพระวิหาร มีใจความในหมายสั่งว่า ด้วยจะหมื่นจงขวารับพระราชวังบวรกรมหมื่นอดุลยลักษณะสมบัติใส่เกล้าฯ สั่งว่า ช่างทำหน้าต่างพระวิหารวัดสุทัศนเทพวรารามเสร็จแล้วยังหาได้ปิดทองนั้นไม่ ให้เจ้าพนักงานคลังทองจ่ายทองกับรักไปให้ เช็ดรักปิดทองให้พอให้ปิดแต่วัน ฯ ๑๐ ๑๐ ค่ำ เพลาเช้านั้น ให้ แวง วัง คลัง นา ข้าราชการไปกำกับดูแล อย่าให้ของหลวงขาดหายไป ให้ไปดูแลทุกวันจนกว่าจะเสร็จ

การปิดทองบานหน้าต่างพระวิหารนั้น ปิดทองที่ทรงโปรดให้สร้างเพิ่มเติมขึ้นใหม่ บานหน้าต่างพระวิหารเดิมที่ทรงสร้างในรัชกาลที่ ๓ แกะสลักเป็นรูปแก้วชิงดวงตลอดทั้งบาน ปิดทองประดับกระจก มาในรัชกาลที่ ๔ โปรดให้ปั้นลายด้วยปูนน้ำมันเป็นรูปเครือต้นไม้ และรูปสัตว์ทับลงบนลายของเดิม แต่หาปิดทับลายเดิมจนมิดไม่ แล้วจึงให้ปิดทองรูปลายที่ปั้นใหม่นั้น

 

เชิญพระศาสดาไปสถิตวัดบวรนิเวศวิหาร

ต่อมาเมื่อจุลศักราช ๑๒๒๖ (พ.ศ. ๒๔๐๗) ปีชวด โปรดให้ชักพระพุทธรูปพระศาสดา ๑ ไปวัดบวรนิเวศได้ความตามหมายสั่งว่า ด้วยพระบำเรอภักดิ์ รับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่า พระสงฆ์ ๑๐ รูป จะได้สวดพระพุทธมนต์ที่พระอุโบสถวัดสุทัศน์ ณ วัน ฯ ๗ ๕ ค่ำ เพลาบ่าย ครั้น ณ วัน ฯ ๘ ๕ ค่ำ เพลาเช้า ฉันแล้วจะได้ชักพระพุทธรูปไปวัดบวรนิเวศ (ต่อนั้นไปก็สั่งจัดการสมโภชที่วัดบวรนิเวศ)

พระพุทธศาสดา ได้มาประทับอยู่ที่วัดสุทัศนเทพวราราม ๑๐ ปี ๖ เดือน แล้วเชิญไปวัดบวรนิเวศฯ จึงโปรดให้สร้างพระพุทธรูปและพระอสีติมหาสาวกขึ้นแทนไว้ในพระอุโบสถ ปั้นด้วยปูนระบายสี มิได้ลงรักปิดทอง

ขอขอบคุณ http://www.dhammathai.org/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .