วัดสุทัศน์ฯ : แหล่งศิลปสถาปัตย์แห่งโลกพระธรรม

Image

เยือนเสาชิงช้าครั้งก่อน ยังไม่ทันได้ย่างเข้าไปในเขตพุทธาวาสวัดสุทัศน์ฯก็ค่ำมืดเสียแล้ว ครั้นจะเดินชมวัดเก่าแก่อายุเกือบ 200 ปีดึกๆดื่นๆก็คงจะไม่ไหว ด้วยเกรงใจพระสงฆ์องค์เจ้า (ไม่ได้กลัวว่าจะเจอะกับเปรตวัดสุทัศน์ฯสักกะนิ้ดเดียว) เลยได้แต่สัญญิงสัญญากับตัวเองว่าจะกลับมาเยี่ยมชมวัดนี้ใหม่ตอนหัววันกว่าเดิม

แล้วก็เพิ่งจะมีโอกาสเหมาะๆเข้าวัดเข้าวาเสียที…ไม่ใช่ว่าหนุ่มตจว.อย่างฉันกลายเป็นคนนอกรีต ไม่มีศาสนาในหัวใจ แต่ก็ยอมรับว่าห่างเหินวัดไปตั้งแต่เข้ามาอยู่กรุงเทพฯนั่นแหละ ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะรูปแบบการใช้ชีวิตที่เข้าใกล้วิถีคนเมืองเข้าไปทุกที วันๆมักจมอยู่กับการทำงานอย่างเร่งรีบแข่งกับเวลาที่ผ่านไป ส่วนมากจึงละเลยหน้าที่อันพึงปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนที่ดีไปซะอย่างนั้น

ก่อนอื่นขอเท้าประวัติความเป็นมาของศิลปกรรมภายในวัดแบบคร่าวๆ ก่อน เผื่อจะเป็นการตอบปัญหาคาใจของหลายๆคนว่า เหตุใด“วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร”จึงถือเป็นหนึ่งในวัดที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย

ย้อนหลังไปเมื่อประมาณ 200 ปีที่แล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช( ร.1 )ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างวัดนี้ขึ้นใจกลางพระนคร แล้วพระราชทานนามว่า วัดมหาสุทธาวาส อันหมายถึง ความวิจิตรงดงามเหมือนสวรรค์ชั้นพรหมโลก

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.4 ) จึงเปลี่ยนชื่อเป็น วัดสุทัศนเทพวราราม ซึ่งหมายถึง สุทัสสนนครบนเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์อันเป็นที่ประทับของพระอินทร์ แต่ชาวบ้านในสมัยนั้นมักชินปากเรียกว่า วัดพระโต หรือ วัดพระใหญ่ โดยเรียกตามขนาดพระศรีศากยมุนี พุทธปฏิมาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ส่วนบางคนก็เรียกวัดเสาชิงช้า ตามสถานที่ซึ่งอยู่ใกล้กับเสาชิงช้า เทวสถานพราหมณ์กลางเมือง ใครจะเรียกอย่างไรแต่สำหรับฉันขอเรียกวัดสุทัศน์ฯสั้นๆเป็นอันเข้าใจละกัน

นอกจากจะมีหลายชื่อแล้วยังมีศิลปสถาปัตยกรรมหลายยุคผสมผสานกันกว่าจะงดงามอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ซึ่ง ตามประวัติการก่อสร้าง ร.1 ทรงโปรดฯให้ขุดรากก่อพระวิหาร ทำฐานชุกชี แต่การยังไม่ลุล่วงก็สิ้นรัชกาล ต่อมา ร. 2 ได้โปรดฯให้ก่อสร้างพระวิหารหลวง ปรุงเครื่องบน จำหลักไม้บนทวารพระวิหาร โดยพระองค์เองเป็นผู้ลงมือเป็นพระปฐมด้วยทรงมีฝีมือทางงานช่าง เมื่อทรงประเดิมสิ่วแกะเป็นพิธีแล้วก็ส่งให้ช่างฝีมือเอกดำเนินงานต่อไป

ในสมัย ร.2 นี้เองที่เริ่มแบ่งบริเวณวัดเป็น 2 เขตแยกออกจากกัน โดยเขตพุทธาวาสที่อยู่ทางเหนือ ประกอบด้วย พระอุโบสถ พระวิหาร พระวิหารคด วิหารทิศ ศาลาลอย และสัตตมหาสถาน ส่วนเขตสังฆาวาสที่อยู่ทางใต้ประกอบด้วย กุฏิ เสนาสนะ ศาลาการเปรียญ และหอระฆัง

น่าสังเกตว่าภายในบริเวณวัดจะมองเห็นเครื่องศิลาจีนอันเป็นลักษณะของศิลปกรรมสมัยร.3 อยู่ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นเก๋งจีน ถะ( ศิลาจีนรูปแบบคล้ายอาคารหกเหลี่ยมซ้อนกันขึ้นไปหกชั้น) หรือแม้แต่ตุ๊กตาจีนที่เคยใช้เป็นอับเฉาเรือในสมัยนั้นก็มีให้เห็นหลายแบบทั้งรูปบุคคล ไทย จีน ฝรั่ง เทพเทวดา ทวารบาล สัตว์ตามธรรมชาติ สัตว์ในหิมพานต์และสัตว์ในเทพนิยายจีน ฯลฯ

สำหรับสถาปัตยกรรมในสมัย ร.5 ก็มีหาดูได้จากซุ้มประตูยอดทรงมงกุฎหรือทรงพระเกี้ยวแปลงที่มีถึง 15 ซุ้มรอบวัด โดยปฏิสังขรณ์จากซุ้มประตูเดิมแบบจตุรมุข ให้มีหน้าบันปูนปั้นสวยงาม หลังคาซุ้มคล้ายทรงบัวคว่ำ ถัดขึ้นไปส่วนยอดเป็นบัวเจิม ซ้อนลดหลั่นกัน ยอดสุดเป็นทรงบัวตูมกับเม็ดน้ำค้างลักษณะเช่นเดียวกับซุ้มประตูวัดราชโอรสารามและประตูเทวาภิรมย์ในพระบรมหาราชวัง

หากพิจารณาจากประวัติความเป็นมาอันยาวนานจะเห็นว่า กษัตริย์ไทยยุคต้นรัตนโกสินทร์ล้วนแล้วแต่มีส่วนทำนุบำรุงวัดเก่าแก่นี้แทบทุกพระองค์

มาวัดสุทัศน์ฯทั้งที ฉันไม่ลืมเข้าไปกราบสักการะพระศรีศากยมุนี พระประธานสำริดขนาดใหญ่ในพระวิหารหลวง จากนั้นจึงได้เดินรอบพระวิหารคดที่รายล้อมอยู่ทั้ง 4 ด้าน เดินพลางนับพระพุทธรูปปูนปั้นได้ทั้งหมด 156 องค์ปางสมาธิบ้าง ปางมารวิชัยบ้างคละกันไป เดินหามุมถ่ายภาพพระวิหารหลวงที่ได้ชื่อว่าสูงที่สุด ที่ต้องยอมรับว่าวิหารหลังนี้ใหญ่มากๆ

นอกจากวิหารหลังใหญ่แล้ว วัดสุทัศน์ยังมีพระอุโบสถที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ซึ่งเมื่อฉันเดินชมความงามรอบนอกแล้ว ก็ถือโอกาสเยี่ยมหน้าเข้าไปดูภายในพระอุโบสถ พระพุทธตรีโลกเชษฐ์ พระประธานที่หล่อขึ้นในสมัย ร.3 ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีสูง ปั้นลายปิดทองคำเปลวประดับกระจกสี เบื้องหน้ามีพระอสีติมหาสาวก 80 องค์ นั่งพนมมือเหมือนกำลังฟังพระบรมโอวาทจากพระพุทธองค์ซึ่งประทับเป็นประธานตรงกลาง ส่วนผนังรอบๆพระอุโบสถเต็มไปด้วยจิตรกรรมฝาผนังซึ่งมีทั้งเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธเจ้า วรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์และเรื่องสุทัศนนคร

สถาปัตยกรรมที่พลาดไม่ได้อีกสิ่งหนึ่งคือ สัตตมหาสถานหรือจำลอง 7 สถานที่ที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า ใกล้กันนั้นมีศาลาจำหน่ายหนังสือและเทปธรรมะ ซึ่งทางวัดจัดเทศน์สดทุกบ่ายวันเสาร์และอาทิตย์ เคยได้ยินมาว่าพระท่านเทศน์สนุก และมีสาระ แต่ถึงไม่มีเวลามาฟังลีลาเทศนา ปุจฉาวิสัชนาสดๆ ก็สามารถติดต่อหาเทปหรือซีดีได้ที่ศาลานี้เอง

สำหรับฉันแล้ว พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร อย่างวัดสุทัศน์ฯ ไม่เพียงเป็นสถานที่เงียบสงบเหมาะกับการฟังเทศน์ปฏิบัติธรรมย่านใจกลางกรุงเท่านั้น แต่ยังถือเป็นมหาวิทยาลัยแห่งศิลปะที่ประกอบด้วยสถาปัตยกรรมหลายยุครัชกาล ตลอดจนเป็นแหล่งศึกษาจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามและยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยเลยทีเดียว

ขอขอบคุณ http://www.manager.co.th/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .