โลกสัญฐาน…พระวิหารหลวง วัดสุทัศน์ฯ

24257f3d

วัดสุทัศนเทพวรารามตั้งอยู่ ณ ตำแหน่งสำคัญ ที่ใจกลางพระนครพอดี ซึ่งตามคติโบราณควรเป็นที่ตั้งของพระปรางค์ศรีรัตนมหาธาตุ อันเป็นสัญลักษณ์ของเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางแห่งจักรวาล ทั้งนี้เพื่อจะสมมุติเมืองทั้งเมือง ให้เป็นรูปจำลองที่สมบูรณ์ของจักรวาล

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระราชดำริจะสถาปนาพระอารามให้สูงใหญ่เท่ากับวัดพนัญเชิงที่กรุงเก่า ณ ตำแหน่งนี้ โดยได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธรูปศรีศากยมุนี ซึ่งเป็นพระหล่อสัมฤทธิ์ขนาดใหญ่ของโบราณ ถูกทอดทิ้งกรำแดดกรำฝนอยู่ที่เมืองเก่าสุโขทัย ลงมาปฏิสังขรณ์สำหรับประดิษฐานเป็นพระประธาน

พระองค์ได้พระราชทานนามพระอารามไว้ตั้งแต่ครั้งแรกสร้างว่า “มหาสุทธาวาส” ซึ่งในทางจักรวาลวิทยา หมายถึงรูปาวจรพรหมโลกชั้นสูงสุด อันเป็นอริยภูมิที่สถิตของพรหม กล่าวกันว่า เมื่อนำพระพุทธรูปล่องแพลงมาถึงกรุงเทพมหานคร ในเวลาที่อัญเชิญพระขึ้นล้อเลื่อน เคลื่อนจากบริเวณท่าช้างไปสู่บริเวณวัด ซึ่งเป็นเวลาช่วงปลายรัชกาลแล้วนั้น

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงพระราชศรัทธาอุตสาหะ ถึงกับเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาทเปล่าตามพระไปตลอดทาง ในขณะที่ทรงพระประชวรและพระชราภาพมากแล้ว ทรงมีพระราชดำริจะให้ประดิษฐานพระพุทธรูปใหญ่องค์นั้น สำหรับเป็นพระประธานภายในพระอุโบสถ

จึงได้โปรดฯ ให้ขุดรากพระอุโบสถรอท่าไว้ เมื่อพระมาถึงก็พอดี ได้เวลาก่อรากสำหรับเตรียมอัญเชิญพระขึ้นประดิษฐาน แต่การก่อสร้างยังไม่ทันคืบหน้าไปสักเท่าใดนัก ก็พอดีสิ้นรัชกาล

งานก่อสร้างส่วนใหญ่ภายในพระอาราม กระทำขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๒ และใช้เวลาต่อเนื่องลงมาจนเกือบตลอดรัชกาลที่ ๓ จึงแล้วเสร็จสมบูรณ์ ได้มีการเปลี่ยนแผนการก่อสร้างจากเดิมที่จะสร้างพระอุโบสถ ให้เป็นสร้างพระวิหารหลวง สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปใหญ่

ส่วนพระอุโบสถได้สร้างขึ้นใหม่ ทางด้านทิศใต้ท้ายพระวิหารหลวง พร้องทั้งเปลี่ยนพระนามพระอารามเสียใหม่ มีข้อความเกี่ยวกับการสร้างและเปลี่ยนพระนามพระอารามแห่งนี้ ปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๓ ความว่า

“ทรงพระราชดำริว่า วัดพระโตเสาชิงช้า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อปลายแผ่นดิน ก็โปรดให้ทำ พิหารใหญ่ ขึ้น การยังไม่ทันแล้วเสร็จ เชิญเสด็จพระศรีศากยมุนีขึ้นประดิษฐานไว้ การที่อื่นยังมิได้ทำก็พอดีสิ้นแผ่นดินไป ครั้งนี้จะต้องทำเสียให้เป็นวัดขึ้นให้ได้

จึงให้พระยาศรีพิพัฒนรัตนราชโกษา เป็นแม่กองดูแลทั่วไปทั้งวัด ให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นพิทักษ์เทเวศร ทำพระอุโบสถใหญ่และทำพระระเบียงล้อมพระวิหาร การนั้นก็แล้วสำเร็จทั่วทุกแห่ง ทั้งกุฏิสงฆ์ด้วย จึงให้อาราธนาพระธรรมไตรโลกอยู่วัดเกาะแก้ว ตั้งเป็นพระพิมลธรรม เป็นเจ้าอธิการ จัดเอาพระภิกษุในวัดพระเชตุพน วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ รวมได้ ๓๐๐ รูป ไปอยู่เป็นอันดับ พระราชทานชื่อ วัดสุทัศนเทพวราราม

ภายในพระวิหารหลวง มีภาพจิตรกรรมฝีมือช่างหลวงสมัยรัชกาลที่ ๓ อยู่บนต้นเสาในประธานทั้ง ๘ ต้น บนคอสองในประธาน และบนผนังทั้งสี่ด้าน โดยมีจารึกบรรยายภาพแต่ละตอน ติดประจำอยู่ที่เชิงเสาและเชิงผนัง ถึงแม้ภาพจิตรกรรมบางตอน มีร่องรอยว่าถูกเขียนซ่อมด้วยฝีมือช่างในชั้นหลัง

อาจเป็นในคราวปฏิสังขรณ์ใหญ่ตัวอาคารสมัยรัชกาลที่ ๕ แต่ก็คงเป็นการเขียนซ่อมในเค้าโครงเดิม เนื่องจากยังคงแสดงเนื้อเรื่องและเหตุการณ์ตรงกับที่มีบรรยายไว้ในจารึกใต้ภาพ ภาพบนต้นเสาและคอสองในประธาน เป็นเรื่อง “โลกสัญฐาน” แสดงลักษณะและองค์ประกอบทางกายภาพของจักรวาล ตามแนวคิดทางพุทธศาสนาเถรวาท

ส่วนภาพบนผนังอาคารทั้งสี่ด้าน เขียนเรื่องประวัติของพระอดีตพุทธเจ้า ๒๗ พระองค์ ภาพจิตรกรรมทั้งหมด แสดงความหมายเป็นองค์ประกอบทางสัญลักษณ์ ร่วมกับงานสถาปัตยกรรม และประติมากรรม ภายในพุทธสถานแห่งนี้

ภาพจิตรกรรมเรื่องโลกสัณฐาน ภายในพระวิหารหลวงวัดสุทัศเทพวราราม แสดงองค์ประกอบทางกายภาพของจักรวาล ตั้งแต่ดาวดึงสพิภพลงมาถึงนรกภูมิ โดยมิได้ปรากฏองค์ประกอบทางกายภาพอื่น ๆ ที่สำคัญของจักวาล ที่เหนือดาวดึงสพิภพขึ้นไป จึงย่อมเป็นประจักษ์พยานที่ชัดเจนอีกประการหนึ่ง สำหรับการสมมุติบริเวณพระวิหารหลวง ให้หมายถึงการเป็นศูนย์กลางของจักรวาล คือ เขาพระสุเมรุ อย่างแท้จริง

ถึงแม้ภาพจิตรกรรมทั้งหมดจะมีพื้นที่รวมสำหรับการเขียนภาพขนาดใหญ่มาก และจิตรกรอาจใส่รายละเอียดองค์ประกอบจักรวาลได้มากเท่าที่ต้องการ แต่ภาพก็ยังคงแสดงโครงสร้างหลักและจุดเน้น ที่ไม่ต่างมากนัก จากภาพจักวาลที่นิยมเขียนบนผนังด้านหลังพระประธานภายในพระอุโบสถทั่วไป ตามความนิยมก่อนหน้านั้น

เห็นได้จากการกำหนดส่วนประธาน หรือจุดเริ่มต้นของภาพ ให้เป็นแกนของเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางของจักรวาล แวดล้อมด้วยเขาสัตตบริภัณฑ์ มหาสมุทร มหาทวีปทั้งสี่ และเขาจักรวาลออกไปโดยลำดับ ส่วนของชมพูทวีปบริเวณที่เป็นป่าหิมพานต์ ซึ่งมักปรากฏเป็นส่วนขยายเพิ่มเติมต่างหาก บนภาพจิตรกรรมด้านหลังพระประธาน โดยอยู่ในตำแหน่งใต้แกนเขาพระสุเมรุลงมา

ทำให้ดูคล้ายกับว่า ป่าหิมพานต์มีตำแหน่งทางภูมิศาสตร์อยู่ที่เชิงเขาพระสุเมรุ ทั้งที่ความจริงมิได้เป็นเช่นนั้น แต่คงเป็นวิธีการของช่างไทย ที่จะเน้นความสำคัญของชมพูทวีป ในฐานะที่มีความสำคัญสูงสุดในบรรดามหาทวีปทั้งหลาย

ก็ได้ปรากฏเป็นส่วนขยาย ในกรณีของภาพจิตรกรรมบนต้นเสาภายในพระวิหารหลวงวัดสุทัศน์ฯ เช่นเดียวกัน แต่ในลักษณะของการแสดงออกที่ต่างกันโดยส่วนขยายชองชมพูทวีป ซึ่งแสดงให้เห็นรายละเอียดของบริเวณมัชฌิมประเทศ โสฬสนคร ป่าหิมพานต์ และนรกภูมิ ได้ไปปรากฏเป็นภาพอยู่บนผนังเชิงเสาจำนวน ๖ ต้น

ในกรณีแรก จิตรกรได้วางองค์ประกอบทางกายภาพของจักรวาลให้อยู่ในสามมิติ เห็นได้จากการวางตำแหน่งของภาพมหาทวีปได้อย่างถูกต้อง ตามทิศที่ควรจะเป็นในผังของจักรวาล ซึ่งไม่สามารถจะกระทำได้สำหรับกรณีหลัง เนื่องจากมีพื้นที่เขียนภาพเพียงระนาบเดียว

ข้อแตกต่างอีกประการหนึ่งก็คือ การปรากฏภาพจักรวาล โดยไม่มีภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ ในขนาดและระดับความสำคัญของภาพใกล้เคียงกัน ร่วมเป็นองค์ประกอบอยู่ด้วย แสดงให้เห็นว่า ภาพจิตรกรรมคงมีความหมายเฉพาะสำหรับการสมมุติบริเวณพระวิหารหลวง ให้เป็นศูนย์กลางจักรวาล โดยมิได้มุ่งประสงค์จะแสดงทางเลือกของพระบรมโพธิสัตว์ ระหว่างการเป็นพระพุทธเจ้ากับพระเจ้าจักรพรรดิ์ เช่นกรณีของภาพจิตรกรรมภายในพระอุโบสถทั่ว ๆ ไป

การกำหนดระดับความสำคัญที่แตกต่างกันของพื้นที่ภายในพระวิหารหลวง ด้วยโครงสร้างของภาพจิตรกรรมบนต้นเสา ทำให้เกิดปัญหาติดตามมาประการหนึ่งคือ อาจทำให้เห็นได้ว่าตำแหน่งที่ประดิษฐานพระประธาน อยู่ในบริเวณซึ่งมิใช่บริเวณที่หมายถึงศูนย์กลางแห่งจักรวาลอย่างแท้จริง

ปัญหาทางเทคนิคเช่นนี้ สามารถแก้ได้ไม่ยากนัก โดยที่สถาปนิกอาจกำหนดความสำคัญของบริเวณที่ประดิษฐานพระประธานให้อยู่ในอีกบริบทหนึ่ง คืออยู่ภายในปริมณฑลที่ถูกกำหนดด้วยแนวของคอสอง ในประธานกับผนังสกัดทั้งสองด้าน

เนื่องจากภาพจิตรกรรมทั้งหมดบนคอสองในประธาน เป็นองค์ประกอบซึ่งมีความสัมพันธ์กับภาพบนยอดเสาคู่หน้า โดยทั้งหมดนี้แสดงสถานที่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อากาสัฎฐวิมาน ที่ปรากฏเป็นภาพอยู่บนคอสองในประธาน ก็อาจหมายถึงวิมานที่อยู่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ

ดังนั้น พื้นที่ภายในพระวิหารบริเวณประดิษฐานพระประธาน จึงสามารถมีความหมายอย่างแท้จริง ถึงการเป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาล

แต่เดิมบนพื้นกลางพระวิหาร เบื้องหน้าพระศรีศากยมุนี เคยมีเก๋งจีนขนาดใหญ่สร้างด้วยศิลา ตั้งประจำอยู่บนฐานสูง เก๋งจีนซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ ตำแหน่งที่มีความสำคัญเช่นนี้ ควรมีความหมายทางสัญลักษณ์พิเศษบางประการ และเมื่อพิจารณาจากความเหมาะสมของตำแหน่งที่ตั้ง คงมีความเป็นไปได้มากว่าอาจหมายถึงวิมานไพชยนต์ของพระอินทร์ ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ ศูนย์กลางแห่งสุทัศนนคร

สภาพในปัจจุบัน เก๋งจีนหลังดังกล่าวถูกย้ายออกไปตั้งไว้ภายนอกพระวิหารหลวง เนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ ซึ่งทรงเห็นว่าเก๋งจีนซึ่งมีขนาดใหญ่นี้ตั้งบดบังความงามของพระศรีศากยมุนีอยู่

ขอขอบคุณ http://www.oknation.net/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .