พระภิกษุสามเณรวัดเบญจมบพิตรยืนรับอาหารบิณฑบาตด้านหน้าพระอุโบสถ

1383108398-5531492538-o

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระปิยมหาราชเจ้า ทรงสถาปนาวัดเบญจมบพิตรขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๔๒ หรือเมื่อ ๑๑๔ ปีที่ผ่านมา แล้วโปรดให้แห่พระภิกษุสามเณรจากวัดมหาธาตุ จำนวน ๓๓ องค์ ไปอยู่วัดเบญจมบพิตร ในวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๔๔๓

วัดเบญจมบพิตรที่ทรงสถาปนาขึ้นใหม่ จากวัดเล็กๆ ที่มีพระภิกษุสามเณรไม่กี่องค์ เป็นวัดใหญ่ที่วิจิตรงดงาม มีพระภิกษุสามเณรถึง ๓๓ องค์ เท่าจำนวนปีที่ทรงครองราชย์ มีปัญหาเรื่องอาหารบิณฑบาต เนื่องจากวัดต้องอยู่ห่างไกลชุมชน เพราะเป็นที่สวนที่นาเป็นส่วนมาก จึงมีพระราชดำรัสที่จะทรงอุปถัมภ์บำรุง โดยโปรดเกล้าฯ ให้ออกใบแผ่พระราชกุศล หาผู้ศรัทธาที่จะปวารณาอุปถัมภ์ภิกษุสามเณร ตอนหนึ่งว่า “…ผู้ใดมีศรัทธารับจับสลากบำรุงพระภิกษุสามเณรรูปหนึ่ง ก็ให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณา จะได้พระราชทานสลากให้จับ แล้วจะได้บำรุงพระสงฆ์และสามเณรตามที่จับสลากได้…ถ้าผู้ใดรับบำรุงแต่ไม่ส่งสำรับเอง จะออกเงินช่วยในการโรงครัวเท่าใด ให้มอบหมาย พระนางเจ้าพระราชเทวี ซึ่งจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ทรงเป็นพระธุระ ในการที่จะทรงตั้งโรงครัวสำหรับเลี้ยงพระสงฆ์แลสามเณรในวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม…”

บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งฝ่ายในฝ่ายนอก ตลอดจนข้าราชบริพาร ข้าราชการ ต่างศรัทธารับจับสลากปวารณาประจำปี ผลัดเปลี่ยนวาระกันไป เริ่มครั้งแรกในวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๔๔๓ เป็นต้นไป ทั้งนี้ สมเด็จพระปิยมหาราชเจ้า ก็ได้ทรงจับสลากรับปวารณาด้วย เมื่อจับสลากได้ภิกษุสามเณรรูปใด ก็อุปถัมภ์ภิกษุสามเณรรูปนั้น หากไม่เป็นการสะดวกที่จะทำอาหารคาวหวานไปถวายเอง ก็บริจาคทรัพย์เป็นค่าภัตตาหารเป็นรายเดือน เดือนละ ๓๐ บาท มีโรงครัววัดจัดทำในจำนวนพระภิกษุสามเณรเท่าปีรัชกาล (ปีเสวยสิริราชสมบัติ) และเพิ่มขึ้นในงานพระราชพิธีเฉลิมฉัตรรัชชพรรษา ปีละ ๑ องค์

…ครั้นถึงรัชกาลที่ ๖ ผู้ที่จะมีศรัทธารับปวารณาเช่นนั้นหาได้ยาก จึงโปรดให้จ่ายพระราชทรัพย์ส่วนพระคลังข้างที่สมทบทุนที่เรี่ยไรได้ในการเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานผ้าพระกฐิน พระคลังที่จ่ายเป็นองค์ องค์ละ ๑๕ บาท มีจำนวนเต็มเพียง ๔๕ องค์

ส่วนในการอุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุสามเณรในพระอาราม สมัยของพระธรรมโกศาจารย์ (สมเด็จพระสังฆราช กิตติโสภณมหาเถระ) เป็นเจ้าอาวาส (๒๔๗๑-๒๕๐๕) มีพระภิกษุสามเณรเพิ่มจำนวนมากขึ้นโดยลำดับ เพราะการศึกษาพระปริยัติธรรมของพระภิกษุสามเณรเจริญขึ้น ไม่ใช่แต่สำนักเรียนวัดเบญจมบพิตรเท่านั้น แต่เป็นความเจริญทั่วไป ที่เป็นเหตุให้พระภิกษุสามเณรในวัดเบญจมบพิตรทวีจำนวนมากขึ้นถึง ๗๐-๘๐ องค์ พระธรรมโกศาจารย์ จึงได้ทำความตกลงกับพระคลังข้างที่ ขอเฉลี่ยจำนวนบำรุงพระภิกษุสามเณรให้มากรูปขึ้น โดยลดค่าบำรุงรายองค์ลงเป็นองค์ล่ะ ๘ บาท มีจำนวนเต็ม ๘๐ องค์ และในสมัยมหาสงคราม (พ.ศ.๒๔๘๕) กับสมัยสันติภาพตอนต้น ค่าครองชีพสูง ทางวัดจึงได้พิจารณาจ่ายจากนิธิค่าภัตตาหารเพิ่มเติมให้ตามสมควร ได้เริ่มจ่ายมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๘๘ จนถึง พ.ศ.๒๔๙๑ เมื่อภาวการณ์ลดลงสู่สภาพปกติได้บ้างจึงได้งดจ่ายทุนนิธิเสีย

ปัจจุบันสำนักงานพระคลังข้างที่ยังคงจ่ายเงินบำรุงพระภิกษุสามเณรวัดเบญจมบพิตรอยู่ตลอดมา (เดือนละ ๙๐ บาท ต่อรูป)และทางวัดได้จัดสรรเงินจำนวนหนึ่งถวายสมบทด้วย กับในส่วนค่าน้ำค่าไฟ ภิกษุวามเณรตลอดจนศิษย์วัด ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด…….

ขอขอบคุณ http://pantip.com/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .