ประวัติของวัดอรุณราชวราราม

10_681

วัดประจำรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
คือ “วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร” หรือ “วัดแจ้ง”
เมื่อครั้งที่พระองค์ท่านดำรงตำแหน่งเป็นวังหน้าในรัชกาลที่ ๑
ที่ประทับของท่านจะอยู่ที่พระราชวังเดิม ฝั่งธนบุรี และวัดที่อยู่ใกล้กับ
พระราชวังเดิมที่สุดก็คือวัดอรุณราชวราราม พระองค์ท่านจึงได้โปรดเกล้าฯ
ให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดอรุณฯ และยังได้ทรงลงมือปั้นหุ่นพระพักตร์
“พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก”
พระประธานในพระอุโบสถ ด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เองอีกด้วย
และเมื่อพระองค์ท่านทรงเสด็จสวรรคต พระบรมอัฐิของพระองค์
ก็ถูกนำมาประดิษฐานไว้ที่พระอุโบสถวัดอรุณราชวรารามแห่งนี้

วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก
ชนิดราชวรมหาวิหาร เป็นวัดโบราณเก่าแก่สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
ไม่พบหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้างวัดในสมัยโบราณ
ตามหลักฐานเท่าที่ปรากฏมีเพียงว่า เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา
มีมาก่อนรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พุทธศักราช ๒๑๙๙-๒๒๓๑)
เพราะมีแผนที่เมืองธนบุรีซึ่ง เรือเอก เดอ ฟอร์บัง (Claude de Forbin)
กับ นายช่าง เดอ ลามาร์ (de Lamare) ชาวฝรั่งเศส
ทำขึ้นไว้เป็นหลักฐานในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
อีกทั้งวัดแห่งนี้ยังมีพระอุโบสถและพระวิหารของเก่าที่ตั้งอยู่ ณ
บริเวณหน้าพระปรางค์ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นฝีมือช่างสมัยกรุงศรีอยุธยา
มูลเหตุที่เรียกชื่อวัดนี้แต่เดิมว่า “วัดมะกอก” นั้น ตามทางสันนิษฐานเข้าใจว่า
คงจะเรียกคล้อยตามชื่อตำบลที่ตั้งวัด ซึ่งสมัยนั้นมีชื่อว่า ‘ตำบลบางมะกอก’
(เมื่อนำชื่อ ‘ตำบลบางมะกอก’ มาเรียกรวมกับคำว่า ‘วัด’ ในตอนแรกๆ คงเรียกว่า
‘วัดบางมะกอก’ ภายหลังเสียงหดลงคงเรียกสั้นๆ ว่า ‘วัดมะกอก’)
ตามคติการเรียกชื่อวัดของไทยในสมัยโบราณ
เพราะชื่อวัดที่แท้จริงมักจะไม่มี จึงเรียกชื่อวัดตามชื่อตำบลที่ตั้ง
ต่อมาเมื่อได้มีการสร้างวัดขึ้นใหม่อีกวัดหนึ่งในตำบลเดียวกันนี้
แต่อยู่ลึกเข้าไปในคลองบางกอกใหญ่ ชาวบ้านเรียกชื่อวัดที่สร้างใหม่
ว่า “วัดมะกอกใน” (ในปัจจุบันคือ วัดนวลนรดิศวรวิหาร)
แล้วเลยเรียก ‘วัดมะกอก’ เดิม ซึ่งอยู่ตอนปากคลองบางกอกใหญ่
ว่า “วัดมะกอกนอก” เพื่อให้ทราบว่าเป็นคนละวัดกัน

ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๓๑๐ เมื่อ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
หรือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงมีพระราชประสงค์จะย้ายราชธานี
มาตั้ง ณ กรุงธนบุรี จึงเสด็จกรีฑาทัพล่องลงมาทางชลมารคถึงหน้า
‘วัดมะกอกนอก’ แห่งนี้เมื่อเวลารุ่งอรุณพอดี จึงทรงเปลี่ยนชื่อวัดมะกอกนอก
เป็น ‘วัดแจ้ง’ เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงการได้เสด็จมาถึงวัดนี้เมื่อเวลาอรุณรุ่ง

เมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้ย้ายราชธานีจากกรุงศรีอยุธยา
มาตั้ง ณ กรุงธนบุรี ในปี พ.ศ.๒๓๑๑ และได้ทรงสร้างพระราชวังใหม่
มีการขยายเขตพระราชฐาน เป็นเหตุให้วัดแจ้งตกเข้ามาอยู่กลางพระราชวัง
จึงโปรดไม่ให้มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษา
การที่เอาวัดแจ้งเป็นวัดภายในพระราชวังนั้น
คงจะทรงถือแบบอย่างพระราชวังในสมัยกรุงศรีอยุธยา
ที่มีวัดพระศรีสรรเพชญ์อยู่ในพระราชวัง
การปฏิสังขรณ์วัดเท่าที่ปรากฏอยู่ตามหลักฐานในพระราชพงศาวดาร
ก็คือ ปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ และพระวิหารหลังเก่าที่อยู่หน้าพระปรางค์
กับโปรดให้สร้างกำแพงพระราชวังโอบล้อมวัด
เพื่อให้สมกับที่เป็นวัดภายในพระราชวัง แต่ไม่ปรากฏรายการว่า
ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์หรือก่อสร้างสิ่งใดขึ้นบ้างในสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี ถือกันว่าวัดแจ้งเป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง
เนื่องจากเป็นวัดที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตและพระบาง
ซึ่ง สมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึก
(พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑)
ไปตีเมืองเวียงจันทน์ได้ในปีกุน เอกศก จุลศักราช ๑๑๔๑ (พ.ศ.๒๓๒๒)
แล้วอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญ ๒ องค์คือ พระแก้วมรกตและพระบาง
ลงมากรุงธนบุรีด้วย และมีการสมโภชเป็นเวลา ๒ เดือน ๑๒ วัน
จนกระทั่งถึงวันวิสาขปุณณมี วันเพ็ญกลางเดือน ๖ ปีชวด โทศก
จุลศักราช ๑๑๔๒ (พุทธศักราช ๒๓๒๓) โปรดเกล้าฯ
ให้อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางขึ้นประดิษฐานไว้ในมณฑป
ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถเก่าและพระวิหารเก่า หน้าพระปรางค์
อยู่ในระยะกึ่งกลางพอดี มีการจัดงานสมโภชใหญ่ ๗ คืน ๗ วันด้วยกัน

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑
เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ได้โปรดให้สร้างพระนครใหม่ข้างฝั่งตะวันออก
ของแม่น้ำเจ้าพระยา และรื้อกำแพงพระราชวังกรุงธนบุรีออก
ด้วยเหตุนี้วัดแจ้งจึงไม่ได้อยู่ในเขตพระราชวังอีกต่อไป
พระองค์จึงโปรดให้วัดแจ้งเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษาอีกครั้งหนึ่ง
โดยนิมนต์ พระโพธิวงศาจารย์ จากวัดบางหญ้าใหญ่
(วัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพฯ) มาครองวัด พร้อมทั้ง
พระศรีสมโพธิและพระภิกษุสงฆ์จำนวนหนึ่งมาเป็นพระอันดับ

นอกจากนั้นพระองค์ทรงมอบหมายให้
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (รัชกาลที่ ๒)
เป็นผู้ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์วัดแจ้ง
แต่การปฏิสังขรณ์คงสำเร็จเพียงกุฏิสงฆ์ ส่วนพระอุโบสถและพระวิหาร
ยังไม่ทันแล้วเสร็จ ก็พอดีสิ้นรัชกาลที่ ๑ ในปี พ.ศ.๒๓๕๒ เสียก่อน
(เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๗ พระแก้วมรกตได้ย้ายมาประดิษฐาน
ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง
ส่วนพระบางนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ได้โปรดพระราชทานคืนไปยังนครเวียงจันทร์ ประเทศลาว) ต่อมาในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
รัชกาลที่ ๒ พระองค์ทรงดำเนินการปฏิสังขรณ์ต่อจนเสร็จ
มีการจัดงานสมโภชใหญ่ถึง ๗ วัน ๗ คืน
แล้วโปรดพระราชทานพระนามวัดว่า ‘วัดอรุณราชธาราม’

ในสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
ได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดอรุณฯ ใหม่หมดทั้งวัด พร้อมทั้งโปรด
ให้ลงมือก่อสร้างพระปรางค์ตามแบบที่ทรงคิดขึ้นด้วย
ซึ่งการก่อสร้างและปฏิสังขรณ์สิ่งต่างๆ ภายในวัดอรุณฯ นี้สำเร็จลงแล้ว
แต่ยังไม่ทันมีงานฉลองก็สิ้นรัชกาลที่ ๓ ในปี พ.ศ.๒๓๙๔

เมื่อ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ในปี พ.ศ.๒๓๙๔
พระองค์ได้โปรดให้สร้างและปฏิสังขรณ์สิ่งต่างๆ ในวัดอรุณฯ
เพิ่มเติมอีกหลายอย่าง อีกทั้งยังได้อัญเชิญ
พระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
มาบรรจุไว้ที่ พระพุทธอาสน์ของพระประธานในพระอุโบสถ
ที่พระองค์ทรงพระราชทานนามว่า ‘พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก’
และเมื่อได้ทรงปฏิสังขรณ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว
จึงได้พระราชทานนามวัดเสียใหม่ว่า
‘วัดอรุณราชวราราม’ ดังที่เรียกกันมาจนถึงปัจจุบัน

ขอขอบคุณ http://www.dhammajak.net/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .