ศาสนสถานและศาสนวัตถุอันงดงามล้ำค่า วัดอรุณ

paragraph_12_166

สิ่งสำคัญที่น่าสนใจในวัดอรุณราชวรารามนั้น มีมากมายนับตั้งแต่

• พระปรางค์ใหญ่

พระปรางค์ใหญ่วัดอรุณราชวราราม เป็น พระเจดีย์ทรงปรางค์
ซึ่งดัดแปลงมาจากพระปรางค์ แต่เดิมเป็นสถาปัตยกรรม
ที่สร้างขึ้นเพื่อสักการบูชาในศาสนาพราหมณ์และฮินดู
แต่สำหรับพระปรางค์ใหญ่เป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างสืบเนื่องมาจาก
ความศรัทธาในพระพุทธศาสนาผสมผสานไปกับศิลปกรรมแบบฮินดู
วัตถุประสงค์หลักนั้นสร้างด้วยความศรัทธาในคตินิยมของพุทธศาสนา
จึงอาจเรียกอีกชื่อหนึ่งของพระปรางค์ใหญ่ว่าเป็น พระพุทธปรางค์

พระปรางค์ใหญ่ ตั้งอยู่หน้าวัดทางทิศใต้ ซึ่งหันไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา
โดยอยู่ด้านหลังโบสถ์น้อยและวิหารน้อย (พระวิหารเล็ก)
และเป็นปูชนียสถานที่สร้างขึ้นพร้อมกับโบสถ์และวิหารน้อย
เป็นสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นและงดงามยิ่งนักของวัดอรุณราชวราราม
ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นสัญลักษณ์ของกรุงเทพฯ ก่อด้วยอิฐถือปูน
ประดับกระเบื้องเคลือบสีต่างๆ และ บนส่วนยอดสุดขององค์พระปรางค์
มีมงกุฎปิดทองประดิษฐานครอบอยู่เหนือ ‘ยอดนภศูล’ อีกชั้นหนึ่งด้วย

พระปรางค์องค์นี้เดิมสูงเพียง ๘ วา เท่านั้น ซึ่งไม่ทราบว่าสร้างขึ้นในสมัยใด
แต่ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒
ทรงมีพระราชศรัทธาจะให้เสริมสร้างก่อเพิ่มเติมขึ้น
ให้สูงใหญ่สมเป็นพระมหาธาตุเจดีย์ประจำกรุงรัตนโกสินทร์
แต่ทรงกระทำได้เพียงฐานรากคือกะเตรียมที่ขุดรากไว้เท่านั้นก็สิ้นรัชกาล

ถึงในสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดอรุณราชวรารามแห่งนี้เป็นการใหญ่อีกครั้ง
เริ่มแต่ทรงปฏิสังขรณ์และสร้างกุฏิสงฆ์เป็นตึกใหม่ทั้งหมด เป็นต้น
และทรงมีพระราชดำริเพื่อสนองพระราชประสงค์ของสมเด็จพระบรมชนกนาถ
จึงโปรดเกล้าฯ ให้เสริมสร้างองค์พระปรางค์ต่อตามแบบที่ทรงคิดขึ้น
จนสำเร็จเป็นพระเจดีย์ทรงปรางค์สูงถึง ๑ เส้น ๑๓ วา ๑ ศอก ๑ คืบ กับ ๑ นิ้ว
หรือประมาณ ๖๗ เมตร แล้วยกยอดนภศูล (ลำภุขันหรือฝักเพกา)
แต่ไม่ทันฉลองก็เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๔ จึงมีรับสั่งให้จัดการต่อเติมจนเสร็จสมบูรณ์ในที่สุด

ลักษณะของพระปรางค์ใหญ่ที่รัชกาลที่ ๓ ได้ทรงปฏิสังขรณ์มีดังนี้
พระปรางค์ใหญ่อยู่ภายในวงล้อมของพระวิหารคด และเก๋งจีน ๓ ด้าน
(เว้นด้านหน้า) มีประตูเข้า ๙ ประตู บริเวณลานจากพระวิหารคดและเก๋งจีน
ถึงฐานพระปรางค์ใหญ่ชั้นล่างปูด้วยกระเบื้องหิน มีบันไดขึ้นสู่ทักษิณชั้นที่ ๑
ระหว่างพระปรางค์ทิศและพระมณฑปทิศ ด้านละ ๒ บันได รวม ๔ ด้าน
เป็น ๘ บันได เหนือพื้นทักษิณชั้นที่ ๑ นี้นี้เป็นฐานทักษิณชั้นที่ ๒
รอบฐานมี รูปต้นไม้ ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีต่างๆ
เหนือขึ้นไปเป็นเชิงบาตร ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีลายดอกไม้ ใบไม้
มีบันไดขึ้นสู่ทักษิณชั้นที่ ๒ ตรงหน้าพระมณฑปทิศมณฑปละ ๒ บันได
คือทางซ้ายและทางขวาของแต่ละพระมณฑปทิศ รวม ๘ บันได

เหนือพื้นทักษิณชั้นที่ ๒ นี้เป็นฐานทักษิณชั้นที่ ๓ มี
ช่องรูปกินรีและกินนร สลับกันโดยรอบ ที่เชิงบาตรมี รูปมารแบก
และมีบันไดตรงจากหน้าพระมณฑปทิศแต่ละมณฑปขึ้นสู่ทักษิณชั้นที่ ๓
อีกด้านละบันได รวม ๔ บันได ที่เชิงบันไดมี เสาหงส์หิน บันไดละ ๒ ต้น

เหนือพื้นทักษิณชั้นที่ ๓ นี้เป็นฐานทักษิณชั้นที่ ๔ มี
ช่องรูปกินรีและกินนร สลับกันโดยรอบ เว้นแต่ตรงย่อมุม ๔ ด้าน
เป็น รูปแจกันปักดอกไม้ เพราะเป็นช่องแคบๆ
ที่เชิงบาตรมี รูปกระบี่แบก มีบันไดขึ้นไปยังทักษิณชั้นที่ ๔
อีก ๔ บันไดตรงกับบันไดชั้นที่ ๓ ดังกล่าวแล้ว
และมี เสาหงส์หิน อยู่เชิงบันไดอีกด้านละ ๒ ต้น เช่นเดียวกัน

เหนือพื้นทักษิณชั้นที่ ๔ มี ช่องรูปกินรีและกินนร สลับกันโดยรอบ
และตรงย่อมุมเป็น รูปแจกันปักดอกไม้ ที่เชิงบาตรมี รูปพรหมแบก
เหนือขึ้นไปเป็นซุ้มคูหา ๔ ด้านมี รูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ
อยู่ในคูหาทั้ง ๔ คูหา เหนือซุ้มคูหารูปพระอินทร์เป็น ยอดปรางค์ขนาดย่อม
และมี รูปพระนารายณ์ทรงครุฑแบกพระปรางค์ใหญ่ อยู่โดยรอบ
ส่วนยอดสุดขององค์พระปรางค์ใหญ่เป็น ยอดนภศูลและมงกุฎปิดทอง

สำหรับ ยอดพระปรางค์ ตามแบบแผนแต่โบราณจะเป็น ‘ยอดนภศูล’
แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้นำ มงกุฏปิดทอง
สำหรับพระพุทธรูปทรงเครื่องที่จะประดิษฐานเป็นพระประธานในวัดนางนอง
มาสวมครอบต่อจากยอดนภศูลอีกชั้นหนึ่ง คนสมัยนั้นจึงโจษจันกันว่า
รัชกาลที่ ๓ ทรงมีพระราชประสงค์ให้คนทั้งหลายเข้าใจโดยนัยว่า
สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฏ (ต่อมาคือรัชกาลที่ ๔) จะเป็น “ยอดของแผ่นดิน”
หมายถึงจะเสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากพระองค์

องค์พระปรางค์ใหญ่ก่ออิฐถือปูน ประดับด้วยชิ้นกระเบื้องเคลือบสีต่างๆ
อย่างงดงามประณีตบรรจง เป็นลายดอกไม้ ใบไม้ และลายอื่นๆ
กระเบื้องเคลือบสีที่ใช้ประดับเหล่านี้ บางแผ่นเป็นรูปลายที่ทำสำเร็จมาแล้ว
บางชิ้นบางแผ่นเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยนำมาประกอบกันเข้าเป็นลาย
บางลายใช้กระเบื้องเคลือบธรรมดา บางลายเป็นกระเบื้องเคลือบสลับเปลือกหอย
และบางลายใช้จานชามของโบราณที่มีลวดลายงดงามเป็นของเก่าหายาก
เช่น ชามเบญจรงค์ ขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้าง ฯลฯ
นำมาประดับสอดสลับ ประกอบกันเข้าไว้อย่างเรียบร้อยน่าดูน่าชมยิ่ง

ขอขอบคุณ http://www.dhammajak.net/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .