พระปรางค์ทิศและพระมณฑปทิศ ที่วัดอรุณ

paragraph_1_680

พระปรางค์ใหญ่ ล้อมรอบด้วย พระปรางค์ทิศและพระมณฑปทิศ
พระปรางค์ทิศ เป็นพระปรางค์องค์เล็กๆ ตั้งอยู่บนมุมทักษิณชั้นล่าง
ของพระปรางค์องค์ใหญ่ มีอยู่ ๔ ทิศ ทิศละองค์ คือทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และทิศตะวันตกเฉียงใต้
พระปรางค์ทิศทั้ง ๔ องค์มีขนาดและรูปทรงเหมือนกัน กล่าวคือ
ตอนฐานของพระปรางค์ทิศแต่ละพระปรางค์มี ช่องรูปกินรีและกินนร
สลับกันโดยรอบ ที่เชิงบาตรเหนือช่องมี รูปมารกับกระบี่แบกสลับกัน
เหนือขึ้นไปเป็น ซุ้มคูหารูปพระพายทรงม้า และเหนือขึ้นไปอีก
บนยอดพระปรางค์ทิศมี รูปครุฑจับนาคและเทพพนม อยู่เหนือซุ้มคูหา
องค์พระปรางค์ทิศก่อด้วยอิฐถือปูน ประดับถ้วยกระเบื้องเคลือบสีลวดลายต่างๆ
แบบเดียวกับพระปรางค์องค์ใหญ่ และบนส่วนยอดสุดขององค์พระปรางค์ทิศ
เป็น ‘ยอดนภศูล’ ปิดทอง แต่ไม่มีมงกุฎปิดทองครอบอีกชั้นหนึ่ง
(มงกุฎปิดทองครอบยอดนภศูลจะมีเฉพาะพระปรางค์องค์ใหญ่เท่านั้น)

ในสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
พระองค์ไม่ได้ทรงมีการปฏิสังขรณ์และเปลี่ยนแปลงพระปรางค์ทิศแต่อย่างใด

ส่วน พระมณฑปทิศ มีอยู่ ๔ ทิศ คือทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออก
และทิศตะวันตก ตั้งอยู่บนฐานทักษิณชั้นที่ ๒ ในระยะระหว่างพระปรางค์ทิศ
ภายในองค์พระมณฑปทิศประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ
แต่จะเป็นปางใดบ้างนั้น ไม่พบหลักฐาน เมื่อปฏิสังขรณ์ในสมัยรัชกาลที่ ๕
ตามรายงานของ พระยาราชสงคราม (กร หงสกุล)
ชี้แจงว่า มีแต่ฐานพระพุทธรูป องค์พระพุทธรูปไม่มี
ตอนฐานของพระมณฑปทิศแต่ละพระมณฑปมี ช่องรูปกินรีและกินนร
และเหนือช่องมี รูปกุมภัณฑ์แบก ๒ พระมณฑป คือทิศเหนือกับทิศใต้
มี รูปคนธรรพ์แบก ๒ พระมณฑป คือทิศตะวันออกและทิศตะวันตก
พระมณฑปก่อด้วยอิฐถือปูน ประดับกระเบื้องเคลือบสีลวดลายต่างๆ
แบบเดียวกับพระปรางค์องค์ใหญ่และพระปรางค์ทิศ

ในการปฏิสังขรณ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธรูปปางต่างๆ ที่เหลืออยู่ในพระวิหารคด
รอบพระปรางค์ของเก่าที่ถูกรื้อไปนั้น นำขึ้นไปประดิษฐานไว้ในมณฑปทิศ

คือ พระมณฑปทิศเหนือ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางประสูติ
ทำเป็นรูปพระนางสิริมหามายา พุทธมารดา ประทับยืนเหนี่ยวกิ่งไม้รัง
เบื้องพระพักตร์มีรูปพระมหาสัตว์หรือพระพุทธเจ้าแรกประสูติ
ประทับยืนอยู่เหนือดอกบัว ยกพระพาหาข้างขวาขึ้นเหนือพระเศียร
ชูนิ้วพระหัตถ์ขึ้น ๑ นิ้ว ประกาศว่าจะทรงเป็นมหาบุรุษผู้เลิศในโลกนี้
และมีรูปเทวดา ๒ องค์ ประคองพระแท่นที่ประทับยืน
พระพุทธรูปที่นำขึ้นไปประดิษฐานอยู่ในพระมณฑปทิศเหนือนี้
เป็นของทำขึ้นใหม่ทั้งหมด เพราะแต่เดิมไม่มี

พระมณฑปทิศตะวันออก ประดิษฐานพระพุทธรูปปางตรัสรู้
มีพระพุทธรูปปางนาคปรกอยู่กลาง และพระพุทธรูปรูปางมารวิชัยอยู่สองข้าง
ประทับอยู่ใต้ร่มโพธิ์และร่มไทร

พระมณฑปทิศใต้ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางเทศนาพระธรรมจักร
มีพระปัญจวัคคีย์ ๕ องค์นั่งพนมมือฟังอยู่เฉพาะพระพักตร์
สำหรับพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ นี้ เป็นของทำขึ้นใหม่
เพราะของเก่าแตกทำลายหมด และ

พระมณฑปทิศตะวันตก ประดิษฐานพระพุทธรูปปางเสด็จดับขันธปรินิพพาน
มีพระพุทธรูปปางไสยาสน์อยู่เหนือแท่นพระบรรทมใต้ต้นรังทั้งคู่
และมีพระภิกษุสงฆ์พุทธสาวกอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์

ขอขอบคุณ http://www.dhammajak.net/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .