ยักษ์ทศกัณฐ์และยักษ์สหัสเดชะ เทพผู้พิทักษ์รักษาประตู –วัดอรุณ

142_310

ด้านหลังทิศตะวันออกทางที่จะเข้าสู่บริเวณพระอุโบสถมี ประตูซุ้มยอดมงกุฎ
ซึ่งตั้งอยู่ตรงกึ่งกลางพระระเบียงของพระอุโบสถด้านทิศตะวันออก
สร้างขึ้นในสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
เป็นประตูจตุรมุข หลังคา ๓ ชั้น เฉลียงรอบ มียอดเป็นทรงมงกุฎ
ประดับด้วยกระเบื้องถ้วยสลับสี หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ
ช่อฟ้า ใบระกา หัวนาค และหางหงส์ เป็นปูนประดับกระเบื้องถ้วย
หน้าบันเป็นปูนประดับกระเบื้องถ้วย มีลวดลายเป็นใบไม้ ดอกไม้
เชิงกลอนคอสองประดับด้วยกระเบื้องถ้วยเช่นเดียวกัน
เสาในร่วมมุขหน้าใช้ไม้สักหน้า ๕.๑๑ นิ้ว ประกับรับสะพานด้านละ ๒ อัน ๔ ด้าน

ประตูซุ้มนี้เคยทำใหม่มาแล้วครั้งหนึ่งเพราะชำรุดทรุดโทรมมาก
จึงมีผู้เสนอให้รื้อทิ้ง ซึ่งหากบูรณะจะต้องเสียเงินจำนวนมาก
แต่ยังคงรูปแบบเดิมไว้ครบถ้วน เพราะเมื่อคราวจะสร้างใหม่นั้น
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
โปรดให้ถ่ายภาพซุ้มประตูเดิมไว้ และให้สร้างตามรูปแบบเก่านั้น
โดยทรงรับสั่งว่า “ซุ้มประตูนี้อยากจะให้คงรูปเดิม
เพราะปรากฏแก่คนว่าเป็นหลักของบางกอกมาช้านานแล้ว” และ
“ขอให้ถ่ายรูปเดิมไว้ให้มั่นคง เวลาทำอย่าให้แปลกกว่าเก่าเลยเป็นอันขาด
อย่าเพ่อให้รื้อจะไปถ่ายรูปไว้เป็นพยาน…”

บริเวณด้านหน้า ‘ประตูซุ้มยอดมงกุฎ’ ก่อนเข้าสู่พระอุโบสถ
มีพญายักษ์หรือที่เรียกกันติดปากว่า ‘ยักษ์วัดแจ้ง’ ยืนเฝ้าอยู่ ๒ ตน
มือทั้งสองกุมกระบองยืนอยู่บนแท่น มีความสูงประมาณ ๓ วา
มีตำนานเรื่องเล่าว่ายักษ์วัดโพธิ์มาตีต่อสู้กับยักษ์วัดแจ้ง
โดยมียักษ์วัดพระแก้วเป็นผู้ห้ามทัพ ตีกันจนบ้านเมืองแถวนั้นราบเป็นหน้ากลอง
เป็นพื้นที่โล่งเตียน เลยเรียกกันต่อมาว่าท่าเตียน เรื่องเล่ายังสรุปไม่ได้ว่า
ยักษ์วัดไหนเป็นฝ่ายชนะ แต่ที่แน่ๆ ยักษ์วัดแจ้งนี้เป็นยักษ์ชื่อดัง
ที่ทุกคนรู้จักกันดีจากเรื่องรามเกียรติ์ นั่นก็คือยักษ์ทศกัณฑ์

โดยยักษ์ด้านเหนือกายสีขาวชื่อ ‘สหัสเดชะ’ ส่วนยักษ์ด้านใต้กายสีเขียวชื่อ ‘ทศกัณฐ์’
ยักษ์ทั้งสองตนเป็นยักษ์ปูนปั้นประดับกระเบื้องเคลือบสีเป็นลวดลายและเครื่องแต่งตัว
ของเดิมสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
ทำหน้าที่เป็น ‘นายทวารบาล’ ตามคติความเชื่อเทพผู้พิทักษ์รักษาประตู
เพื่อให้เทพได้ปกปักรักษาสถานที่สำคัญทางศาสนา
ซึ่งต่อมาเป็นเหตุให้เกิดการปั้นรูปยักษ์ยืนในวัดพระศรีรัตนศาสดารามในเวลาต่อมา

รูปยักษ์ยืนทั้งสองตนนี้เป็นของทำขึ้นใหม่ ที่ทำไว้เก่าสมัยรัชกาลที่ ๓ นั้น
เป็นฝีมือหลวงเทพ (กัน) สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ตรัสว่า
“หลวงเทพ…ที่ปั้นยักษ์วัดอรุณคู่ที่พังเสียแล้ว เรียกว่าหลวงเทพกัน มีชื่อเดิมติด”

และเรื่องหลวงเทพ (กัน) นี้ สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นี้
ได้ทรงอธิบายถวายสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ไว้ว่า
“ยักษ์วัดแจ้งนั้นเขาพูดถึงของเดิมว่าเป็นฝีมือหลวงเทพกัน คำที่ว่าหลวงเทพฯ นั้น
จะเป็นหลวงเทพรจนาหรือหลวงเทพยนต์อะไรก็ไม่ทราบ แต่คำ กัน นั้น เป็นชื่อตัว
แต่เพราะฝีมือแกดีจึงโปรดให้ปั้นไว้ รูปเก่านั้นพังไปเสียแล้ว
ที่ยืนอยู่บัดนี้เป็นของใหม่ แต่ใหม่ก่อนท่านเจ้านาคไปอยู่แน่
เข้าใจว่ายักษ์วัดแจ้งนั่นแหละพาให้เกิดยักษ์ในวัดพระแก้วขึ้น ในที่สุดยักษ์ก็ต้องมี
ที่ต้องมีนั้นจ้างเจ๊กทำก็ได้ เพราะราคาค่อยถูกหน่อย นี่ว่าถึงวัดพระแก้ว
แต่ยักษ์คู่ใหม่ที่วัดแจ้งนั้นไม่ทราบ เกล้ากระหม่อมเห็นว่าถ้าหาช่างฝีมือดีปั้นไม่ได้
ไม่ต้อมียักษ์ก็ได้” และว่า “ยักษ์วัดพระแก้วนั้นคงทำขึ้นในรัชกาลที่ ๓ เป็นประเดิม
เพราะจำได้ว่าคู่ทศกัณฐ์กับสหัสเดชะนั้นเป็นฝีมือหลวงเทพรจนา (กัน)
คือ มือที่ปั้นยักษ์วัดอรุณ สันนิษฐานว่า เพราะเวลานั้นมีช่างฝีมือดีๆ จึงให้ทำขึ้นไว้”

เรื่องรูปยักษ์คู่ที่ไม่ใช่ของเก่านั้น ท่านเจ้าคุณพระเทพมุนี (เจียร ปภสฺสโร)
(สมณศักดิ์สุดท้ายในพระราชทินนามที่ พระธรรมคุณาภรณ์)
อดีตเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม รูปที่ ๑๒ ได้บันทึกเรื่องยักษ์ไว้เป็นใจความว่า
“วันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๓ ตรงกับวันอาทิตย์ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๐
ปีมะเมีย โทศก จุลศักราช ๑๒๙๒ กลางคืนฝนตกหนัก
อสุนีบาตตกถูกยักษ์หน้าพระอุโบสถด้านเหนือ (สหัสเดชะ) พังลงมาต้องสร้างใหม่”

เวลาที่รูปยักษ์ล้มนี้ พระพิมลธรรม (นาค สุมนานาโค) เป็นเจ้าอาวาส
ความจริงรูปยักษ์คู่นี้เคยซ่อมมาหลายครั้งแล้ว ดังปรากฏในรายงานมรรคนายก
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ ก็มีรายการซ่อมยักษ์ และใน พ.ศ. ๒๔๕๖ ก็ซ่อมแขนยักษ์อีก
ส่วนที่ซ่อมและสร้างใหม่นี้ สืบไม่ได้ว่า ใครเป็นผู้ซ่อม

ข้างยักษ์ตัวด้านเหนือ ‘สหัสเดชะ’ มีสิงโตหิน ๓ ตัว
และข้างตัวด้านใต้ ‘ทศกัณฐ์’ มีสิงโตหินอีก ๓ ตัวเช่นเดียวกัน

ขอขอบคุณ http://www.dhammajak.net/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .