วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร : วัดแจ้ง

Wat_ArunA01

“วัดอรุณ” หรือที่ชื่อเต็มว่า “วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร” เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร … ปัจจุบัน กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนวัดอรุณราชวราราม เป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๖ ตอนที่ ๖๔ วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒

“วัดอรุณ” เป็นวัดโบราณ สร้างในสมัยอยุธยา ว่ากันว่าเดิมเรียกว่า “วัดมะกอก” และกลายเป็น “วัดมะกอกนอก” ในเวลาต่อมา เพราะได้มีการสร้างวัดขึ้นอีกวัดหนึ่งในตำบลเดียวกัน แต่อยู่ในคลองบางกอกใหญ่ ชาวบ้านเรียกวัดที่สร้างใหม่ว่า วัดมะกอกใน (วัดนวลนรดิศ) แล้วจึงเรียกวัดมะกอกซึ่งอยู่ปากคลองบางกอกใหญ่ว่า วัดมะกอกนอก

ส่วนเหตุที่มีการเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดแจ้ง” นั้น เชื่อกันว่า เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ปราบศัตรูที่อยุธยา และคนไทยมีอิสรภาพขึ้นดังเดิมแล้ว แต่ไม่สามารถจะยังคงอาศัยอยู่ ณ ราชธานีเดิม คือกรุงเก่าต่อมาได้เพราะบ้านเมืองเสียหายยับเยินเกินกว่าจะบูรณะขึ้นมาใหม่

จึงพากันล่องลงมาตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อหาที่ตั้งราชธานีใหม่ใน พ.ศ. 2310 พอลงมาถึงหน้าวัดมะกอกนี้ ก็พอดีรุ่งแจ้ง พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระราชดำริเห็นเป็นอุดมมหามงคลฤกษ์ จึงโปรดให้ยับยั้งกระบวนผู้คน ให้เทียบเรือพระที่นั่งเข้ากับท่าน้ำ เสด็จขึ้นไปทรงสักการะบูชา พระมหาธาตุ คือพระพุทธปรางค์องค์เดิม ซึ่งประดิษฐานอยู่ริมฝั่งแม่น้ำข้างหน้าวัด ต่อมาได้โปรดให้บูรณะปฏิสังขรณ์วัด แล้วเปลี่ยนชื่อวัดใหม่เป็นวัดแจ้งเพื่อให้เหมาะสมกับเหตุการณ์

อนึ่ง … ว่ากันว่าความเชื่อนี้ไม่ถูกต้อง เพราะเพลงยาวหม่อมภิมเสน วรรณกรรมสมัยอยุธยาที่บรรยายการเดินทางจากอยุธยาไปยังเพชรบุรี ได้ระบุชื่อวัดนี้ไว้ว่าชื่อวัดแจ้งตั้งแต่เวลานั้นแล้ว

เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังที่ประทับนั้น ทรงเอาป้อมวิชัยประสิทธิ์ข้างฝั่งตะวันตกเป็นที่ตั้งตัวพระราชวัง แล้วขยายเขตพระราชฐานจนถึง “วัดแจ้ง”

วัดอรุณฯ หรือวัดแจ้งในขณะนั้นจึงถือเป็นวัดประจำวัง เพราะอยู่ในเขตของพระราชวังเดิม เช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์สมัยอยุธยา จึงไม่มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษา และในรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าตากสินนั้น วัดแจ้งแห่งนี้ยังเคยเป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกตอีกด้วย โดยได้อัญเชิญมายังประเทศไทยเมื่อครั้งที่ไทยไปตีเมืองเวียงจันทน์ในปี พ.ศ.2322 ในครั้งนั้นได้มีการจัดงานสมโภชพระแก้วและพระบางถึง 3 วัน 3 คืนด้วยกัน ก่อนที่จะย้ายมาประดิษฐานที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามใน พ.ศ. 2327

มาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เสด็จมาประทับอยู่ ณ พระราชวังเดิมข้างใต้วัดแจ้ง แต่เมื่อปีพ.ศ. ๒๓๒๘ และทรงมอบหน้าที่ให้ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร บำรุงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดแจ้งใหม่หมดทั้งวัด แต่การปฏิสังขรณ์ ทำได้สำเร็จเพียงกุฏีสงฆ์ ส่วนพระอุโบสถและพระวิหารยังไม่ทันเสร็จก็สิ้นรัชกาลที่ ๑

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรได้เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี

พระองค์ ได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดแจ้งต่อ โปรดให้สร้างพระอุโบสถ และพระวิหารต่อจากที่เริ่มสร้างไว้แล้วในสมัยรัชกาลที่ ๑ ที่พระอุโบสถโปรดให้สร้างพระระเบียงล้อมรอบ การสร้างพระอุโบสถและพระวิหารเสร็จแล้ว ยังโปรดให้บูรณะพระอุโบสถและพระวิหารเก่าหน้าพระปรางค์หน้าวัด กับสร้างศาลาการเปรียญขึ้น ๑ หลัง

นอกจากนั้นรัชกาลที่ 2 ยังได้เป็นผู้ปั้นพระพักตร์ของพระประธานในพระอุโบสถด้วยพระองค์เองอีกด้วย จึงถือว่าวัดอรุณฯ นี้เป็นวัดที่มีความผูกพันกับพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยที่สุด ซึ่งปัจจุบันนี้ก็มีพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์ท่านตั้งอยู่บริเวณด้านริมแม่น้ำ

เมื่อการปฏิสังขรณ์สิ่งต่าง ๆ สำเร็จเรียบร้อย ก็มีการฉลองและพระราชทานนามวัดนี้ใหม่ว่า “วัดอรุณราชวราราม” ต่อมา ทรงมีพระราชศรัทธาที่จะสถาปนาพระมหาธาตุหรือพระพุทธปรางค์ข้างหน้าวัด ขึ้นใหม่ให้เป็นที่งามสง่า พระปรางค์เดิมสูงเพียง ๘ วา ทรงพระราชดำริว่าควรจะเสริมสร้างให้ใหญ่สูงเป็นพระมหาธาตุสำหรับพระนคร จึงโปรดให้กำหนดการลงมือขุดคลองรากทำเป็นฐาน แต่การยังไม่สำเร็จก็พอดีสิ้นรัชกาลที่ ๒ เสียก่อน … วัดอรุณฯ นี้จึงถือเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 2

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ในปี พ.ศ. ๒๓๘๕ ทรงพระราชดำริถึงพระมหาธาตุที่วัดอรุณฯ ซึ่งสมเด็จพระบรมชนกนาถทรงพระราชดำริไว้และค้างอยู่นั้น ควรจะดำเนินการให้สำเร็จดังพระราชประสงค์ จึงได้ทรงคิดแบบอย่างแล้วโปรดให้ลงมือสร้าง

โปรดเกล้าฯ ให้เสริมพระปรางค์ขึ้น เป็นพระมหาเจดีย์สูง ๑ เส้น ๑๓ วา ๑ ศอก ๑ คืบ ๑ นิ้ว ฐานวัดโดยรอบได้ ๕ เส้น ๑๗ วา และให้ยืมมงกุฎที่หล่อสำหรับพระพุทธรูปทรงเครื่องที่จะเป็นพระประธานวัดนางนองมาติดต่อบนยอดนภศูล

ในรัชกาลนี้ ยังโปรดให้สร้างพระมณฑป ขึ้นระหว่างพระอุโบสถกับพระวิหารที่สร้างขึ้นใหม่ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง กับสร้างพระเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้ ๑๒ ขึ้น ๔ องค์ ในบริเวณด้านใต้

พระระเบียง และยังโปรดให้สร้างซุ้มประตูในย่างกลางพระระเบียง ตรงหน้าพระอุโบสถออกมา ทำเป็นยอดทรงมงกุฏ และสร้างยักษ์ยืนคู่หนึ่งประจำที่หน้าซุ้มประตูด้านนี้ด้วย

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างและปฏิสังขรณ์สิ่งต่าง ๆ ในวัดอรุณฯ เพิ่มเติมขึ้นอีกหลายอย่าง เช่น สร้างบุษบกยอดเป็นทรงปรางค์ขึ้นที่ผนังหุ้มกลอง ด้านหน้าพระอุโบสถ เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องอย่างพระมหาจักรพรรดิ์ แห่งหนึ่ง กับที่ผนังหุ้มกลองด้านหลังพระอุโบสถอีกแห่งหนึ่ง กับโปรดให้ประดับฝาผนังด้านนอกพระอุโบสถและพระวิหารด้วยกระเบื้องเคลือบสีต่าง ๆ

อนึ่ง พระประธานในพระอุโบสถ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงปั้นหุ่นด้วยฝีพระหัตถ์ นั้นยังไม่มีพระนาม จึงพระราชทานนามถวายว่า “พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก” และที่โปรดให้อัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมาบรรจุไว้ ณ พระพุทธบัลลังก์ของพระประธานองค์นี้ด้วย

ที่พระวิหารโปรดให้อัญเชิญ “พระอรุณ” ที่อัญเชิญมาแต่เวียงจันทน์ มาประดิษฐานไว้ในพระวิหารอยู่ข้างหน้า “พระพุทธชัมภูนุชมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตร” … พระประธานในพระวิหารนั้นเมื่อการ บูรณะปฏิสังขรณ์วัดสำเร็จแล้ว ได้พระราชทานนามใหม่ว่า วัดอรุณราชวราราม ดังที่เรียกกันจนถึงทุกวันนี้

หลายคนคงเคยได้ยินตำนาน “ยักษ์วัดแจ้ง” ตีกันนัวเนียกับ “ยักษ์วัดโพธิ์” จนเกิด “ท่าเตียน” ขึ้น … ดังนั้นเมื่อมาวัดอรุณแล้วก็ต้องไม่พลาดการมาดูยักษ์วัดอรุณ หรือที่เรียกกันติดปากว่า “ยักษ์วัดแจ้ง”

มีเรื่องเล่าขานเป็นตำนานว่า … “ยักษ์วัดโพธิ์” มาตีกับ “ยักษ์วัดแจ้ง” ตีกันจนบ้านเมืองแถวนั้นราบเป็นหน้ากลอง เลยเรียกกันต่อมาว่า “ท่าเตียน” เรื่องเล่ายังสรุปไม่ได้ว่ายักษ์วัดไหนเป็นฝ่ายชนะ

แต่ที่แน่ๆ “ยักษ์วัดแจ้ง” นี้เป็นยักษ์ชื่อดังที่ทุกคนรู้จักกันดีจากเรื่องรามเกียรติ์ นั่นก็คือ “ทศกัณฑ์” ยักษ์กายสีเขียว ส่วนอีกตนหนึ่งเป็นยักษ์กายสีขาว ชื่อว่า “สหัสเดชะ” ยักษ์ทั้งสองตนเป็นยักษ์ปูนปั้นประดับกระเบื้องเคลือบสีเป็นลวดลายและเครื่องแต่งตัว สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3

ยักษ์วัดแจ้งนี้ยืนเฝ้าซุ้มข้างประตูทางเข้าพระอุโบสถ ซุ้มประตูนี้ก็สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 ด้วยเช่นกัน มีลักษณะเป็นทรงจตุรมุข หลังคา 3 ชั้น มียอดเป็นทรงมงกุฎประดับด้วยกระเบื้องถ้วยสลับสี หน้าบันเป็นปูนประดับกระเบื้องถ้วย มีลวดลายเป็นใบไม้ดอกไม้สวยงาม

ซุ้มประตูนี้เคยทำใหม่มาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ยังคงรูปแบบเดิมไว้ครบถ้วน เพราะเมื่อคราวจะสร้างใหม่นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ถ่ายภาพซุ้มประตูเดิมไว้ และให้สร้างตามรูปแบบเก่านั้น โดยทรงกล่าวว่า “ซุ้มประตูนี้อยากจะให้คงรูปเดิม เพราะปรากฏแก่คนว่า เป็นหลักของบางกอกมาช้านานแล้ว” และ “ขอให้ถ่ายรูปเดิมไว้ให้ มั่นคง เวลาทำอย่าให้แปลกกว่าเก่าเลยเป็นอันขาด อย่าเพ่อให้รื้อจะไปถ่ายรูปไว้เป็นพยาน…”

เมื่อผ่านยักษ์และซุ้มประตูเข้าไป จะพบกับพระอุโบสถของวัดอรุณฯ ก็มีความงามไม่แพ้ที่ไหนๆ … เป็นพระอุโบสถที่ยกพื้นสูง หน้าบันด้านหน้าและด้านหลังเป็นรูปเทวดาถือพระขรรค์ประทับในปราสาท

ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้งสี่ด้าน ฝีมืองดงามมาก เป็นภาพพุทธประวัติ ภาพผจญมาร ภาพเวสสันดรชาดก ฯลฯ เป็นจิตรกรรมฝาผนังฝีมือของครูคงแป๊ะ และครูทองอยู่ ช่างเขียนจิตรกรรมฝาผนังชั้นครู ที่เคยฝากฝีมือไว้ที่วัดสุวรรณารามไว้ด้วยเช่นกัน

พระประธานในพระอุโบสถมีพระนามว่า “พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย กล่าวกันว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงปั้นหุ่นพระพักตร์ด้วยพระองค์เอง … และที่ฐานชุกชีนี้ยังบรรจุพระบรมอัฐิของพระองค์ท่านไว้ด้วย

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระอุโบสถหลังนี้ได้เกิดเพลิงไหม้ โชคดีที่สามารถอัญเชิญพระบรมอัฐิของรัชกาลที่ 2 ออกได้ทัน แต่ไฟก็ได้ไหม้หลังคาพระอุโบสถจนหมด และทำให้จิตรกรรมฝาผนังเสียหายไปบ้าง สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ได้ประทานความเห็นในการซ่อมภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถว่าให้รักษาของเก่าไว้ และซ่อมภาพเขียนใหม่ให้กลมกลืนกับภาพเดิม ดังนั้นจิตรกรรมฝาผนังที่เราได้เห็นกันในวันนี้จึงยังสมบูรณ์อยู่มาก

รอบๆ พระอุโบสถนั้นมีตุ๊กตาหินจีนขนาดเล็กตั้งเรียงรายอยู่เต็มไปหมด นับตั้งแต่ระหว่างใบเสมาทั้ง 8 ซุ้มก็มีสิงโตหินจีนตัวเล็กตั้งอยู่บนแท่นเรียงกัน เว้นไว้แต่ตรงช่องบันไดทางขึ้นพระอุโบสถ

ด้านหน้าพระระเบียงที่ล้อมรอบอุโบสถนั้นก็มีตุ๊กตาหินจีนเป็นรูปคนแต่งกายในชุดแบบจีนยืนอยู่ในลักษณะต่างๆ กันเรียงเป็นแถวครบทั้งสี่ด้าน นอกจากนั้นที่มุมพระอุโบสถทั้ง 4 มุมยังมีพระเจดีย์หินแบบจีน มีผู้วิเศษจีนแปดคน หรือที่เรียกว่าโป๊ยเซียน ตั้งอยู่ในซุ้มของเจดีย์นั้นทั้ง 8 ทิศด้วยกัน

ตุ๊กตาหินจีนในวัดอรุณนี้ก็มีเยอะไม่ใช่เล่น เพราะที่นี่ถือเป็นหนึ่งในสี่วัดที่มีตุ๊กตาหินจีนอยู่มากที่สุด แต่โดยมากแล้วจะเป็นตุ๊กตาหินขนาดเล็กเสียเป็นส่วนใหญ่ โดยอีกสามวัดที่มีตุ๊กตาหินจีนอยู่มากเช่นกันก็คือวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดสุทัศนเทพวราราม และวัดราชโอรสาราม
รอบๆพระอุโบสถมีกระถางบัวหลากสีตั้งอยู่โดยรอบ … ดอกบัวงดงามมาก

พระอุโบสถวัดนี้ไม่มีกำแพงแก้ว แต่มีพระระเบียงแทน เป็นของที่สร้างขึ้นในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีทรวดทรงงามกว่าพระระเบียงในที่อื่น ๆ ทั้งหมด ที่ผนังระเบียงมีลายเขียนเป็นซุ้มเรือนแก้วลายดอกไม้ ใบไม้ มีนกยูงแบบจีนคาบอยู่ตรงกลาง พระพุทธรูปในพระระเบียงเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ทั้งหมดรวมได้ ๑๒๐ องค์นอกจากนี้ยังมี หอระฆัง มณฑปพระพุทธบาทจำลอง พระวิหาร หอไตร เป็นต้น

ความสวยงามของดอกสาละ ซึ่งเป็นดอกไม้ที่เชื่อว่ามีความเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ ที่ชูช่อดอกอยู่บนต้นข้างๆพระอุโบสถ ดึงดูดผู้ศรัทธาที่มากราบพระ และชมความงามของวัดอรุณฯให้เข้ามาเพ่งพิศและเก็บภาพไปเป็นที่ระลึก

ขอขอบคุณ http://www.oknation.net/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .