ประวัติความเป็นมาวัดลำโพง

10040059_0_20140628-091115

วัดหัวลำโพง ตั้งอยู่เลขที่๗๒๘ ถนนพระราม๔ แขวงสี่พระยา เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร เดิมชื่อวัดวัวลำพอง เป็นวัดราษฎร์ ใครเป็นคนสร้างและสร้างเมื่อใด ไม่ปรากฏหลักฐาน แต่คาดว่าคงสร้างในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ประมาณรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๓ ทั้งนี้โดยอาศัยการสันนิษฐานจากรูปทรงของอุโบสถหลังเก่าและเจดีย์ด้านหลัง ซึ่งสร้างคู่กันมา

ความเป็นมาของวัดนี้ มีผู้รู้ประมวลไว้ โดยอาศัยจากการเล่าต่อๆ กันมาว่า ในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ กรุงศรีอยุธยาถูกพม่าทำลายเผาผลาญบ้านเมือง ตลอดวัดวาอารามจนในที่สุดได้เสียกรุงแก่ข้าศึก เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๓๑๐ ซึ่งเป็นการเสียกรุงครั้งสุดท้ายในประวัติศาสตร์ การสงครามครั้งนี้ประชาชนเสียขวัญและได้รับความเดือดร้อน บางพวกไม่สามารถที่จะอาศัยอยู่ถิ่นเดิมต่อไปได้ จึงพากันอพยพครอบครัว ลงมาทางใต้ตั้งถิ่นฐานที่บริเวณวัดหัวลำโพงในปัจจุบันนี้เห็นว่าเป็นทำเลที่เหมาะ ยังไม่มีเจ้าของถือกรรมสิทธิ์ มีลำคลองเชื่อมโยงสะดวกต่อการสัญจรไปมา จึงได้ตั้งหลักฐานและจับจองที่ดิน นานปีเข้าต่างก็มีหลักฐานมั่นคงเป็นปึกแผ่นทั่วกัน

ต่อมาจึงได้ร่วมกันสร้างวัดขึ้นตามวิสัยอันดีงามเช่น บรรพบุรุษชาวพุทธทั้งหลาย และให้ชื่อว่า วัดวัวลำพอง ตามความนิยมที่ชื่อของวัดจะพ้องกับชื่อหมู่บ้าน เพราะชาวบ้านกับวัดส่วนใหญ่ของไทยเรา มักมีชื่อเหมือนกัน หรือมีความหมายเดียวกัน
ปีรัตนโกสินทรศก ๑๐๙ ตรงกับปี พ.ศ. ๒๔๓๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ หรือที่ประชาชนทั่วประเทศพร้อมใจกันขนานพระนามพระองค์ท่านว่า สมเด็จพระปิยมหาราช ซึ่งเป็นยุคทองของการพัฒนาประเทศชาติในระบบใหม่ ได้ทรงสร้างทางรถไฟขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย คือจากสถานีกรุงเทพฯ ขึ้นไปบริเวณนอกเมืองใกล้กับคูเมืองชั้นนอกคือคลองผดุงเกษม พระราชทานนามว่า สถานีหัวลำโพง ซึ่งอยู่ห่างจากวัดวัวลำพอง ประมาณ ๒ กิโลเมตร
ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๔๗ ราวเดือนตุลาคมหรือเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นฤดูกาลทอดกฐิน จากหลักฐานและคำบอกเล่านั้นว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระกฐินในครั้งนั้น วันเดียวกันถึง ๓ วัด ตามลำดับดังนี้ คือ วัดสามจีน (วัดไตรมิตรวิทยาราม) วัดตะเคียน (วัดมหาพฤฒาราม) และวัดวัวลำพอง (วัดหัวลำโพง)
ในการเสด็จพระราชดำเนินทอดผ้าพระกฐิน ที่วัดวัวลำพองนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อวัดเสียใหม่ พระราชทานนามว่า วัดหัวลำโพง และทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานแต่งตั้งสมณศักดิ์เจ้าอาวาสคือ พระอาจารย์สิงห์ ซึ่งเป็นพระวิปัสสนาธุระที่มีชื่อเสียงองค์หนึ่งในครั้งนั้น เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูญาณมุนี นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นหาที่สุดมิได้
นับแต่นั้นมาด้วยเดชานุภาพแห่งพระมหากษัตริย์ไทย อันมีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ผู้ทรงวางรากฐานความเป็นมิ่งมงคล และทรงประกอบคุณงามความดีตามหลักพรหมวิหารให้เป็นที่ประจักษ์แก่คณะสงฆ์และอุบาสกอุบาสิกา จึงต่างก็ได้ร่วมกันทำนุบำรุงพระบวรพุทธศาสนา สร้างถาวรวัตถุให้เจริญยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการสนองพระมหากรุณาธิคุณต่อพระองค์ท่าน
วัดหัวลำโพง อันเป็นนามพระราชทาน เป็นนามมิ่งมงคลก็ประสบความเจริญรุ่งเรืองมาโดยตลอด บูรณะปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุเดิมเพิ่มเติมถาวรวัตถุใหม่ ให้เป็นศรีสง่าแก่พระศาสนา

วัดหัวลำโพง มีที่ดินประมาณ ๒๐ ไร่ ซึ่งในระยะแรกมีเนื้อที่ประมาณ ๗ ไร่ ต่อมานายท้วม พุ่มแก้ว ซึ่งมีที่ดินติดกับเขตวัดด้านถนนพระราม ๔ ถวายที่ดินส่วนนั้นให้แก่วัด ประมาณ ๖ ไร่ และนางสาวลออ หลิมเซ่งไถ่ ได้ถวายพินัยกรรมเป็นที่ดินอีกจำนวน ๗ ไร่ ๑ งาน ๘๘ ตารางวา (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนพุทธจักรวิทยา ) ปัจจุบันวัดหัวลำโพงมีที่ดินตั้งวัดและที่ธรณีสงฆ์ คือโฉนดเลขที่ ๓๑๗๓๔ เนื้อที่ ๑๒ ไร่ ๒ งาน ๘๘ ตารางวา โฉนดเลขที่ ๒๓๒๗ เนื้อที่ ๗ ไร่ ๒ งาน ๘๘ ตารางวา โฉนดเลขที่ ๑๙๗๓ เนื้อที่ ๓ งาน ๘๑ ตารางวา โฉนดเลขที่ ๓๔๑๙ เนื้อที่ ๒ งาน ๗๙ ตารางวา โฉนดเลขที่ ๑๙๗๒ เนื้อที่ ๙๙ ตารางวา โฉนดเลขที่ ๓๑๒๓ เนื้อที่ ๖๙ ตารางวา

ขอขอบคุณ http://www.wathualamphong.com/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .