วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (ภูเขาทอง) Wat Saket Rajavaramahavihara (The Golden Mount)

watsaket-01

วัดสระเกศ เป็นวัดเก่าแก่สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อว่า “วัดสระแก” และได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นวัดสระเกศเมื่อรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ครั้งที่ได้ทรงสร้างกรุงเทพมหานคร วัดสระเกศเป็นวัดสำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของชาติไทย และเกี่ยวกับพระบรมราชจักรีวงศ์มาแต่ต้น จึงเป็นอารามหลวงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตั้งแต่รัชกาลที่ 1 เป็นต้นมา ได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์เป็นจำนวนมากปฏิสังขรณ์ก่อสร้างถาวรวัตถุและ เสนาสนะสงฆ์สืบมาโดยลำดับ ปัจจุบันเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรมหาวิหาร

วัดสระเกศ ตั้งอยู่แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรมหาวิหารภายในวัดแบ่งเป็น 2 เขต คือ ทางด้านเหนือของวัดเป็นที่ตั้งบรมบรรพต พระวิหารพระอัฏฐารส และบริเวณพระอุโบสถ จัดเป็นพุทธาวาส ส่วนทางด้านใต้ของเขตพุทธาวาสมีถนนคั่นเป็นเสนาสนะสงฆ์ที่อยู่ของพระภิกษุสามเณร จัดเป็นสังฆาวาส การเข้าชมวัดไม่เพียงแต่จะได้เห็นได้ชมพุทธสถาปัตยกรรมและพุทธศิลป์อันงามวิจิตร ที่บรรดาช่างฝีมือตั้งใจประดิษฐ์ขึ้นด้วยศรัทธา เพื่อน้อมถวายเป็นพุทธบูชาเท่านั้น ยังจะได้รับความรู้แนวคิด ความเชื่อและปรัชญาในพุทธธรรม เกิดปัญญาและประสบการณ์ในชีวิตของเราเพิ่มขึ้นอีกด้วย ภายในวัดสระเกศมีพุทธสถานในวัดแต่ละส่วนดังนี้

พระวิหาร
พระวิหารหลังนี้สวยงามสูงเด่นเป็นสง่า มีหลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบ มีช่อฟ้าใบระกา หน้าบันทั้งสองด้านประดับด้วยกระจกสี เป็นทีประดิษฐานพระพุทธรูปสำคับ 2 องค์ คือ พระอัฏฐารส และหลวงพ่อดุสิต นอกจากนี้ยังใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์บทมหาสมัยสูตร เพื่อทำน้ำพระพุทธมนต์ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ สำหรับแจกจ่ายให้ประชาชน

พระอัฏฐารส
พระอัฏฐารส มีพระนามเต็มว่า พระอัฏฐารสศรีสุคตทศพลญาณบพิตร เป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติ ศิลปะสกุลช่างสมัยสุโขทัยตอนต้น อายุ 700 ปี เป็นประพุทธรูปยืนที่มีความสูงที่สุด ในกรุงเทพมหานคร มีความสูงถึง 5 วา 1 ศอก 10 นิ้ว (21 ศอก 1 นิ้ว) หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ทั้งองค์ โดยไม่มีการเชื่อมต่อ ประดิษฐานอยู่บนชุกชีในพระวิหาร
ธรรมดาเมืองหลวงแต่ก่อนย่อมมีพระอัฏฐารสเป็นประจำราชธานี เพื่อให้บ้านเมืองสงบสุขปราศจากสงคราม ป้องกันความแตกแยกของคนในชาติ ให้คนในชาติเกิดความรักความสามัคคี และให้ประเทศชาติสถิตสถาพรมั่นคงยั่งยืนนาน ประหนึ่งพระพุทธปฏิมากรประทับยืนสถิตสถาพรเป็นนิรันดร์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดให้อัญเชิญพระอัฏฐารส มาจากวัดวิหารทอง เมืองพิษณุโลก มาประดิษฐานไว้ ณ พระวิหารแห่งนี้

หลวงพ่อดุสิต
เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย พระพุทธศิลป์สกุลช่างรัตนโกสินทร์ มีประวัติว่า เดิมเป็นพระประธานประจำพระอุโบสถวัดดุสิตมาก่อน เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระราชวังดุสิต และสวนดุสิตจำต้องขยายบริเวณเกินเนื้อที่วัดเบญจมบพิตรและวัดดุสิต จึงโปรดให้อัญเชิญพระประธานในพระอุโบสถวัดดุสิตไปประดิษฐานอยู่ในห้องด้านหลังพระวิหารพระอัฏฐารสซึ่งว่างอยู่ ภายหลังเรียกกันว่า “หลวงพ่อดุสิต” ประดิษฐานอยู่ตลอดมาจนทุกวันนี้

พระอุโบสถ
พระอุโบสถประดิษฐานบนลานกระเบื้องสีเหลืองนวลรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตั้งอยู่ภายในกำแพงแก้ว มีพระระเบียงรอบพระอุโบสถ และมีพัทธสีมาตั้งรายรอบอยู่ 8 ทิศ
พัทธสีมาที่ประดิษฐานในซุ้มทรงกูบช้างที่ประดับกระเบื้องลายวิจิตร เป็นฝีมือช่างจากเมืองจีน ใบสีมาแต่ละซุ้มนั้นสลักด้วยศิลาประดับกระจกสี ซุ้มละ 2 ใบ ซุ้มพัทธสีมาวัดสระเกศนี้มีชื่อเสียงในด้านความสวยงาม และแปลกเป็นพิเศษต่างจากวัดอื่นๆ จนสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส (สมเด็จพระสังฆราชเจ้า องค์ที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) ทรงสรรเสริญว่า “ซุ้มพัทธสีมาวัดสระเกศ วิจิตสวยงามมาก ควรถือเป็นแบบอย่างได้”
หน้าบันพระอุโบสถทั้งด้านหน้าและด้านหลังสลักลายกระหนกลายก้านขดประดับกระจกสี ตรงกลางประดับรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ อันเป็นสัญลักษณ์แห่งราชวงศ์จักรี กระหนกลายก้านขดทอดลายงดงามรับกับเครื่องหลังคาที่ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ดูอ่อนช้อยกลมกลืนกัน
ภายในพระอุโบสถกว้าง ประดิษฐานพระประธานปางสมาธิองค์ใหญ่ปิดทองคำเปลวสะท้อนสี ทองสุกอร่าม พระประธานองค์นี้รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯให้สร้างครอบพระประธานองค์เดิมที่เล็กกว่าไว้ พระพุทธศิลป์ฝีมือสกุลช่างรัตนโกสินทร์ พระประธานประดิษฐานบนฐานชุกชีที่พอดีกับระดับสายตา เมื่อกราบท่านแล้วแหงนมองพระพักตร์ท่านและดูรอบๆพระอุโบสถจะได้ความรู้สึกอิ่มตาสบายใจ
ผนังรอบพระอุโบสถประดับภาพจิตรกรรมงามตายิ่ง เบื้องบนเขียนภาพเทวดาและท้าวจตุโลกบาล ด้านตรงข้ามกับพระประธานเป็นภาพพุทธประวัติตอนมารวิชัย ระหว่างซุ้มหน้าต่างวาดเป็นภาพทศชาติของสมเด้จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้านหลังพระประธานเป็นภาพไตรภูมิ คือ ภาพสวรรค์ มนุษย์ และนรก

พระระเบียง
พระระเบียงเป็นเครื่องกั้นล้อมรอบพุทธสถานสำคัญสร้างตามคตินิยมตามแบบขอม คติการสร้างพระระเบียงของไทยนั้นสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงวิเคราะห์ว่า แต่เดิมนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นที่พักของพุทธบริษัทที่เดินทางมาจากที่ไกลๆได้พักผ่อน ครั้นในสมัยรัตนโกสินทร์สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปเรียงรายภายใน
พระระเบียงสร้างรอบพระอุโบสถวัดนี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้น พร้อมกับการปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ ประกอบด้วยซุ้มประตู 4 ทิศ เหนือซุ้มประตูมีมุขยื่นหลังคาลดหลั่นกัน ที่หน้าบันสลักลายกระหนกลายก้านขดประดับกระจก ลายอ่อนช้อยรับกับใบระกา ช่อฟ้า หางหงส์ ที่ประดับบนหลังคา และสอดรับกลมกลืนกับหลังคาพระอุโบสถ เสมือนเป็นพุทธสถานในชุดเดียวกันยามที่แดดส่องลงบนหลังคา แสงสะท้อนกระจกประดับลายขับสีวาววับตัดสีทองดูอร่ามตายิ่งนัก เพดานพระวิหารคดทาสีแดง ประดับรูปดาวราย ภายในตั้งแท่นประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นประดับทองคำเปลวที่รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯให้อัญเชิญมาจากหัวเมือง พระพุทธรูปปางต่างๆ ที่ประดิษฐานรายรอบทั้งสี่ด้านนับรวมได้ 163 องค์
พระบรมบรรพต เจดีย์ภูเขาทอง
พระบรมบรรพตภูเขาทอง นับเป็นพุทธสถานที่สำคัญของวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และเป็นสัญลักษณ์ของวัดที่คนทั่วโลกรู้จักกันมากกว่าพุทธสถานรอบวัด พระบรมบรรพตภูเขาทองนี้มีประวัติความเป็นมาที่ยิ่งใหญ่ เพราะสร้างโดยพระมหากษัตริย์แห่งพระราชวงศ์จักรีถึง 3 พระองค์ด้วยกัน คือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามลำดับ ใช้เวลาในการก่อสร้างเป็นเวลาประมาณ 5 ทศวรรษ ปัจจุบันมีอายุร่วม 200 กว่าปี บนยอดมีเจดีย์สีทองเหลืองอร่ามประดิษฐานอยู่ ได้จำลองแบบมาจากพระเจดีย์ของวัดภูเขาทองในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

พระบรมบรรพตภูเขาทองนี้มีความสูงประมาณ 100 เมตร มีความกว้างโดยรอบเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 500 เมตร ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินประกอบพระราชพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุที่บูชาไว้ในพระบรมมหาราชวังประดิษฐานในพระเจดีย์ภูเขาทองเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2440 ครั้งที่ 2 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญจากเมืองกบิลพัสดุ์ ประเทศอินเดีย ครั้งที่ 3 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน เสด็จพระราชดำเนินทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระเจดีย์ยอดพระมณฑปเมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2497

การขึ้นไปกราบนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ณ พระบรมบรรพตภูเขาทองข้างบน ให้เดินขึ้นไปตามบันไดเวียน ซึ่งมีอยู่ทั้งสองด้าน คือ ด้านทิศเหนือและด้านทิศใต้ ซึ่งบันไดแต่ละด้านมี 344 ขั้น การที่ประเทศใดจะมีพระบรมสารีริกธาตุไว้ในครอบครองนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก มีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่มีพระบรมสารีริกธาตุไว้สักการบูชา เช่น จีน อินเดีย และญี่ปุ่น

ขอขอบคุณ http://www.teeteawthai.com/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .