การศึกษาในวัดกัลยาณมิตร

การศึกษาในยุคแรกๆ ของวัดกัลยาณมิตรจะเป็นอย่างไรสืบไม่ได้ความชัด ทราบแต่ว่าในยุคพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (เปีย จนฺทสิริ) เป็นเจ้าอาวาส การศึกษามีทั้งคันถธุระและวิปัสสนาธุระ รวมทั้งภาษาไทย

ฝ่ายคันถธุระ เดิมพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (เปีย จนฺทสิริ) เป็นครูผู้สอน ต่อมา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเจริญศรีชนมายุทรงจ้างขุนอนุสาสน์วินิต (พุก) มาสอน โดยประทานเงินส่วนพระองค์ให้เป็นเงินเดือน เดือนละ ๑๕ บาท พระสุนทรสมาจาร (พรหม) เมื่อยังเป็นพระครูพินิตวิหารการ จ้างอาจารย์นวลมาสอนโดยออกเงินส่วนตัวเป็นเงินเดือน เดือนละ ๑๕ บาท และพระครูสุนทรกาษฐโกศล (ทับ) เมื่อยังเป็นพระครูปลัดนิพัทธ์โพธิพงศ์ จ้างอาจารย์เง็กมาสอนโดยออกเงินส่วนตัวบ้าง สัปปุรุษบริจาคบ้าง ให้เป็นเงินเดือน เดือนละ ๑๕ บาท เรื่องที่สอน เช่น มูลกัจจายน์ ธัมมะปทัฏฐกถา มงคลตถทีปนี เป็นต้น มีภิกษุสามเณรและกุลบุตรเล่าเรียนกันมากบ้างน้อยบ้าง ผู้ที่สอบได้เป็นเปรียญในยุคนั้นมีหลายท่าน เช่น พระมหาปลด กิตฺติโสภโณ (ภายหลังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ซึ่งเป็นองค์ที่ ๑๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) พระมหาวัน (พระอริยสีลาจารย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดสังข์กระจาย) เป็นต้น

ในสมัยที่ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเป็นมหาสังฆปรินายกผู้อำนวยการพระพุทธศาสนา ได้ทรงแก้ไขหลักสูตรการสอนพระธรรมวินัยและบาลีขึ้นใหม่ การศึกษาแบบโบราณเช่นเดิมจึงเปลี่ยนแปลงมาโดยลำดับ และเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ ในสมัยพระวินัยกิจโกศล (ตรี จนฺทสโร) เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส ท่านเจ้าคุณได้เป็นประธานจัดการศึกษาพระธรรมวินัยและบาลีตามแบบแผนใหม่ ตั้งแต่นั้นมาการศึกษาก็ค่อยเจริญขึ้นโดยลำดับ จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๖๔พระวินัยกิจโกศล (ตรี จนฺทสโร) ได้เป็นเจ้าอาวาส จึงขยายการศึกษาให้แพร่หลายออกไป และตั้งเป็นสำนักเรียนขึ้น มีทั้งโรงเรียนและครูผู้สอนทุกชั้น ได้ทุนของวัดและทุนของผู้อื่นบริจาคเป็นกำลังอุดหนุนโรงเรียนและครูตลอดถึงนักเรียนด้วย นับว่าการศึกษาเจริญมาก จนมีภิกษุสามเณรผู้รู้ธรรมและบาลีเข้าสอบไล่ได้เป็นนักธรรมและเปรียญทุกปี

ฝ่ายวิปัสสนาธุระ แต่เดิมพระครูล้วนและพระอาจารย์กลัดเป็นครูผู้สอน ในตอนแรกๆ มีสามเณรเรียนกันมาก ต่อมาก็น้อยลงเป็นลำดับ จนที่สุดก็ล้มเลิกไป เนื่องจากไม่ได้รับความนิยม

ฝ่ายภาษาไทย พระยากัลยาณมิตรนิกรวงศ์ (คง กัลยาณมิตร) เมื่อยังเป็นพระยาภักดีภูบาล ได้จัดการสร้างโรงเรียนภาษาไทยขึ้นหลังหนึ่ง ชื่อว่า โรงเรียนรัตนบดินทร์ (อุทิศในนามบิดาเจ้าพระยารัตนบดินทร์) และจ้างครูมาสอน กล่าวกันว่า นายฟ้อนเป็นครูคนแรกของโรงเรียนนี้ ปรากฏว่าการศึกษาในระยะนั้นเจริญแพร่หลาย มีนักเรียนมาก จนกระทั่งโรงเรียนรัตนบดินทร์ไม่พอบรรจุนักเรียนได้หมด ต่อมาเจ้าจอมมารดาปรีกในกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญได้ถวายเรือนไม้สักสร้างเป็นโรงเรียนขึ้นอีก ๑ หลัง และกรมศึกษาธิการได้จัดการรื้อกุฏิไม้เดิมในวัดมาสร้างเป็นโรงเรียนขึ้นอีก ๑ หลัง ในบริเวณโรงเรียนรัตนบดินทร์ และตั้งแต่นั้นมาก็ได้เปิดการสอนชั้นมูล ชั้นประถม ๑ ถึงชั้นประถม ๔ จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เมื่อกระทรวงศึกษาธิการได้เปลี่ยนแผนการศึกษาของชาติใหม่ให้เหมาะสมกับระบอบรัฐธรรมนูญ โรงเรียนภาษาไทยของวัดกัลยาณมิตรนี้ได้เปลี่ยนเป็นโรงเรียนเทศบาล มีชื่อว่า โรงเรียนเทศบาล ๓ (วัดกัลยาณ์) สืบมาจนถึงปัจจุบัน คือ โรงเรียนวัดกัลยาณมิตร สังกัดกรุงเทพมหานคร

วัดกัลยาณมิตรเป็นสำนักเรียนพระปริยัติธรรมค่อนข้างใหญ่ เปิดสอนพระปริยัติธรรมทั้งแผนกธรรมและแผนกบาลี สืบต่อกันมาตั้งแต่ครั้งเจ้าอาวาสรูปที่ ๑ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๙ คือ พระพิมลธรรม (พร) จนถึงเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๓ คือ พระธรรมเจดีย์ (ประกอบ ธมฺมเสฏฺโฐป.ธ. ๙)

เมื่อท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (ประกอบ ธมฺมเสฏฺโฐ) ได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตรและเป็นเจ้าสำนักเรียนวัดกัลยาณมิตร เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้จัดการปรับปรุงแก้ไขงานการศึกษาพระปริยัติธรรมทั้งแผนกนักธรรมและแผนกบาลีให้ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะเจ้าสำนักเรียนเป็นเปรียญธรรม ๙ ประโยค และเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีประโยค ป.ธ. ๘ ในโรงเรียนพระปริยัติธรรม คณะสงฆ์ส่วนกลาง (วัดสามพระยา) มีประสบการณ์และวิสัยทัศน์ในการเรียนการสอนและการบริหารจัดการงานการศึกษาพระปริยัติธรรมของคณะสงฆ์เป็นอย่างดี พร้อมทั้งมีทุนนิธิการศึกษาที่เพียงพอ และได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายด้วยดี ทำให้สามารถนำพาสำนักเรียนให้เจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว จนมีผลการเรียนการสอนที่น่าพอใจ และในยุคของท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ มีนักเรียนผู้เข้าสอบพระปริยัติธรรม แผนกบาลี ได้เป็นเปรียญมากที่สุด คือ ตั้งแต่ประโยค ๑-๒ ประโยค ป.ธ. ๓ ถึงป.ธ. ๗ จำนวน ๙๗ รูป (พ.ศ. ๒๕๔๗-๒๕๕๒)

ขอขอบคุณ http://www.watkalyanamitra.com/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .