วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร : โอ้วัดโพธิ์เป็นวัดกษัตริย์สร้าง ไม่โรยร้างรุ่งเรืองดังเมืองสวรรค์

4981992f7

หากจะกล่าวถึงความงามที่วิจิตรอลังการของวัดโพธิ์ ซึ่งเป็นวัดคู่พระนคร คงจะเป็นภาพที่ติดตา ตรึงใจอยู่ในความรู้สึกของผู้คนในสมัยต้นรัตนโกสินทร์เป็นอย่างยิ่ง อันสะท้อนให้เห็นจากบทกวีนิพนธ์ในสมัยนั้น ที่ล้วนชื่นชอบต่อความสวยงามของพระอารามแห่งนี้ว่าเปรียบประดุจเมืองสวรรค์ … ดังเช่น กวีนิพนธ์ เรื่อง นิราศพระแท่นดงรัง ของนายมี ที่กล่าวถึงวัดโพธิ์ อันมีความตอนหนึ่งว่า ..
“โอ้วัดโพธิ์เป็นวัดกษัตริย์สร้าง ไม่โรยร้างรุ่งเรืองดังเมืองสวรรค์”

วัดโพธิ์ หรือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร … เดิมเป็นวัดโบราณ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาราวรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา (พ.ศ.2231-2246) ในเวลานั้นยังเป็นวัดราษฎร์เล็กๆ ชื่อ “วัดโพธาราม” แต่คนทั่วไปเรียกขานกันติดปากว่า “วัดโพธิ์” ส่วนชื่ออย่างเป็นทางการในปัจจุบัน “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร” นั้นเพิ่งถูกเปลี่ยนใช้เรียกในสมัยรัชกาลที่ 4

ในสมัยกรุงธนบุรี พ.ศ.2311 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา … ครั้งนั้น ได้ทรงกำหนดเขตสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาให้อยู่ในเขตกลางเมืองหลวง “วัดโพธาราม” ซึ่งอยู่ในเขตพระนครฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา จึงได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ ยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวง และมีพระราชาคณะปกครองนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ครั้งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาวัดนี้ใหม่ใน
พ.ศ. 2331 โดยทรงสร้างพระอุโบสถ พระระเบียง พระวิหาร ตลอดจนบูรณะของเดิม เมื่อแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2344 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาส”
เป็นวัดประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

นับจากนั้นวัดพระเชตุพนได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้โปรดเกล้าฯ ให้จารึกสรรพตำราต่าง ๆ ลงบนแผ่นหินอ่อนประดิษฐ์ไว้ตามศาลารายต่าง ๆ ครั้งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แก้สร้อยนามพระอารามว่า “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร”
พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ทรงถือว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นพระอารามหลวงที่มีความสำคัญมาก และทรงถือเป็นพระราชประเพณี ที่จะทรงบูรณะซ่อมแซมวัดนี้ทุกรัชกาล

นอกจากนี้ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามยังเป็นเสมือนมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย เพราะเป็นแหล่งรวบรวมวิชาความรู้ด้านต่าง ๆ ทั้งประวัติศาสตร์ วรรณกรรม และการแพทย์

นาม “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม” ปรากฏในประกาศสมัยรัชกาลที่ 4 พ.ศ. 2411 ว่า “วัดนี้แม้จะมีนามพระราชทานมาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 แต่ชื่อพระราชทานมีผู้เรียกแต่อยู่ในพระราชวัง คนยังเรียกว่าวัดโพธิ์กันทั้งแผ่นดิน” และมีพระราชดำริว่า “ชื่อพระราชทานเป็นชื่อตั้งไม่ปิดไม่แน่นจะคิดแปลงใหม่เห็นจะไม่ชนะ”

วัดโพธิ์ … เป็นวัดในเมืองหลวงที่มีเรื่องราวและสิ่งน่าสนใจมากมาย นอกจากความกว้างใหญ่และสวยงามอลังการในทุกส่วนแล้ว ทุกมุมของวัดล้วนสร้างอย่างประณีตจากฝีมือช่างโบราณ ทุกคนที่มีโอกาสมาเยือนจึงตื่นตาตื่นใจมากมาย

สำหรับรูปแบบสถาปัตยกรรมที่เห็นสวยงามในปัจจุบันนั้น เป็นมรดกจากการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในรัชกาลที่ 3 โดยใช้เวลานานถึง 16 ปี 7 เดือน ขยายเขตพระอารามด้านใต้และตะวันตก ทั้งส่วนที่เป็นพระวิหารพระพุทธไสยาส สวนมิสกวัน พระมณฑป ศาลาการเปรียญ และสระจระเข้ ซึ่งศิลปะสมัย ร.3 สังเกตง่ายๆได้จากตุ๊กตาจีนรูปต่างๆ ถูกนำมาตกแต่งให้เข้ากับศาสนสถานของวัดอย่างเป็นระเบียบ ดูสวยงามลงตัวทั่วทั้งบริเวณ ซึ่งรูปสลักหน้าตาเป็นจีน มือถือศาสตราวุธที่ยืนเฝ้าประตูทรงจุลมงกุฎมักได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวแวะยืมชมและถ่ายรูป จนบางคนเข้าใจผิดคิดว่า “ลั่นถัน นายทวารบาล” นี้คือยักษ์วัดโพธิ์

ขอขอบคุณ http://www.oknation.net/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .