วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เขตพระนคร จ.กรุงเทพฯ

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม63 วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม51 วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม52 วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม55

วัดโพธิ์ หรือวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามเป็นวัดที่ทุกท่านทราบว่ามีชื่อเสียงในเรื่องของการแพทย์แผนไทย ซึ่งนอกจากนี้แล้ววัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามแห่งนี้ยังมีสิ่งที่น่าสนใจและมีความสำคัญเป็นอย่างมากทีเดียว

วัดโพธิ์เป็นวันที่มีความเก่าแก่มาตั้งแต่ครั้งก่อนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เนื่องจากเมื่อพระปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชจักรีวงศ์ทรงดำริให้สร้างพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้น วัดโพธาราม(ชื่อเดิมของวัดโพธิ์) ก็มีความเสื่อมโทรมมากแล้ว รัชกาลที่ 1 จึงได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์และพระราชทานนามว่า “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาศ” และเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 อีกด้วย จนในรัชสมัยรัชกาลที่ 4จึงได้เปลี่ยนเป็น “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม” จวบจนปัจจุบัน

นอกจากนี้วัดโพธิ์จะมียังมีโบราณสถาน โบราณวัตถุที่สำคัญและน่าสนใจดังนี้
พระอุโบสถ ของวัดสร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ ๑ ตามแบบศิลปะอยุธยาตอนปลาย และขยายใหญ่ขึ้นเท่าที่เห็นในสมัยรัชกาลที่ ๓ ซุ้มจรณัมประจำประตูหน้าต่างฉลัก (สลัก) ด้วย ไม้แก่น ยอดเป็นทรงมงกุฎลงรักปิดทอง ประดับกระจก บานประตูพระอุโบสถ ด้านนอกลายประดับมุก เป็นลายภาพเรื่อง รามเกียรติ์ ด้านในเขียนลายรดน้ำรูปพัดยศพระราชาคณะ พระครูสัญญาบัตร ฐานานุกรมเปรียญทั้งฝ่ายคามวาสีและอรัญวาสีในกรุงและหัวเมือง เป็นที่ประดิษฐาน พระประธาน เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ “พระพุทธเทวปฏิมากร” ที่ฐานชุกชีก่อไว้ ๓ ชั้น ชั้นที่ ๑ บรรจุพระบรมอัฐิและพระราชสรีรังคารรัชกาลที่ ๑ ไว้ ชั้นที่ ๒ ประดิษฐานรูปพระอัครสาวกทั้งสององค์ฐานชุกชี ชั้นล่างสุดประดิษฐานพระมหาสาวก ๘ องค์ (พระอรหันต์ ๘ ทิศ) จิตรกรรมประดับผนังพระอุโบสถเหนือต่างขึ้นไปเขียนเรื่องมโหสถบัณฑิต (มหาบัณฑิตแห่งมิถิลานคร) คอสองในประธานทั้งสองข้างเขียนเรื่องเมืองสวรรค์ชั้นจาตุมหาราช ผนังประตูหน้าต่างเขียนเรื่องพระสาวกเอตทัคคะ ๔๑ องค์บานหน้าต่างด้านในเขียนลายรดน้ำเป็นรูปตราประจำตำแหน่งเจ้าคณะสงฆ์ในกรุงและหัวเมือง สมัยรัชกาลที่ ๓ ด้านนอกแกะสลักเป็นลายแก้วชิงดวง

ด้านนอกพระอุโบสถเป็น พระระเบียง ที่สร้างรอบพระอุโบสถอยู่สองชั้น เชื่อมต่อด้วยพระวิหารทิศ อยู่รอบพระอุโบสถทั้งสี่ทิศ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่รัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาจากหัวเมืองฝ่ายเหนือ ปัจจุบันทางวัดได้บูรณะปฏิสังขรณ์ปิดทองพระพุทธรูปติดกระจกล้อมไว้หมด เพื่อรักษาความสะอาด พระวิหารคตทั้งสี่ทิศที่เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ 4 ปาง พระพุทธรูปปางมารวิชัย ปางปฐมเทศนา ปางนาคปรก ปางป่าเลไลยก์ ซึ่งแต่ละองค์มีประวัติความเป็นมาที่สำคัญ(สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์วัดโพธิ์ที่ลิ้งค์ด้านล่าง) ถัดจากนั้นยังมี พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล พระมหาเจดีย์ทั้งสี่องค์อยู่ในบริเวณกำแพงสีขาว ซุ้มประตูทางเข้าเป็นสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์แบบจีน ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบ เครื่องถ้วยหลากสี มีตุ๊กตาหินจีนประตูละคู่ พระมหาเจดีย์แต่ละองค์เป็นเจดีย์ย่อไม้สิบสองเพิ่มมุมสูง ๔๒ เมตร ประดับกระเบื้องเคลือบและกระเบื้องเครื่องถ้วยลวดลายต่างๆ สังเกตได้ง่าย สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 – 4 อีกทั้งภายในวัดท่านสามารถเข้าสักการะที่วิหารพระพุทธไสยาสน์ (สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3) และเดินชม ตุ๊กตาจีน ที่มีทั้งสลักจากหินและปูนปั้นอยู่ภายในวัดเป็นจำนวนมาก มีหลายรูปแบบทั้งแบบเช่นใส่ชุดงิ้วที่รักษาหน้าประตูทุกประตูทรงซุ้มมงกุฏ (ชื่อ ลั่นถัน นายทวารบาล) ตุ๊กตาจีนแต่งกายแบบฝรั่ง หรือชุดสามัญชน ตุ๊กตาผู้หญิง หรือท่านจะเดินสำรวจไปจนถึงเขาฤาษีดัดตนที่มีรูปปั้นฤาษีดัดตนเป็นท่านต่าง ๆ และวัดแห่งนี้ยังเป็นแหล่งประสิทธิ์ประสาทวิชาทางแพทย์แผนไทยอีกด้วย แต่เพียงเท่านี้ยังไม่ใช่ทั้งหมดภายในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม จึงขอเชิญชวนทุกท่านให้ได้ไปสัมผัสกับความงดงามด้วยตนเองสักครั้งหนึ่ง

การเดินทาง
วัดโพธิ์ ตั้งอยู่ริมถนนสนามไชยและถนนมหาราช ติดกับพระบรมมหาราชวัง เปิดให้เข้าชมทุกวัน ระหว่างเวลา ๐๘.๐๐ – ๑๗.๐๐ น. ชาวต่างชาติจะต้องซื้อบัตรเข้าชมคนละ ๕๐ บาท สำหรับนักท่องเที่ยวต้องแต่งกายสุภาพ สุภาพสตรีห้ามสวมกางเกงขาสั้นเหนือเข่าเข้าไปเที่ยวชม
สำหรับศูนย์การศึกษาต่างๆ ที่ต้องการจะนำนักศึกษามาทัศนะศึกษา ณ วัดโพธิ์ กรุณาทำหนังสือแจ้งทางวัด เพื่อจะได้รับความสะดวกในเรื่องสถานที่ ข้อมูล และพระวิทยากรที่จะนำทัศนศึกษา หรือสอบถามข้อมูลได้ที่ โทร.๐-๒๒๒๖-๐๓๓๕, ๒๒๕-๙๕๙๕, ๒๒๑-๙๔๔๙
โทรสาร ๐-๒๒๒๖-๐๓๗๐, ๒๒๒-๙๗๗๙
และพุทธศาสนิกชนที่ต้องการมาทำบุญที่วัดโพธิ์ เช่น ติดต่อทำบุญถวายเพลพระ, ถวายสังฆทาน, บังสุกุลอัฐิญาติฯลฯ ท่านสามารถติดต่อได้ที่แผนกบำเพ็ญกุศลวัดพระเชตุพน ซึ่งมีสำนักงานไว้คอยบริการที่เขตพุทธาวาสใกล้เขาฤษีดัดตนหรือติดต่อสอบถามที่ โทร. ๐ – ๒ ๒๒๑-๔๘๔๓, ๒๒๒ – ๘๖๘๐

ขอขอบคุณ http://www.thongteaw.com/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .