ประวัติและความสำคัญของวัดบรมพุทธาราม

วัดบรมพุทธาราม เป็นวัดขนาดเล็กมีฐานะเป็นพระอารามหลวงฝ่ายคามวาสีครั้งกรุงศรีอยุธยา(๒) และเป็นที่สถิตของพระราชาคณะที่มีฐานานุศักดิ์เป็นพระญาณสมโพธิ์ ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาระบุว่า สมเด็จพระเพทราชาโปรดฯ ให้สร้างวัดนี้ขึ้นในบริเวณย่านป่าตองอันเป็นนิวาสสถานเดิม เมื่อ พ.ศ. ๒๒๓๒(๓) โดยโปรดฯ ให้สถาปนากำแพงแก้ว พระอุโบสถ วิหาร การเปรียญ เสนาสนะ กุฎี และให้หมื่นจันทราช่างเคลือบให้เคลือบกระเบื้องสีเหลืองมุงหลังคาพระอุโบสถ วิหาร การเปรียญ สร้างอยู่ ๒ ปี จึงเสร็จ ถวายนามพระอารามชื่อว่า “วัดบรมพุทธาราม” แล้วสมโภชฉลอง ๓ วัน ๓ คืน เจ้าอธิการซึ่งนิมนต์เข้ามาอยู่นั้นตั้งให้เป็นพระราชาคณะชื่อ “พระญาณสมโพธิ” ทรงพระราชูทิศเป็นพระรัตนตรัยบูชา พระราชกัลปนาส่วยขึ้นพระอารามเป็นอันมาก มีแห่พระยุหยาตรากฐินหลวง นาคหลวง สระสนาน ช้าง ม้า ที่มีเป็นการพิเศษ
เนื่องจากวัดนี้เคยเป็นพระอารามหลวงครั้งกรุงศรีอยุธยา และพระอุโบสถ วิหาร การเปรียญ มุงหลังคาด้วยกระเบื้องเคลือบแปลกประหลาดกว่าวัดอื่น จึงเรียกกันเป็นสามัญว่า “วัดกระเบื้องเคลือบ” การมุงหลังคาด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลืองแกมเขียวนี้ ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดฯ ให้มุงหลังคาพระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท ในพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ และวิหารหลวงในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี เมื่อสมเด็จพระเพทราชาเป็นเจ้ากรมช้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชอยู่ที่พระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ คงเห็นหลังคากระเบื้องเคลือบสีเหลืองสวยงามดี จึงให้มุงหลังคากระเบื้องเคลือบที่วัดบรมพุทธารามนี้บ้าง
ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ เมื่อ พ.ศ. ๒๒๙๗ โปรดฯ ให้ซ่อมวัดนี้ครั้งหนึ่งและโปรดให้ทำบานประตูประดับมุกสำหรับพระอุโบสถ บานประตูมุกนี้ปัจจุบันอยู่ที่หอมณเฑียรธรรม วัดพระศรีรัตนศาสดารามบานหนึ่ง วัดเบญจมบพิตรบานหนึ่ง และมีผู้ลักตัดเอาไปทำตู้หนังสือบานหนึ่ง ตู้ใบนี้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงได้ตู้ใบนี้มาและประทานแก่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ต่อมาสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงให้ย้ายไปประกอบเป็นบานประตูหอมณเฑียรธรรม คือ ประตูกลางด้านตะวันตก ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ทางราชการได้ทำการฟื้นฟูบูรณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากรได้ทำการขุดแต่งโบราณสถานวัดบรมพุทธาราม เพื่อตรวจค้นหารากฐานเดิมบริเวณวัดได้พบกระเบื้องเคลือบสีเหลือง รูปครุฑ หน้าสิงห์ รูปเทพพนม เคลือบสีเหลืองแกมเขียว ซึ่งเดิมคงติดประดับอยู่ที่พระเจดีย์ซุ้มประตูหน้าพระอุโบสถ ซึ่งโบราณวัตถุประเภทเคลือบสีเหลืองแกมเขียวนี้พบได้ในโบราณสถานหลายแห่งในเขตเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาและบริเวณใกล้เคียง กล่าวคือ พระเจดีย์ย่อเหลี่ยมเคลือบสีเหลืองแกมเขียวขนาดเล็กที่วัดธรรมมิกราช กระเบื้องเคลือบสีเหลืองข้างพระอุโบสถวัดกุฎีดาว และพระขุนแผนเคลือบซึ่งเป็นพระพิมพ์ พระพุทธรูปดินเผาเคลือบสีเหลืองแกมเขียว ปางมารวิชัย มีซุ้มเรือนแก้ว สมัยอยุธยา อันเป็นพระเครื่องจากกรุในพระเจดีย์ชัยมงคล ณ วัดใหญ่ชัยมงคล ซึ่งสร้างในรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งจากการสังเกตดูลักษณะครุฑ หน้าสิงห์ เทพพนม พระเจดีย์เล็ก และพระเครื่องขุนแผนดังกล่าวแสดงให้เห็นลวดลายว่าเป็นฝีมือช่างไทยเป็นศิลปะอยุธยา อันแสดงให้เห็นรูปแบบและเทคนิคในทางการช่างในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลายว่านิยมทำสิ่งของเครื่องใช้ประเภทเครื่องเคลือบสีเหลืองแกมเขียวด้วย
ในปัจจุบันวัดบรมพุทธารามเป็นวัดร้าง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๖๐ ตอนที่ ๓๙ เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๖(๔)

๑.๓ การแบ่งยุคสมัยของโบราณสถาน
ลำดับและอายุสมัยของสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ภายในวัดบรมพุทธาราม สามารถแบ่งออกได้อย่างคร่าว ๆ เป็น ๒ ช่วง ด้วยกันคือ สมัยที่ ๑ คือ ในช่วงแรกของการสร้างวัดสมัยสมเด็จพระเพทราชา เมื่อปี พ.ศ. ๒๒๒๓ และสมัยที่ ๒ คือ ช่วงของการปฏิสังขรณ์ซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าในสมัยใด ซึ่งสันนิษฐานว่าวัดบรมพุทธารามภายหลังการสร้างแล้วน่าจะได้รับการใช้งานและปฏิสังขรณ์เรื่อยมาจนกระทั่งเสียกรุงศรีอยุธยา ปี พ.ศ. ๒๓๑๐ จึงได้กลายเป็นวัดร้างมาจนปัจจุบัน
สมัยที่ ๑ สมัยสมเด็จพระเพทราชา (อยุธยาตอนปลาย)
ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาระบุว่า สมเด็จพระเพทราชาโปรดฯ ให้สร้างวัดนี้ขึ้นในบริเวณย่านป่าตองอันเป็นนิวาสสถานเดิม เมื่อ พ.ศ. ๒๒๓๒(๕) โดยโปรดฯ ให้สถาปนากำแพงแก้ว พระอุโบสถ วิหาร การเปรียญ เสนาสนะ กุฎี และให้หมื่นจันทราช่างเคลือบให้เคลือบกระเบื้องสีเหลืองมุงหลังคาพระอุโบสถ วิหาร การเปรียญ ถึงแม้ในพระราชพงศาวดารจะไม่ระบุว่ามีการสร้างเจดีย์ภายในวัด แต่จากการศึกษารูปแบบสถาปัตยกรรม พบว่าพระปรางค์ที่ตั้งอยู่ทางด้านหน้าพระอุโบสถนั้นมีรูปแบบการสร้างอยู่ในสมัยเดียวกันกับสถาปัตยกรรมครั้งแรกสร้าง คือ สมัยสมเด็จพระเพทราชา พื้นที่ของวัดบรมพุทธารามไม่ปรากฏแนวกำแพงเป็นขอบเขตของวัด(๖) มีเพียงร่องรอยของแนวกำแพงแก้วที่ล้อมรอบพระอุโบสถไว้เท่านั้น หลักฐานทางด้านสถาปัตยกรรมที่เหลืออยู่ภายในวัดในปัจจุบัน ได้แก่

๑. พระอุโบสถ (โบราณสถานหมายเลข ๑) มีลักษณะเป็นอาคารที่มีมุขโถงทางด้านหน้าและหลังรองรับหลังคามุขด้วยเสาย่อมุมไม้สิบสอง ๒ ต้นบนฐานมุข ตัวอาคารมีการเจาะช่องหน้าต่างทุกห้อง ฐานอาคารแอ่นโค้งแบบสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย ซึ่งสอดคล้องกับลักษณะของใบเสมาซึ่งมีลักษณะเป็นใบเสมาหินทรายขนาดเล็ก มีตัวเหงากระหนกตรงเอวเสมาที่ยังไม่เป็นกาบสูงเหมือนเสมารุ่นหลัง และมีแถบเส้นกลางขนาดใหญ่เท่าขอบเสมา แบบใบเสมาอยุธยาตอนปลายรุ่นแรก(๗)
โดยรอบพระอุโบสถมีแนวกำแพงแก้วเตี้ย ๆ ล้อมรอบอาคาร โดยวงรอบแท่นฐานใบเสมาไว้ด้วย นอกจากนี้ยังมีการเจาะช่องรูปกากบาทประดับบริเวณผนังกำแพงแก้ว ซึ่งพบมากในงานช่วงสมัยอยุธยาตอนปลาย ลักษณะของการเจาะช่องรูปกากบาทบนผนังกำแพงดังกล่าวมีลักษณะเช่นเดียวกันกับผนังระเบียงบนฐานเจดีย์ย่อมุม (โบราณสถานหมายเลข ๓) ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจได้รับการสร้างขึ้นเพิ่มเติมภายหลัง ดังนั้นจึงอาจสรุปข้อสันนิษฐานได้ว่าแนวกำแพงที่ล้อมรอบพระอุโบสถนั้นอาจเป็นต้นแบบให้กับเจดีย์ย่อมุมที่สร้างขึ้นเพิ่มเติมในภายหลัง หรือแนวกำแพงแก้วที่ล้อมรอบพระอุโบสถนั้นได้รับการสร้างขึ้นเพิ่มเติมภายหลัง
๒. ปรางค์ราย (โบราณสถานหมายเลข ๒) เป็นปรางค์ขนาดย่อม ทางด้านหน้าของพระอุโบสถเหลือหลักฐานเพียงส่วนฐานและยอดปรางค์ที่ตกอยู่ใกล้เคียงกัน มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงปรางค์ขนาดเล็ก ส่วนฐานประกอบด้วยฐานสิงห์ ๑ ฐานรองรับชุดชั้นคล้ายรัดประคด เช่นเดียวกับปรางค์วัดพระยาแมนที่สร้างในรัชกาลเดียวกัน คือ รัชกาลสมเด็จพระเพทราชา และยังสืบทอดไปสู่ปรางค์วัดโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร ซึ่งสร้างต่อมาในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเสือ(๘)
* ได้รับการบูรณะพระปรางค์แล้ว โดยจะเป็นการยกส่วนยอดขององค์ปรางค์ที่หักตกลงมาอยู่ที่พื้นด้านข้างฐานของพระปรางค์ให้ขึ้นไปต่อไว้เหมือนเดิม โดยการก่ออิฐเสริมส่วนของเรือนธาตุที่หักหายไปให้ได้สัดส่วนเหมาะสม แล้วจึงยกส่วนของยอดปรางค์ที่ทำการเสริมความมั่นคงแล้วขึ้นไปติดตั้งยังตำแหน่งเดิม
๓. เจดีย์ย่อมุม (โบราณสถานหมายเลข ๓) เจดีย์ฐานย่อมุมที่ตั้งอยู่ทางด้านหน้าของปรางค์ขนาดย่อม ไม่ทราบลักษณะของเจดีย์ที่แน่ชัด เนื่องจากเหลือหลักฐานเพียงส่วนฐานเจดีย์ที่มีการย่อมุม สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเจดีย์ย่อมุมที่สร้างขึ้นเพิ่มเติมภายหลัง โดยน่าจะสร้างขึ้นราวรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเสือซึ่งเป็นช่วงที่นิยมสร้างเจดีย์ย่อมุมคู่กันภายในแผนผัง ดังเช่นที่พบ ณ วัดพระยาแมน วัดวรเชษฐาราม (ในเมือง) และวัดโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร หรือเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นในเมื่อแรกสร้างวัด แต่เนื่องจากรูปแบบขององค์เจดีย์มีลักษณะแตกต่างกันกับพระปรางค์ที่ตั้งอยู่ใกล้กับพระอุโบสถ จึงทำให้สันนิษฐานไปได้ว่าเจดีย์ย่อมุมนี้อาจสร้างขึ้นภายหลัง ไม่พร้อมกับการสร้างพระปรางค์

๔. วิหาร (โบราณสถานหมายเลข ๔) ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของเจดีย์หมายเลข ๒ ไม่ทราบลักษณะอาคารที่ชัดเจน เนื่องจากอาคารมีสภาพที่พังทลายมาก จากตำแหน่งที่ตั้งของอาคารที่เกินจากแผนผังสมมาตร ทำให้สันนิษฐานได้ว่าอาจได้รับการสร้างขึ้นเพิ่มเติมภายหลังรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา
แต่จากการขุดแต่งโบราณสถานก่อนการทำการบูรณะพบว่า อาคารดังกล่าวสร้างซ้อนทับอยู่บนรากฐานอิฐ ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของอาคาร เพราะพบหลักฐานของเสาหัวเม็ดทรงมัณฑ์ราวบันไดทางด้านทิศเหนือกึ่งกลางอาคาร ซึ่งรากฐานอาคารที่อยู่ภายใต้วิหารปัจจุบันนั้น อาจเป็นวิหารหลังเดิมในสมัยครั้งแรกสร้างวัด หรือเป็นอาคารอื่นซึ่งไม่ทราบประโยชน์ใช้สอยที่ชัดเจน ต่อมาภายหลังเมื่อคราวบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ อาคารหลังเดิมคงชำรุดมากจึงได้สร้างวิหารหลังใหม่ทับลงบนรากฐานของอาคารเดิม
วิหารหลังที่สร้างอยู่ด้านบนมีลักษณะเป็นอาคารที่มีมุขหน้า – หลัง เช่นเดียวกับพระอุโบสถ แต่ไม่ปรากฏร่องรอยของแนวเสาบริเวณมุข และเนื่องจากผนังอาคารได้พังทลายลง ทำให้ไม่สามารถทราบจำนวนและตำแหน่งของหน้าต่างและช่องประตูได้ชัดเจนนัก แต่ผนังทางด้านทิศตะวันออก – ตะวันตก นั้นมีร่องรอยการเจาะช่องประตูที่ผนังใกล้กับผนังด้านทิศเหนือ จึงพอสันนิษฐานได้ว่าวิหารหลังนี้มีการทำบันไดขึ้น – ลงทางด้านข้างของอาคาร และภายหลังการขุดตรวจบริเวณด้านทิศเหนือของอาคาร ยังได้พบพื้นลานวัดซึ่งเป็นอิฐดาดปูนโดยรอบ ส่วนภายในอาคารนั้นไม่ปรากฏหลักฐานตำแหน่งของฐานชุกชีที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประธานภายในวิหาร ทำให้ไม่สามารถกำหนดทิศทางการจัดวางอาคารได้อย่างชัดเจนว่าหันหน้าไปสู่ทิศทางใด
สมัยที่ ๒ ช่วงของการปฏิสังขรณ์สมัยอยุธยาตอนปลาย ภายหลังการสร้างวัด
จากการขุดตรวจก่อนบูรณะโบราณสถานวัดบรมพุทธาราม พบว่าอาคารที่เห็นได้ชัดเจนว่าได้รับการสร้างขึ้นเพิ่มเติมในสมัยหลังการสร้างวัดครั้งแรก คือ วิหาร (โบราณสถานหมายเลข ๔) ที่ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของเจดีย์หมายเลข ๒ หลังที่เห็นอยู่ในปัจจุบันซึ่งเป็นการสร้างซ้อนทับบนรากฐานของอาคารอีกหลังหนึ่งไว้ ส่วนงานบูรณปฏิสังขรณ์สถาปัตยกรรมอื่น ๆ นั้นไม่ปรากฏหลักฐานให้เห็นชัดเจนนักน่าจะเป็นงานบูรณะซ่อมแซมหรือเสริมความมั่นคงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยไม่ได้ทำให้รูปทรงทางสถาปัตยกรรมเปลี่ยนแปลงไป

สรุปการดำเนินงานบูรณะและปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์โบราณสถานวัดบรมพุทธาราม เป็นการบูรณะแบบแนวทางการอนุรักษ์ คือ รักษาสภาพเดิมให้คงอยู่มากที่สุด พร้อมกับเสริมความมั่นคงแข็งแรงให้กับโบราณสถานนั้น ซึ่งมีทั้งหมด ๔ องค์ คือ พระอุโบสถ (โบราณสถานหมายเลข ๑) , พระปรางค์ (โบราณสถานหมายเลข ๒) , เจดีย์ย่อมุม (โบราณสถานหมายเลข ๓) , และพระวิหาร (โบราณสถานหมายเลข ๔) รวมทั้งแนวกำแพงแก้ว และกำแพงวัดบางส่วน โดยจะเป็นการก่ออิฐเสริมในส่วนที่ชำรุด ตามหลักฐานเดิมปรากฏ โดยอยู่ในความควบคุมของนักโบราณคดี (สำนักศิลปากรที่ ๓ พระนครศรีอยุธยา) อย่างเคร่งครัด และการดำเนินงานทุกขั้นตอนได้รับการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญไม่ว่าจะเป็นนักโบราณคดี วิศวกร สถาปนิก และภูมิสถาปนิก เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นกับโบราณสถานอันเป็นมรดกของชาติ
ที่มา : ห้างหุ้นส่วนจำกัดบุญพิสุทธิ์. รายงานการบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์โบราณสถานวัดบรมพุทธาราม ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปีงบประมาณ 2544. ควบคุมการดำเนินงานโดย สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 3 พระนครศรีอยุธยา (ห้องสมุดสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา).
คลองประตูฉะไกรน้อย
เป็นประตูน้ำอยู่ฝั่งตรงข้ามกับปากคลองคูจาม ประตูน้ำนี้ไปเชื่อมกับคลองประตูเทพหมี (เทษหมี) และคลองประตูจีนทางด้านตะวันออก ปัจจุบันถูกถมจมไม่เหลือร่องรอยแล้ว ตัวคลองอยู่ในบริเวณสถาบันราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ที่ประตูช่องกุดนี้มีท่าเรือจ้างข้ามฟากไปวัดทาราม (ที่มา : อุทยานประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา. กำแพงเมือง ป้อม ประตู สมัยโบราณกรุงศรีอยุธยา. ๒๕๔๕,หน้า ๓๙)
จากการตรวจสอบหลักฐานที่กล่าวไว้ในคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรมกับแผนที่ของวิศวกรชาวฝรั่งเศส ชื่อ ฟรองซัว สำรวจในปี ค.ศ. ๑๖๘๗ (พ.ศ. ๒๒๓๐) แผนที่ของแกมเฟอร์ ค.ศ. ๑๖๙๐ – ๑๖๙๒ (พ.ศ. ๒๒๓๓ – ๒๒๓๕) และแผนที่พระนครศรีอยุธยา ฉบับพระยาโบราณราชธานินทร์ พ.ศ. ๒๔๖๙ แล้วพบว่า คลองน้ำนี้มีอยู่จริงแต่อยู่มาทางตะวันออกของประตูไชยซึ่งเป็นประตูบก เพียงแต่ในแผนที่ฉบับอื่น ๆ ยกเว้นฉบับของพระยาโบราณราชธานินทร์ ที่แสดงให้เห็นแนวถนนประตูไชยที่ยาวมาถึงกำแพงเมือง
ในจดหมายเหตุของคณะพ่อค้าฝรั่งเศส ภาค ๗(๙) ได้กล่าวถึงขบวนแห่พระราชสาสน์ของพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสที่เข้ามาเจริญพระราชไมตรีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชตอนหนึ่งว่า “ครั้นได้มาถึงกรุงศรีอยุธยา ปืนใหญ่ในพระนครก็ได้ยิงสลุต พอปืนในพระนครได้ยิงจบแล้ว เรือเซนต์หลุยกับที่ห้างของบริษัทก็ได้ยิงปืนใหญ่สลุตเหมือนกัน กระบวนเรือจึงได้เลี้ยวเข้าคลอง ซึ่งมีถนนใหญ่มาตกที่คลองสายหนึ่ง และเป็นถนนในระหว่างคลองทะลุถึงพระราชวังของพระเจ้ากรุงสยามทีเดียว
เมื่อเราได้ขึ้นจากเรือแล้ว ได้เห็นราชรถคันหนึ่งปิดทองอร่ามทั้งคัน บนราชรถนั้นมีบุษบก
ทำรูปคล้าย ๆ พระโธรน สำหรับประดิษฐานพระราชสาส์นเข้าไปในพระราชวัง
Image
สะพานข้ามคลองฉะไกรน้อย
เมื่อเรือได้เทียบท่าที่ริมถนนใหญ่แล้ว เราจึงได้ขึ้นจากเรือ เราจึงได้ไปเชิญพระราชสาส์นออกจากเรือพระที่นั่ง แล้วได้เชิญพระราชสาส์นมาประดิษฐานลงบนบุษบก ซึ่งขุนนางไทยได้แบกหามไปจนถึงราชรถ จึงเชิญพระราชสาส์นออกจากบุษบกขึ้นตั้งประดิษฐานบนราชรถต่อไป รอบราชรถนี้มีขุนนางข้าราชการไทยถือฉัตรหลายชั้น และมีผู้คนเป็นอันมากจนนับจำนวนไม่ถ้วน ต่างถวายบังคมพระราชสาส์นด้วยกันทั้งสิ้น”
จากบันทึกของคณะราชทูตฝรั่งเศสดังกล่าว ทำให้เห็นได้ว่า คลองฉะไกรน้อยคลองนี้จะมีความสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องกับประตูไชย จนเกิดความสับสนในการเรียกชื่อกันขึ้นดังกล่าวมาแล้วข้างต้น (ที่มา : อุทยานประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา. คลองและท่าเรือจ้างสมัยโบราณกรุงศรีอยุธยา. ๒๕๔๕,หน้า ๔๒-๔๓)
ขอขอบคุณ http://www.ayutthayastudies.aru.ac.th/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .