วัดบรมพุทธาราม นิวาสถานเดิมสมเด็จพระเพทราชา

IMG_9400

วัดบรมพุทธาราม จ.พระนครศรีอยุธยา หรือ วัดกระเบื้องเคลือบ เป็นวัดเก่าที่ สมเด็จพระเพทราชา โปรด ฯ ให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2226 เมื่อครั้งยังรับราชการกรมช้าง ในบริเวณย่านป่าตอง อันเป็นนิวาสเดิมก่อนที่พระองค์จะขึ้นครองราชย์ โดยวัดได้มีฐานะเป็นพระอารามหลวงในเวลาต่อมา อีกทั้งยังเป็นที่จำพรรษาของพระราชาคณะ

ศาสนสถานที่สร้างขึ้นนั้น โปรด ฯ ให้หมื่นจันทรา ช่างเคลือบกระเบื้องสี มุงหลังคาด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลือง ทั้งพระอุโบสถ พระวิหาร ศาลาการเปรียญ ซึ่งแตกต่างจากวัดอื่น อันเป็นที่มาของนามวัด
ต่อมารัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ เมื่อปี พ.ศ. 2295 โปรดฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์วัด และโปรดให้ทำบานประตูประดับมุกสำหรับพระอุโบสถ ซึ่งบานประตูดังกล่าวปัจจุบันอยู่ ณ หอมณเฑียรธรรม วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) คู่หนึ่ง วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามคู่หนึ่ง ส่วนอีกคู่หนึ่งได้ถูกลักลอบตัดไปทำตู้หนังสือและติดตามคืนมาได้ ปัจจุบันได้เก็บรักษา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ศาสนสถานและโบราณวัตถุภายในวัดบรมพุทธาราม ประกอบด้วย
พระอุโบสถ อันเป็นประธานของวัด ตั้งอยู่บนฐานแอ่นโค้งแบบเรือสำเภา ซึ่งเป็นศิลปะอยุธยาตอนปลาย มีมุขโถงด้านหน้าและหลังของพระอุโบสถ ด้านหน้ามีประตู 3 ช่อง ด้านหลังมีช่องประตู 2 ช่อง ด้านข้างมีช่องหน้า ที่ประดับด้วยบันแถลง ภายในประดิษฐานพระพุธรูปหินทรายถือปูน ปางมารวิชัยเป็นประธาน
พระวิหาร ตั้งอยู่ด้านข้างพระอุโบสถ ปรากฏเฉพาะส่วนของฐานและผนัง
ปรางค์เจดีย์ ตั้งอยู่ด้านหน้าพระอุโบสถ เป็นปรางค์ย่อมุมไม้ยี่สิบแปด ฐานล่างประดับลายแข้งสิงห์ ส่วนบนมีซุ้มเรือนธาตุทั้งสี่ด้าน

เจดีย์ย่อมุม ตั้งอยู่ด้านหน้าปรางค์เจดีย์ ฐานล่างย่อมุมไม้สิบสอง ด้านหน้ามีบันไดทางขึ้น ส่วนบนเป็นฐานเจดีย์ ที่ประดับด้วยลวดบัวและลายแข้งสิงห์ โดยส่วนยอดได้ทลายลงไป
พระอุโบสถ เป็นประธานของวัด ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว เหนือช่องหน้าต่างประดับด้วยซุ้มบันแถลง มีมุขโถงทั้งด้านหน้าและหลังพระอุโบสถ ประตูยอดปราสาท ซึ่งเป็นประตูกลางประตูซุ้มบันแถลง ที่อยู่ด้านข้างทั้งสอง พระวิหาร มีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง

ปัจจุบันวัดบรมพุทธาราม ตั้งอยู่ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยาในเขตของสถาบันราชภัฏพระนครศรีอยุธยา บนพื้นที่กึ่งกลางค่อนไปทางทิศใต้ของเกาะเมือง ริมถนนศรีสรรเพชญ์ (ถนนมหารัฐยาหรือถนนป่าตอง) ฟากตะวันออก ใกล้ประตูชัยซึ่งเป็นประตูใหญ่บนแนวกำแพงเมืองด้านใต้

ขอขอบคุณ http://weloveayutthaya.com/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .