วัดบรมพุทธาราม และ พระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาท

large_b1

ศุนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา จัดตั้งขึ้นตามโครงการที่นักวิชาการไทยและนักวิชาการญี่ปุ่นปรับขยายมาจากข้อเสนอเดิมของสมาคมไทย-ญี่ปุ่นและจังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งเคยเสนอปรับปรุงบริเวณที่เคยเป็นหมู่บ้านญี่ปุ่นให้จัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์หมู่บ้านญี่ปุ่น มาเป็นการเสนอให้จัดตั้งเป็นศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยาซึ่งจะทำหน้าที่เป็นสถาบันวิจัยและพิพิธภัณฑสถานเกี่ยวกับราชอาณาจักรอยุธยาโดยรวม และได้รับงบประมาณช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นเงิน ๙๙๙ ล้านเยน เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติในพระบรมราชวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๖๐ พรรษา และเพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสที่มิตรภาพระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับราชอาณาจักรไทยได้สถาวรยืนนานมาครบ ๑๐๐ ปี

วัดบรมพุทธาราม อยู่ภายในบริเวณสถาบันราชภัฏพระนครศรีอยุธยา หรือที่ชาวบ้านเรียกกันทั่วไปว่า “วัดกระเบื้องเคลือบ” เพราะแต่เดิมนั้นพระอุโบสถมุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลืองแกมเขียว วัดนี้สมเด็จพระเพทราชาทรงสร้างขึ้นที่บริเวณพระนิเวศน์เดิม

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ตั้งอยู่ที่ตำบลประตูชัย ถนนโรจนะ ตรงข้ามกับสถาบันราชภัฏพระนครศรีอยุธยา หากมาจากกรุงเทพฯ เข้าตัวเมืองอยุธยา จากนั้นข้ามสะพานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แล้วตรงไปประมาณ ๒ ไฟแดง ไปอีกไม่ไกลนักจะเห็นพิพิธภัณฑ์อยู่ทางขวามือ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้สร้างขึ้นด้วยเงินที่ประชาชนเช่าพระพิมพ์ที่ขุดได้จากกรุวัดราชบูรณะซึ่งเป็นวัดที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) ทรงสร้าง จึงให้ชื่อว่า “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๐๔

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยาเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งแรกในประเทศไทย ที่มีรูปแบบการจัดแสดงแบบใหม่คือ นำโบราณวัตถุมาจัดแสดงจำนวนไม่มากจนเกินไปและใช้แสงสีมาทำให้การนำเสนอดูน่าสนใจ สิ่งสำคัญที่น่าชมภายในพิพิธภัณฑ์ได้แก่

พระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาท เป็นพระพุทธรูปศิลาขาวสมัยทวาราวดี ในท่าประทับนั่งห้อยพระบาทซึ่งเคยประดิษฐานในซุ้มพระสถูปโบราณวัดพระเมรุ จังหวัดนครปฐม กรมศิลปากรได้พยายามติดตามชิ้นส่วนต่างๆ ขององค์พระที่กระจัดกระจายไปอยู่ในที่ต่างๆ มาประกอบขึ้นเป็นองค์พระได้อย่างสมบูรณ์ นับเป็นพระพุทธรูปที่มีค่ามากองค์หนึ่งซึ่งในโลกพบเพียง ๖ องค์เท่านั้น คือในประเทศไทย ๕ องค์และในประเทศอินโดนีเซีย ๑ องค์ ในประเทศไทยอยู่ที่วัดพระปฐมเจดีย์ ๒ องค์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ๑ องค์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ๑ องค์และวัดหน้าพระเมรุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ๑ องค์

ศียรพระพุทธรูปสมัยอู่ทอง ทำด้วยสัมฤทธิ์มีขนาดใหญ่มากได้มาจากวัดธรรมมิกราช แสดงให้เห็นถึงความเก่าแก่ของวัดและฝีมือการหล่อวัตถุขนาดใหญ่ในสมัยโบราณ

นอกจากนี้ยังมีโบราณวัตถุที่ขุดพบอีกมากมาย โดยเฉพาะที่ขุดได้จากกรุวัดราชบูรณะรวบรวมไว้ในห้องมหรรฆภัณฑ์ มีเครื่องราชูปโภคทองคำ ทองกร พาหุรัด ทับทรวง เครื่องประดับเศียรสำหรับชายและหญิง พระแสงดาบฝักทองคำประดับพลอยสีต่างๆเป็นต้น แสดงให้เห็นความรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยาในอดีตไว้อย่างน่าชมน่าศึกษา พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดให้เข้าชมวันพุธ-วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ น. ปิดวันจันทร์ วันอังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์ อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย ๑๐ บาท ชาวต่างประเทศ ๓๐ บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. (๐๓๕) ๒๔๑๕๘๗

คุ้มขุนแผน ตั้งอยู่ที่ถนนป่าโทน เป็นตัวอย่างของหมู่เรือนไทยภาคกลาง ในรูปแบบเรือนคหบดีไทยสมัยโบราณ เดิมเป็นจวนสมุหเทศาภิบาล มณฑลกรุงเก่า พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนมรุพงศ์สิริพัฒน์ทรงสร้างขึ้นในปีพ.ศ.๒๔๓๗ที่เกาะลอยบริเวณสะพานเกลือซึ่งอยู่ตรงข้ามกับที่ว่าการมณฑล ต่อมาในราวปีพ.ศ. ๒๔๘๓ ปรีดี พนมยงค์นายรัฐบุรุษอาวุโสได้ย้ายจวนหลังนี้มาสร้างในบริเวณคุกนครบาลเก่าของพระนครศรีอยุธยา พร้อมทั้งสร้างเรือนไทยเพิ่มขึ้นอีกในปีพ.ศ.๒๔๙๙ และให้ชื่อเรือนไทยนี้ว่าคุ้มขุนแผน ซึ่งเชื่อกันว่าขุนแผนเคยต้องโทษอยู่ในคุกแห่งนี้ การเดินทาง หากมาจากกรุงเทพฯ เข้าตัวเมืองอยุธยาแล้วให้ข้ามสะพานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชตรงไปจนถึงศาลากลางจังหวัดหลังเดิม จะเห็นสามแยกแล้วเลี้ยวขวาตรงไปไม่ไกลนักจะเห็นคุ้มขุนแผนอยู่ทางซ้ายมือ

วิหารพระมงคลบพิตร ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของวัดพระศรีสรรเพชญ์ ใช้เส้นทางเดียวกับทางไปคุ้มขุนแผน วิหารพระมงคลบพิตรจะอยู่ถัดไปไม่ไกลนัก พระมงคลบพิตรเป็นพระพุทธรูปบุสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย มีขนาดหน้าตักกว้าง ๙.๕๕ เมตรและสูง ๑๒.๔๕ เมตร นับเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่องค์หนึ่งในประเทศไทย ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างในสมัยใด สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ราวแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมื่อพ.ศ.๒๑๔๕สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมโปรดเกล้าฯให้ย้ายจากทิศตะวันออกนอกพระราชวังมาไว้ทางด้านทิศตะวันตกที่ประดิษฐานอยู่ในปัจจุบัน และโปรดเกล้าฯให้ก่อมณฑปสวมไว้ ในสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ ผ่าลงมาไหม้เครื่องบนพระมณฑปเกิดไฟไหม้ทำให้ส่วนบนขององค์พระมงคลบพิตรเสียหายจึงโปรดเกล้าฯให้ซ่อมแซมใหม่ แปลงหลังคายอดมณฑปเป็นหลังคาพระวิหารธรรมดาแทน ในคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ วิหารพระมงคลบพิตรถูกไฟไหม้ รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯให้การปฏิสังขรณ์ใหม่ สำหรับบริเวณข้างวิหารพระมงคลบพิตรทางด้านทิศตะวันออกแต่เดิมเป็นสนามหลวง ใช้เป็นที่สำหรับสร้างพระเมรุพระบรมศพของพระมหากษัตริย์และเจ้านายเช่นเดียวกับท้องสนามหลวงของกรุงเทพฯ

ขอขอบคุณ http://www.l3nr.org/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .