ตำนานวัดพระศรีสรรเพชญ์และพระมงคลบพิตร

ตำนานในประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่มีการเล่าขานสืบต่อๆกันมาตั้งแต่ในอดีตบางตำนานก็ยังคงอยู่จนถึงปัจจุบันและบางตำนานก็ได้รับการพิสูจน์ข้อเท็จจริงทำให้มีการพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ในหลายๆครั้งมาแล้ว

ตำนานที่ผมจะนำมาเล่าในคราวนี้ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับ “วัดพระศรีสรรเพชญ์” และ “พระมงคลบพิตร” หรือบางท่านก็เรียกว่าหลวงพ่อมงคลบพิตรบางท่านอาจจะได้อ่านเรื่องราวต่างๆมาบ้างแล้วและบางท่านก็ยังไม่ทราบผมจึงจะนำข้อเขียนในหนังสือเก่าที่มีผู้เขียนไว้มาเล่าสู่กันฟังครับ…

…วัดพระศรีสรรเพชญ์เป็นวัดในพระราชวัง ไม่มีพระสงฆ์ (ดังเช่นวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว) เป็นที่ข้าราชการประชุมกันรับพระราชทานน้ำพิพัฒน์สัตยา แต่แรกยกวังทำเป็นวัดในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ จะได้ทรงสร้างอะไรไว้บ้างก็ไม่ได้กล่าวถึง มาจนถึงแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ จุลศักราช ๘๓๖ ปีว่าได้ประดิษฐานพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถไว้ในพระมหาสถูป สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพระเจดีย์ใหญ่องค์หน้า หรือไม่ก็องค์กลาง ส่วนอีก ๒ องค์นั้นก็คงจะประดิษฐานพระอัฐิของพระเจ้าแผ่นดินเช่นกัน

ในแผ่นดินของสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถนั้น ทรงพระราชศรัทธาหล่อพระพุทธรูปขนาดใหญ่ สูงถึง ๘ วา (หน่วยความยาวของไทย ๒ คืบเป็น ๑ ศอก ๔ ศอกเป็น ๑ วา – ผู้เขียน) หุ้มทองคำทั้งพระองค์ ถวายพระนามว่า “พระศรีสรรเพชญ์”ประดิษฐานไว้ในพระวิหารใหญ่หลังกลาง

ครั้งเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาแตก พม่าได้เอาไฟสุมลอกทองคำพระพุทธรูปไปหมด ภายหลังผนังพระวิหารพังทับ องค์พระก็ชำรุดแตกร้าว ในสมัยรัชกาลที่ ๑ โปรดให้อัญเชิญพระศรีสรรเพชญ์ลงมากรุงเทพฯ จะทรงปฏิสังขรณ์ แต่ก็เหลือกำลังที่จะบูรณะปฏิสังขรณ์ได้ จึงอัญเชิญเข้าบรรจุไว้ในเจดีย์พระศรีสรรเพชญ์ วัดพระเชตุพนฯ

พระเจดีย์ต่างๆที่รายรอบพระศรีสรรเพชญ์นั้น ก็คงจะบรรจุพระอัฐิเจ้านายไว้ทุกพระองค์ ที่หลังพระระเบียงด้านตะวันตก มีมณฑปจตุรมุข ตามมุขทั้ง ๔ ประดิษฐานพระปาง กลางมณฑปก่อเป็นชั้นเหมือนพระเจดีย์ และมีช่องตามชั้นเข้าใจว่าสำหรับบรรจุพระอัฐิ ด้วยภายหลังที่จะสร้างพระเจดีย์เต็มหมดจนก่ออีกไม่ได้ จึงเชิญไปรวมบรรจุไว้ในมณฑปนั้น

เหตุที่สันนิษฐานว่า พระเจดีย์บรรจุพระอัฐิของเจ้านายทุกๆพระองค์ไว้ ก็ด้วยหลายปีมาแล้ว มีเจดีย์ขนาดเล็กองค์หนึ่ง ในวัดด้านทิศตะวันตก หักพังทลายลงไปถึงฐานที่พื้นดิน จึงลองขุดดูได้พบโกศดีบุกปิดทองบรรจุอัฐิเล็กๆไว้ เข้าใจว่าจะเป็นอัฐิเจ้านายที่ยังทรงพระเยาว์ ในตรงที่ตั้งโกศยังมีเบี้ยจั่นวางเรียงรายอยู่หลายสิบเบี้ย

ที่วิหารใหญ่มีท้ายจระนำ (หรือซุ้มจระนำ เป็นซุ้มคูหาท้ายวิหารหรือท้ายโบสถ์มักเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป – พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒)สำหรับเชิญพระบรมอัฐิพระเจ้าแผ่นดินหรือเจ้านายชั้นสูงเข้าไปประดิษฐานไว้ แต่มีนักประวัติศาสตร์บางท่านท้วงว่า อาจเป็นการเชิญเข้าไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะก่อสร้างพระเจดีย์เสร็จ จึงจะบรรจุเข้าไว้ในพระเจดีย์ทั้งหมด

หลังวัดพระศรีสรรเพชญ์ออกไป มีตึกหลังหนึ่งรูปทรงสัณฐานคล้ายโบสถ์ ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าต่อๆกันมาว่า ที่นั้นน่าจะเป็นที่ประทับของเจ้านายที่ทรงผนวช

ข้ามกำแพงวัดพระศรีสรรเพชญ์ด้านใต้มีพระวิหารใหญ่ ประดิษฐานพระมงคล-บพิตร เป็นพระพุทธรูปก่อด้วยอิฐเป็นแกน ข้างนอกหุ้มทองสำริด หน้าตักกว้าง ๔ วาเศษ

พระมงคลบพิตรองค์นี้ สันนิษฐานว่าเดิมน่าจะอยู่ทางทิศตะวันออก ใน แผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม เมื่อจุลศักราช ๙๖๕ ปี โปรดให้ชักมาไว้ในทิศตะวันตก คือที่ซึ่งประดิษฐานอยู่ทุกวันนี้ และโปรดให้ก่อพระมณฑปสวมไว้

จนถึงรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ จุลศักราช ๑๐๖๒ ปี อสนีบาตตกต้องยอด มณฑป ติดเป็นไฟไหม้ เครื่องบนมณฑปตกลงต้องพระเศียรพระพุทธรูปหักลงพื้น จึงโปรดให้ช่างจัดการรื้อและให้ก่อสร้างใหม่ แปลงเป็นพระมหาวิหารแต่ไม่ทันเสร็จในรัชกาลของพระองค์

ต่อมาถึงรัชกาลของสมเด็จพระบรมโกศ จึงโปรดให้ปฏิสังขรณ์ใหม่ และยกพระเศียรพระพุทธรูปขึ้นต่อกับพระองค์อีก พระมงคลบพิตรองค์นี้มีแต่เฉพาะพระวิหาร ในกฎมณเฑียรบาลเรียก ศาลาพระมงคลบพิตร หาใช่เป็นวัดวาอารามไม่…(เรียบเรียงจากหนังสือ“ตำนานกรุงเก่า”ในหน้า๗๔-๗๖ แต่งโดยพระยาโบราณราชธานินทรพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๔๕๐)

ต่อมาเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งสุดท้ายวิหารและพระพุทธรูปถูกไฟไหม้ชำรุดทรุดโทรมเครื่องบนพระวิหารหักลงมาต้องพระเมาฬีและพระกรข้างขวาหัก

ในปีพ.ศ. ๒๔๗๔สมัยพระยาโบราณราชธานินทร์ (ท่านเดียวกับที่เขียนหนังสือ “ตำนานกรุงเก่า” ที่ผู้เขียนนำมาอ้างถึง)ตำแหน่งสุมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยาคุณหญิงอมเรศร์สมบัติกับพวกได้ขอยื่นเรื่องซ่อมแซมพระวิหารแต่รัฐบาลไม่อนุญาตเนื่องจากต้องการที่จะรักษาตามแบบอย่างทางโบราณคดีโดยจะออกแบบให้ปูชนีย-สถานกลางแจ้งเหมือนไดบุซึของญี่ปุ่นแต่ด้วยเวลานั้นรัฐบาลยังไม่มีงบประมาณพร้อมในการดำเนินการ

จนถึงในปีพ.ศ. ๒๔๙๙ รัฐบาลสมัยจอมพลป.พิบูลสงครามจึงได้เริ่มการบูรณะปฏิสังขรณ์พระวิหารและองค์พระพุทธเสียใหม่ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ในคราวบูรณะพระมงคลบพิตรในปีพ.ศ. ๒๕๐๐ กรมศิลปากรได้พบพระพุทธรุปบรรจุไว้ในพระพาหา (แขน) เป็นจำนวนมากปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยาและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจันทรเกษม (ข้อมูล – วิกพีเดียวิหารพระมงคลบพิตร)

ขอขอบคุณ http://www.aecnews.co.th/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .