วิหารพระมงคลบพิตร

003

วิหารพระมงคลบพิตร ประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่มาก ซึ่งสะท้อนให้เห็นพลังความเชื่อทางศาสนาที่ไม่อาจจะแยกออกได้จากอุดมคติในทางสังคมและการเมือง ทั้งเป็นประจักษ์พยานถึงความรู้ในเรื่องเกี่ยวกับศาสตร์แห่งโลหะและความสามารถในการหล่อโลหะโดยเฉพาะสำริดซึ่งเป็นโลหะที่สำคัญที่สุดชนิดหนึ่งในสมัยอยุธยาด้วย
พระพุทธรูปสำริดของวิหารมงคลบพิตรนี้ไม่มีประวัติการสร้างว่าสร้างเมื่อใดและใครสร้าง แต่ทราบว่าต้นรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม ได้มีการชะลอเคลื่อนย้ายพระพุทธรูปจากตำแหน่งเดิมซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระวิหารในปัจจุบันประมาณ 200 เมตร ก่ออาคารรูปทรงมณฑปคลุมเอาไว้ เพราะต้องการพื้นที่เพื่อใช้สร้างพระเมรุถวายพระเพลิงพระบรมศพ
ยอดมณฑปของพระมงคลบพิตรถูกฟ้าผ่าในสมัยพระเจ้าเสือ จนพังทลายลงมาโดนพระเศียรของพระพุทธรูปหักตกลงมา จึงได้มีการบูรณะและเปลี่ยนอาคารจากทรงมณฑปมาเป็นพระวิหาร ซึ่งต่อมาจะได้ทำการบูรณะพระวิหารใหม่อีกครั้งในสมัยพระเจ้าบรมโกศ หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พ.ศ.2310 พระวิหารได้ถูกทิ้งร้างและพังทลายตามกาลเวลา พระเมาลีและพระกรได้หัก จึงได้มีการซ่อมในสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมาในปี พ.ศ.2499 สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีการสร้างวิหารพระมงคลบพิตรขึ้นใหม่ อย่างที่ปรากฏในปัจจุบัน
อนึ่งในปี พ.ศ.2498 นั้น รัฐบาลไทยได้เชิญ ฯพณฯ อูนุ นายกรัฐมนตรีพม่า มาเยือนประเทศไทย และได้มาเยือนอยุธยาเป็นกรณีพิเศษ ท่านได้กล่าวขอขมาต่อการที่กองทัพพม่าที่ได้กระทำต่อกรุงศรีอยุธยา นอกจากนี้ยังได้มอบเงินจำนวน 200,000 บาท เพื่อสมทบทุนสร้างหลังคาวิหารพระมงคลบพิตรที่เห็นอยู่ในปัจจุบันและยังได้อัญเชิญหน่อพระศรีมหาโพธิ์มาปลูกไว้ ณ วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน กรุงเทพ

วิหารพระมงคลบพิตรในภาพนี้ ได้ถูกสร้างขึ้นใหม่บนซากวิหารเดิม
ปัจจุบันก็คือใจกลางสำคัญแห่งการมาท่องเที่ยวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ดังจะได้ยินคำกล่าวอยู่เสมอว่า “ผู้ใดที่มาเที่ยวอยุธยาแล้ว ยังไม่ได้มาไหว้หลวงพ่อมงคลบพิตรแล้ว ถือว่ามาไม่ถึงอยุธยา” นอกจากนี้บริเวณวิหารพระมงคลบพิตรยังมีร้านค้าของฝากแห่งใหญ่ของอยุธยา และมีสถานที่จอดรถกว้างขวางไว้บริการนักท่องเที่ยว

หลวงพ่อมงคลบพิตร เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองพระนครศรีอยุธยา เช่นเดียวกันกับหลวงพ่อโตวัดพนัญเชิง ในปัจจุบันมีชาวอยุธยาและนักท่องเที่ยวชาวไทยไปกราบไหว้ขอพรอย่างหนาแน่นทุกวัน นอกจากนี้ยังเป็นที่สนใจแก่บรรดานักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหลายในด้านความงดงามและความใหญ่โตขององค์หลวงพ่อ

ศาสตราจารย์สันติ เล็กสุขุม กล่าวถึงหลวงพ่อพระมงคลบพิตรว่า เป็นพระพุทธรูปที่ในยุคกลาง ที่คงจะสร้างขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม และแม้ว่าจะได้รับการบูรณะแล้ว แต่ยังรักษาเค้าเดิมตามที่ปรากฏในภาพถ่ายก่อนการบูรณะ เค้าพระพักตร์มน เครื่องแต่งพระพักตร์ห่างจากสุนทรียภาพของพระพุทธรูปแบบสุโขทัยมากพอสมควร คราวที่กรมศิลปากรบูรณะพระพุทธรูปองค์นี้ ได้พบว่าภายในพระอุระบรรจุพระพุทธรูปสำริดหลายองค์ มีทั้งขนาดย่อมและขนาดเล็ก จัดเป็นแบบอย่างของพระพุทธรูปในยุคกลาง
(ดูจาก “งานช่างหลวงแห่งแผ่นดิน ศิลปะอยุธยา” ของ ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม)

ขอขอบคุณ http://www.ayutthayastudies.aru.ac.th/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .