วัดพระมงคลบพิตร อยุธยา

ครั้นมาถึงปี 2552-2553 คนไทยไม่น้อยก็น้ำตาตกอีกครั้งหนึ่ง ที่เห็นคนไทยด้วยกันเองย่ำยีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่เคยเป็นศูนย์กลางราชธานีกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นทั้งพระราชวัง และเป็นวัดของพระมหากษัตริย์ไปพร้อมๆกัน

ใครมาเห็นก็ต้องตกใจว่า ผ่านไปหลายเดือนแล้วก็ยังไม่มีการแก้ไขปัญหาตามที่เป็นข่าว ร้านค้าร้านขายปลูกเพิงขายกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันรอบๆวัดมงคลบพิตร จากที่เคยเห็นเป็นวัดที่สง่างามกลับมีสิ่งรกรุงรุงรังปิดทางเดิน ไม่ต่างกับเป็นเส้นทางบังคับว่า เมื่อลงจากรถในบริเวณลานจอดแล้วก็ต้องเดินผ่านตลาดนัดกันก่อนแล้วค่อยขึ้นไปไหว้พระ ทั้งของกินของใช้ เสื้อผ้า กางเกงใน แขวนขายกันข้างวิหารพระมงคลบพิตร กันอย่างหน้าตาเฉย

มาเห็นของจริงในวันนี้แล้วรู้สึกว่า มันเสื่อมโทรม และทุเรศทุรังกว่าที่คิดไว้มากทีเดียว แสดงว่าหลังจากตกเป็นข่าวและถูกวิพากษ์วิจารณ์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็แทบไม่ได้ทำอะไรเลย

มันต่างกับมรดกโลกที่เคยไปเที่ยวในประเทศต่างๆที่อยู่รอบๆบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นเมืองหลวงพระบางของลาว นครวัด-นครธมของเขมร หรือเมืองเก่ามะละกาของมาเลเซีย ไกลหน่อยก็เป็นประเทศเวียดนาม และอีกหลายๆแห่งในประเทศจีน

ทุกประเทศต่างเห็นคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมที่คนรุ่นหลังจะต้องรักษาไว้ แต่บ้านเรากลับทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม โดยเฉพาะหน่วยงานที่ดูแล ปล่อยให้เป็นแบบนี้ได้อย่างไร

กว่าจะได้เป็นมรดกโลก เราก็ต้องทำการบ้านขนาดไหน เพื่อให้ยูเนสโกเห็นว่ามีความสำคัญ เหมาะสมที่จะเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษย์ชาติ แทบจะเรียกว่ากราบกรานคณะกรรมการกันเลยทีเดียว เพราะผลลัพธ์หลังจากได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้วก็ต้องถือว่า คุ้มค่าคุ้มราคา ชนิดประเมินค่ามิได้ อนาคตก็คาดการณ์ได้เลยว่าจะทำเงินจากการท่องเที่ยวได้อย่างมหาศาล

ทุกประเทศเขาเห็นความสำคัญ ไม่ต่างกับได้ใบรับรอง หรือได้รับการประทับตราแล้วว่ามีคุณค่าจริงๆ เมื่อได้เป็นมรดกโลกแล้วก็ต้องทำให้สมฐานะ ต้องปฏิบัติตามกฏเกณฑ์ของยูเนสโก พร้อมกับรักษาไว้ไม่ให้เสื่อมสลายหรือถูกทำลาย เพราะคำว่า มรดกโลก มันมีค่ายิ่งกว่าการออกไปโรดโชว์ต่างประเทศเพื่อป่าวประกาศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวยังสถานที่นั้นๆ ไม่ว่าเราจะลงทุนทำโฆษณาประชาสัมพันธ์กันมากมายขนาดไหน ก็ยังไม่สำคัญเท่ากับการที่ยูเนสโกประกาศให้โลกรู้เพียงครั้งเดียว

การประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ไม่ต่างกับข่าวสำคัญที่ชาวโลกให้ความสนใจติดตามฟัง และมีไม่กี่แห่งเท่านั้นที่ได้รับคัดเลือก จากจำนวนรายชื่อนับร้อยๆแห่งที่เข้าสู่ขบวนการพิจารณาของคณะกรรมการ

บ้านอื่นเมืองอื่นเขาเห็นคุณค่ากับคำว่ามรดกโลกด้วยกันทั้งนั้น ก็คงมีแต่บ้านเราเท่านั้นละมั้ง ที่ไม่ค่อยจะสนใจใยดี ไม่ต่างกับทิ้งๆขว้างๆกับใบประกาศเกียรติคุณอันทรงเกียรติจากองค์การยูเนสโก

ไม่กี่วันมานี้ก็มีข่าวการสร้างถนนขึ้นเขาใหญ่ ซึ่งอาจกระทบกับสภาพแวดล้อมในพื้นที่ของมรดกโลก นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า เมืองไทยเราไม่ค่อยจะให้ความสนใจกับคำว่ามรดกโลกกันนัก

ให้ยูเนสโกถอนอุทยานประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา ออกไปจากมรดกโลกดีไม๊

หากเป็นผมแล้วก็ต้องตอบว่า อยากให้ยูเนสโกถอนออกไป หรือให้ยูเนสโกคาดโทษน่าจะดีกว่า

จะได้เป็นบทเรียนให้กับคนไทยและประเทศไทยว่า หากดูแลรักษากันไม่เป็นแล้ว ก็ไม่สมควรจะได้เกียรตินี้มาครอง จากสภาพที่เห็นก็อยากให้เจ้าหน้าที่ของยูเนสโกมาดูให้เห็นกับตาว่ามันแหลกเหลวอย่างไร เพราะนอกจากทางภาครัฐจะไม่สนใจแล้วชาวกรุงเก่าทั้งหลายก็ดูเหมือนจะย่ำยีคนไทยด้วยกันเอง ไม่ต่างกับการลบหลู่สถานที่ อันเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา เทียบกับยุคกรุงรัตนโกสินทร์แล้วก็ไม่ต่างกับพื้นที่ในเขตพระบรมมหาราชวัง โดยมีวัดพระแก้วรวมอยู่ในพื้นที่นี้ด้วย

งานนี้จะโทษใครดี

เหลี่ยวซ้ายแลขวา ก็หนีไม่พ้นที่ส่วนราชการของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจะต้องตกเป็นจำเลย ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าราชการ ลงไปจนถึงหน่วยงานที่ดูแลอุทยานประวัติศาสตร์ รวมไปถึงเจ้าหน้าทีของทางวัดพระมงคลบพิตร ที่รู้ปัญหาได้ดีกว่าใครทั้งหมด

ยังครับ ยังไม่หมด กรมศิลปากรก็หนีไม่พ้นที่ต้องตกเป็นจำเลยด้วย เพราะที่นี่เป็นสถานสำคัญทางประวัติศาสตร์ และยังขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานจากกรมศิลปากรเป็นที่เรียบร้อยแล้วด้วย

คำว่าขึ้นทะเบียนกรมศิลป์แล้วดูเหมือนว่าจะดี ดูศักดิ์สิทธิ์ วัดไหนหรือสถานที่ใด ได้ขึ้นทะเบียนแล้วก็น่าจะภูมิใจ

แต่ในความเป็นจริงแล้วดูเหมือนว่าสถานที่เหล่านั้น มักถูกเจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากรเป็นผู้ทำลายเสียเอง อาศัยว่าเป็นข้าราชการ ที่ชาวบ้านเขานับถือว่าเป็นผู้รู้ จะพูดจาอย่างไรชาวบ้านก็เชื่อ ในที่สุดก็ยัดเยียดความเป็นมาตรฐานและแนวคิดจากส่วนกลาง (กรุงเทพฯ) โดยละเลยคำว่าวัฒนธรรม และความเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น

ไม่ต่างกับบังคับให้คนภาคเหนือหรือภาคใต้กินแกงกะหรี่ซึ่งเป็นอาหารภาคกลาง แทนที่จะเค้ากินแกงโฮ๊ะ หรือกินแกงเหลืองซึ่งเป็นอาหารของท้องถิ่นนั้นๆ

สังเกตุง่ายๆว่า หากใครเคยเห็นพระประธานของวัดสำคัญๆในต่างจังหวัด ก็อาจไม่เห็นภาพเดิมๆที่เคยเห็นเนื้อปูนเนื้อทองแบบเก่าๆ หรือเห็นความงดงามในเชิงพุทธศิลป์ ที่แสดงถึงถึงวัฒนธรรมของท้องถิ่นประจำภาคนั้นๆกันอีกต่อไปแล้ว เพราะกรมศิลปากรได้นำทองจังโก หรือทองวิทยาศาตร์ ไปปิดทับพระพุทธรูปสำคัญๆจนแทบจะเรียกว่า เกือบทั่วประเทศ

ความงดงามของศิลปะวัฒนธรรมที่คนสมัยก่อนถ่ายทอดออกมาในรูปแบบของพระพุทธรูป ถูกกรมศิลปากรทำลายเรียบร้อยไปหมดแล้ว ลองสังเกตให้ดีว่าทำไมพระพุทธรูปเก่าแก่ตามวัดต่างๆจึงเป็นแบบพิมพ์เดียวกันหมด หรือดูแล้วก็คล้ายๆกัน พระพุทธรูปปูนปั้นหายไปไหน แต่ละวัดเห็นมีแต่พระทองคำเหลืองอร่ามเข้ามาแทน ครั้นจะบอกว่าพระพุทธรูปองค์นี้อายุ 400- 500 ปี แล้วใครจะเชื่อ เพราะเห็นแต่ทองจังโกซึ่งเป็นศิลปะสมัยใหม่เข้ามาแทน

ผมนับถือคนลาว นับถือประเทศลาว ที่รักษามรดกทางวัฒนธธรมให้เห็นว่ามีความบริสุทธิใจ ใสสะอาด ที่ถ่ายทอดออกมาให้ปรากฏตามวัดวาอารามต่างๆ น่าชื่นชมกับคนลาวที่ไม่ไปแตะต้องความเก่าความแก่ ซึ่งเป็นของดั่งเดิม คนรุ่นหลังๆทำหน้าที่เพียงดูแลรักษาไม่ไห้มันผุพังลงมาเท่านั้น ใครเข้าไปในวัดของลาวก็จะรู้สึกศรัทธาน่าเลื่อมใส ตรงกันข้ามกับวัดเก่าแก่ในเมืองไทย ที่ส่วนใหญ่เต็มไปด้วยแสงสี ดูแล้วขาดความขลังและความศักดิ์สิทธิ์ไปไม่ไช่น้อย

น่าแปลกที่กรมศิลปากรมองไม่เห็นคุณค่าของวัดสำคัญๆที่ขึ้นทะเบียนไว้ มักจะทำเพิ่มเสริมแต่ง ไม่ต่างเอากิเลสของตนเองไปพอกองค์พระสำคัญๆทั่วทั้งประเทศ ไปเที่ยววัดสำคัญทางภาคเหนือก็คงไม่เห็นพระที่สร้างด้วยศรัทธาของชาวบ้านในสมัยก่อนที่ใช้ปูนปั้นแล้วปิดด้วยทองเปลว(ทองแท้)แบบดั่งเดิม ทุกวันนี้ไปวัดไหนก็เห็นแต่ทองผสมแบบสมัยใหม่ อาจดูสวยดีแต่วิธีการแบบนี้มันทำลายคุณค่าทางทางจิตใจของผู้คนในอดีต

พระที่ชาวบ้านเขาสร้างและช่วยปั้นกันในสมัยก่อนอาจไม่ถูกสัดส่วนหรือขาดความสมดุลย์ในเชิงศิลป์ แต่อย่าลืมว่า พระพุทธรูปนั้นเป็นตัวแทนความศรัทธาของชาวบ้าน กรมศิลปากรมีสิทธิ์อะไรที่จะไปชี้ผิดชีถูกว่า ต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นการอวดภูมิปัญญาหรือดูถูกคนบ้านนอกไช่หรือไม่

กรมศิลปากรอาจปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องเพราะเป็นเรื่องของทางวัด หากตอบแบบนี้แล้วถามหน่อยว่า วัดที่พบเห็นนี้ล้วนเป็นวัดสำคัญ และขึ้นทะเบียนให้อยู่ในความดูแลของกรมศิลป์มาแล้วทั้งนั้น มีหรือที่กรมศิลปากรจะไม่รู้ไม่เห็นด้วย และโดยกฏระเบียบแล้วการที่จะปรับปรุงบูรณะวัดที่ขึ้นทะเบียนฯ ก็จะต้องขออนุญาตจากกรมศิลป์ก่อนทุกครั้งไป

เขียนมาถึงตรงนี้ทำให้นึกถึงพระองค์หนึ่งที่วัดสวนดอกเชียงใหม่เมื่อปี 2547

ยังจำคำพูดของหลวงตาได้แม่นยำว่า กรมศิลปากรร่วมกับคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำการลอกทองคำของพระเจ้าเก้าตื้อ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปทองคำบริสุทธิ์องค์สำคัญของล้านนาเชียงใหม่ ซึ่งสร้างด้วยแรงศรัทธาของชาวบ้านในสมัยพระเมืองแก้ว กษัตริย์ในราชวงศ์มังรายองค์ที่ 13 หรือเมื่อ 514 ปีก่อน

เรื่องนี้ถือว่ากรมศิลปากรทำร้ายและย่ำยีจิตใจชาวบ้าน และยังเป็นผู้ทำลายศิลปะวัฒนธรรมของล้านนาอย่างไม่น่าให้อภัย

ขอนำความบทความบางตอนที่เคยเขียนไว้เมื่อคราวที่ไปเที่ยววัดสวนดอก เชียงใหม่ เมื่อเดือนสิงหาคม 2547 มาถ่ายทอดอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นคำบอกเล่าของ หลวงปู่บุญมา อนิญชโต อายุ 81 ปี (เมื่อปี 47)

ความจริงของพระเจ้าเก้าตื้อที่ไม่ได้ปรากฏในที่สาธารณะ

ท่าน(หลวงปู่บุญมา) เล่าว่าพระเจ้าเก้าตื้อที่เห็นนี้ได้มีการบูรณะขึ้นมาใหม่แทนของเก่า โดยมีคณะศรัทธาญาติโยมซึ่งมีหัวเรือใหญ่ เป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ (ม.เชียงใหม่) มีตำแหน่งเป็นรองศาสตราจารย์ ร่วมกับผู้มีฐานะร่ำรวยมั่งคั่ง ได้ไปปรึกษาหารือกับท่านเจ้าอาวาส เพื่อจะทำการลอกทองคำที่หุ้มพระเจ้าเก้าตื้อออก และปิดใหม่ให้ดูสวยงามขึ้น ซึ่งในขณะนั้นเห็นว่าทองเก่าได้หลุดลอกออกบางส่วน และการปิดทองใหม่ก็ได้ให้กรมศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการ โดยใช้ทองชนิดพิเศษเรียกว่าทองวิทยาศาสตร์ ์ซึ่งจะทำให้องค์พระมีสีทองสุกใสแวววาว

การบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งนี้ ชาวบ้านที่ศรัทธาวัด ต่างไม่เห็นด้วยที่ต้องลอกทองเก่าซึ่งเป็นทองบริสุทธิ์ออก และปิดทองใหม่ซึ่งเป็นทองผสม ไม่ได้เป็นทองคำบริสุทธิ์เหมือนแต่แรก แต่ชาวบ้านใกล้เคียง คนเฒ่าคนแก่ และพระในวัดที่เป็นคนท้องถิ่นไม่สามารถทัดทานความตั้งใจนั้นได้ จึงต้องปล่อยให้บูรณะจนแล้วเสร็จ ท่ามกลางความเสียดายของชาวบ้าน ซึ่งการบูรณะครั้งนี้กระทำเมื่อปลายปี 2539 และมาเสร็จเมื่อต้นปี 2540

แต่หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดเหตุกับอาจารย์มหาวิทยาลัยผู้นี้หลายเรื่อง เช่นมีญาติเสียชีวิตอย่างกระทันหัน และเจ้าตัวประสบเคราะห์กรรมต่างๆนานา จนต้องลาออกจากหน่วยงานและได้มาบวชชีที่วัดนี้เพื่อเป็นการขอขมา (ปัจจุบันได้สึกแล้ว)

จะเป็นอาถรรพ์ด้วยเหตุจากการลอกทองพระเจ้าเก้าตื้อหรือไม่ คงเป็นเรื่องที่พิสูจน์ยาก แต่จากคำร่ำลือของชาวบ้านวัดสวนดอก และชาวเชียงใหม่ที่ทราบเรื่องนี้ ต่างกล่าวว่าเป็นเพราะการลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำและเป็นการฝืนมติของชุมชน

จากคำบอกเล่าของหลวงพ่อพอจะจับประเด็นได้ว่า วัดสำคัญๆของเชียงใหม่เมื่อจะมีการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ก็จะมีการพิจารณาตามขั้นตอนของคณะสงฆ์ ที่ไม่ต่างจากการแต่งตั้งในทางโลก ดูยศ ดูตำแหน่ง แล้วก็แต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส ทำให้ขาดความรู้สึกผูกพันกับวัดนั้นมาก่อน เหมือนเป็นพระจากที่อื่นที่มาอยู่ใหม่ เมื่อมาเป็นเจ้าอาวาสก็พยายามสร้างผลงาน ให้เป็นที่ปรากฏ การสร้างถาวรวัตถุ การระดมทุนรับบริจาค ก็ถือเป็นผลงานที่สามารถพิสูจน์ให้เห็นเป็นรูปธรรมได้

การที่ลอกทองคำเก่าดั่งเดิมของพระเจ้าเก้าตื้อออกและปิดทองใหม่นี้ เป็นการฝืนความรู้สึกของชาวบ้านที่มีความผูกพัน และหวงแหนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนเองนับถือ และสิ่งนี้ยังเป็นเรื่องที่ค้างคาใจชาวบ้านและชาวเชียงใหม่มาจนถึงทุกวันนี้

จากการที่ได้สนทนากับหลวงพ่อ ทำให้สิ่งที่ผมสงสัยในใจนั้นกระจ่างขึ้น เพราะก่อนหน้าที่จะมาพูดคุยกับหลวงพ่อ มีคนบอก ว่าพระเจ้าเก้าตื้อนั้นเป็นพระเก่าแก่มาก แต่เมื่อมาเห็นแล้วก็รู้สึกว่าเป็นพระใหม่เหมือนวัดทั่วๆไป เพียงแต่มีการจัดฉากและเปิด ไฟให้ดูสวยงาม ปิดบังร่องรอยของอดีตจนหมดสิ้น

การที่หลวงพ่อปู่กวักมือเรียกอยู่หลายครั้งในตอนแรกนั้น ก็พอจะเข้าใจว่าท่านคงต้องการเล่าความจริงให้ฟัง เล่าแทนชาวบ้าน ที่รักและหวงแหนพระพุทธรูปที่ตนเคารพนับถือมาหลายชั่วอายุคน
ผมเข้าไปอ่านบทความที่ตนเองเขียนไว้เมื่อ 6 ปีก่อน เรื่องวัดสวนดอก เชียงใหม่ ก็รู้สึกเศร้าใจแทนชาวบ้าน

ว่าพระเก่าพระแก่ที่สร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้าเมืองแก้ว กษัตริย์ล้านนาในราชวงค์เม็งรายเมื่อปี พ.ศ. 2047 จนถึงปัจจุบันก็มีอายุถึง 504 ปี นับว่าเป็นพระที่เก่าแก่มาก แต่อนิจจา กรมศิลปากรได้ทำการเล่นแร่แปรธาตุไปเรียบร้อยแล้ว ตอนนี้หากใครถามว่าพระเจ้าเก้าตื้อสร้างเมื่อ พ.ศ.ใด ก็คงต้องตอบว่า ปีที่สร้าง พ.ศ.2539 สร้างเสร็จ พ.ศ.2540 นับจนถึงปัจจุบันก็มีอายุ 13 ปี

คนเชียงใหม่ฟังแล้วน่าชื่นชมไหมละครับ

ทองเก่าที่ศรัทธาชาวบ้านร่วมกันบริจาคเงินหาซื้อมาปิดไว้ในอดีต พร้อมกับได้กราบไหว้กันมาหลายชั่วอายุคน บัดนี้ทองคำที่ว่านี้ถูกลอกออกไปหมดแล้ว

และนี่เป็นเพียง 1 ตัวอย่าง เป็นความพยายามของกรมศิลปากรที่ต้องการให้คนทางภาคเหนือหันมากินแกงกะหรี่ ซึ่งเป็นอาหารของภาคกลาง แทนที่จะสนับสนุนให้คนภาคเหนือกินน้ำพริกหนุ่มหรือใส้อั่ว ตามวัฒนธรรมของตนเอง

จากวัดสวนดอกเชียงใหม่ มาถึงวัดพระมงคลบพิตร จึงไม่ต้องแปลกใจว่ากรมศิลปากรได้ทำหน้าที่ของตนได้ดีเพียงได้ ได้ทำให้ชาวบ้านเขาศรัทธาขนาดไหน และได้ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลคุ้มครองศาสนสถานของชาติสมกับเจตนารมณ์หรือไม่ ทำไมจึงปล่อยให้ศาสนสถานแห่งนี้ต้องมัวหมอง มีสลัมและร้านขายของอยู่รอบวัดเต็มไปหมด ทั้งที่กรมศิลปากรมีหน้าที่ที่ต้องปกป้องคุ้มครองไม่ไห้ใครมารุกล้ำ

วัดมงคลบพิตรอยู่ในพื้นที่ของอุทยานประวัติศาสตร์ ที่มีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศเข้ามาชมเป็นจำนวนมาก และน่าจะเรียกว่าเ้ป็นศูนย์กลางของอุทยานฯกลางกรุงเก่า ไม่ได้อยู่ในซอกในหลืบ ใครผ่านไปผ่านมากต้องเห็นทั้งวัด และเห็นสลัมควบคุ่กันไป

หากกรมศิลปากรยังไม่แน่ใจว่าจะรักษาสมบัติของชาติที่เป็นมรดกโลกแห่งนี้กันอย่างไร ก็แนะนำว่า ควรไปศึกษาและทำความเข้าใจในเรื่องของการอนุรักษ์วัฒนธรรมที่ประเทศลาว และคงไม่ต้องไปสอบถามเจ้าหน้าที่ของลาว เพียงแค่ไปเห็นสภาพก็จะเข้าใจเองว่าควรจะทำอย่างไร หรือควรปรับวิธีคิดอย่างไร

เอาอีกแห่งหนึ่งก็ได้ว่าการบริหารจัดการกับโบราณสถานที่เป็นมรดกโลก ประเทศอื่นๆเค้าดูแลกันแบบไหน ชาวบ้านจึงอยู่กันได้โดยไม่มีปัญหาเหมือนกับที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ไปดูว่าทำไมสถานที่เป็นมรดกโลกจึงไม่สกปรกรกรุงรัง และเต็มไปด้วยสลัมขายของเหมือนกับที่เกิดขึ้นกับอุทยานประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา

และไม่ต้องไปไกลมาก แค่เขมรนี่แหละครับ

ไช่เลย นครวัด-นครธม ที่อดีตเคยเป็นอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ของพวกขอม ไปขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ของเขมรก็ได้ว่า เค้าจัดระเบียบการขายของให้กับนักท่องเที่ยวกันอย่างไร เรื่องนี้คงต้องไปขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่เขมรครับ เพราะเค้าทำได้ดีจนอยากให้ข้าราชการระดับสูง เช่นอธิบดีกรมศิลปากรไปศึกษาด้วยตัวเอง จะได้นำมาปรับวิธีคิด ปรับรูปแบบการจัดการให้มันทันสมัยขึ้น จะได้มีมาตรฐานตามที่ยูเนสโกเค้ากำหนด

อยู่แต่ในบ้านในประเทศ โดยไม่เห็นโลกภายนอก ก็ไม่ต่างกับสุภาษิตไทยที่เรียกว่า “กบในกะลา “

” รู้น้อยว่ามากรู้ เริงใจ
กลกบเกิดอยู่ใน สระจ้อย
ไป่เห็นชเลไกล กลางสมุทร
ชมว่าน้ำบ่อน้อย มากล้ำลึกเหลือ ”

ลาวและเขมร อาจเป็นประเทศที่ยังไม่พัฒนาจนก้าวไกลเหมือนประเทศไทย แต่เรื่องการจัดการ การรักษาศาสนสถานหรือโบราณสถานที่เป็นของเก่าแก่ เค้ามีความเข้าใจและทำได้ดีกว่าบ้านเรา

กรมศิลปากรอาจมีความคิด อยากทันสมัย อยากพัฒนา อยากมีเงินงบประมาณมากๆ แต่คิดว่าเอาเงินมาใช้ในทางที่เกิดประโยชน์และถูกทางน่าจะดีกว่า ไม่ใช้ยิ่งมีงบประมาณมากก็เหมือนกับจะทำลายศาสนสถานสำคัญๆลงไปมากเช่นกัน

ความหวังดี หากคิดไม่ถูก คิดไม่เป็นแล้ว มันอาจกลายเป็นหวังร้ายและทำลายเสียมากกว่า

ขอขอบคุณ http://www.photoontour.com/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .