วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ราชวรวิหาร พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิด ราชวรวิหาร

benchamabophit
วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั่วโลกว่า “The Marble Temple” เพราะพระอุโบสถ พระระเบียง ประดับด้วยหินอ่อนที่ดีที่สุดจากประเทศอิตาลี ประกอบกับเป็นวัดที่มีความวิจิตรงดงามด้วยศิลปะสถาปัตยกรรมไทยโบราณ จึงมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศสนใจเข้าชมจำนวนมากทุกวัน

วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร มีเนื้อที่ทั้งสิ้น ๑๐,๕๖๖ ตารางวา ๑๔ ตารางศอก ตั้งอยู่แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ระหว่างถนนสายใหญ่คือ ถนนพระรามที่ ๕ ถนนศรีอยุธยา ถนนราชดำเนินนอก และถนนพิษณุโลก

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงสถาปนาขึ้นด้วยศิลปะสถาปัตยกรรมไทยโบราณ และวางแบบแปลนแผนผังแยกสัดส่วนเป็นเขตพุทธาวาส สังฆาวาส และที่ธรณีสงฆ์สำหรับผู้อุปัฏฐากภิกษุสามเณรอยู่อาศัย ในเขตพุทธาวาสและสังฆาวาส มีสนามหญ้าและปลูกต้นไม้ให้ร่มรื่น กุฏิที่อยู่ของภิกษุสามเณร เป็นระเบียบ ปลอดโปร่ง ซึ่งถือว่าเป็นวัดที่มีการวางแปลนแผนผังที่ดีที่สุดวัดหนึ่ง

ประวัติเดิม

วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เดิมเป็นวัดโบราณ มีชื่อว่า “วัดแหลม” หรือ “วัดไทรทอง” ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างในสมัยใด จนถึงปี พ.ศ.๒๓๖๙ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ จึงปรากฏชื่อขึ้นในประวัติศาสตร์ เมื่อเจ้าอนุวงศ์ผู้ครองนครเวียงจันทน์ ประเทศราชของไทย ได้ก่อการกบฎยกทัพมาตีไทย

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ (พระองค์เจ้าพนมวัน พระเจ้าลูกยาเธอ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหน้านภาลัย กับเจ้าจอมศิลา ต้นราชสกุล พนมวัน) เป็นผู้บัญชาการกองทัพในส่วนการรักษาพระนคร โดยทรงตั้งกองบัญชาการอยู่ในบริเวณ “วัดแหลม” หรือ “วัดไทรทอง” นี้

เมื่อเสร็จสิ้นการปราบกบฏแล้ว พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ พร้อมด้วยพระเชษฐภคินี พระขนิษฐภคินี และพระกนิษฐภาดา ร่วมเจ้าจอมมารดาอีก ๔ พระองค์ ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้น ประมาณปี พ.ศ.๒๓๗๐-๒๓๗๑ แล้วทรงสร้างพระเจดีย์ ๕ องค์ รายด้านหน้าวัดเป็นอนุสรณ์

ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ ปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดเบญจบพิตร” ซึ่งมีความหมายว่าเป็นวัดของเจ้านาย ๕ พระองค์ หรือวัดที่เจ้านาย ๕ พระองค์ทรงปฏิสังขรณ์ขึ้น

ขอขอบคุณ http://www.dhammathai.org/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .