สิ่งสำคัญภายในวัด เบญจมบพิตร พระวิหารสมเด็จ(ส.ผ.)

10020023_0_20130804-020142

พระวิหารสมเด็จ (ส.ผ.) เป็นตึกจตุรมุข ๒ ชั้น แต่มุขด้านใต้เชื่อมต่อกับมุขกุฏิสมเด็จ มุขด้านตะวันออกและตะวันตกขยายยาวเป็นชั้นเดียว บันไดพื้นชั้นล่างปูหินอ่อน ชั้นบนปูไม้

ความงามของพระวิหารนี้อยู่ที่ประตูหน้าต่างที่เขียนลายไทยรดน้ำทั้งชั้นล่างและชั้นบน หน้าบันและซุ้มประตูหน้าต่าง ปั้นลายก้านขดประกอบตราพระนามาภิไธยย่อ “ส.ผ.” (เสาวภาผ่องศรี) ลงรักปิดทองประดับกระจก

ข้างบันไดขึ้นด้านหน้าหล่อราชสีห์ประดับ ๒ ตัว

ภายในทั้งชั้นบนชั้นล่าง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปโบราณ ขนาดและสมัยต่าง ๆ ตลอดจนเครื่องลายครามจีนต่างชนิด เฉพาะชั้นล่างมีตู้พระธรรมลายรดน้ำ เป็นลายไทยประกอบภาพต่าง ๆ เช่นรามเกียรติ์ เวสสันดร เป็นต้น

พระวิหารสมเด็จนี้ “สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ” ทรงบริจาคพระราชทรัพย์สร้างสำเร็จในปี พ.ศ.๒๔๔๕ ตามพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่จะให้เป็น “หอธรรม” หรือ “หอสมุด” ประจำวัด ชื่อว่า “หอพุทธสาสนสังคหะ” ต่อมา พ.ศ.๒๔๔๘ โปรดเกล้าฯให้รวมกิจการหอธรรมเข้ากับหอพระสมุดวชิรญาณ หอพระมณเฑียรธรรม เป็นหอพระสมุดสำหรับพระนคร คงเหลือสิ่งของและคัมภีร์พระไตรปิฎกหรับวัดเท่านั้น หอพุทธสาสนสังคหะ จึงกลายเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป และตู้พระธรรมเป็นส่วนใหญ่

พระพุทธรูปสำคัญที่ประดิษฐานที่พระวิหารสมเด็จ คือ

๑. พระฝาง ประดิษฐานในบุษบก มุขหน้าชั้นบน สามารถมองเห็นได้จากภายนอก เห็นแปลกกว่าพระพุทธรูปธรรมดาทั่วไป เพราะเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ สมัยอยุธยา ประทับนั่งขัดสมาธิราบ แบบมารวิชัย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้อัญเชิญมาจากวิหารหลวง (วัดสวางค์) เมืองฝาง หรือสวางคบุรี อยู่ริมแม่น้ำน่าน เหนือเมืองอุตรดิตถ์ จึงถวายพระนามว่า “พระฝาง”

อีกพระนามหนึ่งคือ “พระเจ้าพระฝาง” เพราะเชื่อว่า พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปที่เคารพบูชาของ “เจ้าพระฝาง” ซึ่งปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า เจ้าพระฝางเดิมชื่อ “เรือน” เป็นชาวเหนือ แต่ลงมาเล่าเรียนพระไตรปิฎกที่กรุงศรีอยุธยา ได้เป็นที่พระพากุลเถรราชาคณะอยู่ ณ วัดศรีโยธยา ภายหลังทรงพระกรุณาโปรดให้ตั้งขึ้นไปเป็นที่พระสังฆราชา ณ เมืองสวางคบุรี หรือเมืองฝาง โดยได้อัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้ไปด้วย มีผู้เคารพนับถือมาก เมื่อเสียกรุงครั้งที่ ๒ ได้ตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้า แต่หาได้ลาสิกขาเป็นคฤหัสถ์ไม่ คงอยู่ในเพศสมณะ แต่นุ่งห่มผ้าสีแดง คนทั้งปวงเรียกว่า “เจ้าพระฝาง” และมีแม่ทัพนายกองล้วนแต่เป็นพระ แต่สุดท้ายสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ยกทัพไปปราบได้

๒. พระพุทธนรสีห์จำลอง ประดิษฐานเป็นประธานบนโต๊ะหมู่กลางห้องชั้นบน เป็นพระพุทธรูปหล่อจำลองขึ้นใหม่ ขนาดหน้าตักศอกเศษ แบบเชียงแสน โดยหล่อจำลองจาก “พระพุทธนรสีห์” องค์เดิม ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เชิญมาจากวัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพระที่ต้องพระราชประสงค์ จึงน้อมเกล้าฯถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และโปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถชั่วคราว

พระฝางและพระพุทธนรสีห์จำลอง เป็นพระพุทธรูปสำคัญของวัดเบญจมบพิตร ในเทศกาลเข้าพรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงถวายพุ่มพรรษาสักการะตลอดมา แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ก็เสด็จ

พระราชดำเนินทรงถวายพุ่มเช่นกัน แต่ปัจจุบันโปรดเกล้าฯให้ผู้แทนพระองค์ถวายแทน

ปัจจุบันพระวิหารสมเด็จ เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สาขาวัดเบญจมบพิตร

ขอขอบคุณ http://www.watbencha.net/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .