ความเป็นมาของวัดสมัยกรุงรัตนโกสินทร์( วัดราชบุรณราชวรวิหาร)

หลังจากที่ย้ายเมืองหลวงจากฝั่งธนบุรี มายังฝั่งพระนคร ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีการสร้างกำแพงเมือง ขุดคลองคูเมือง (คลองโอ่งอ่าง) ทำให้วัดราชบุรณราชวรวิหาร เป็นวัดที่อยู่ภายในกำแพงพระนครด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณดังกล่าวเป็นจุดหนึ่งที่สำคัญของพระนครทั้งด้านเศรษฐกิจและด้านยุทธศาสตร์ เป็นจุดผ่านของเรือสินค้าต่างชาติที่เข้ามาติดต่อค้าขาย และยังใกล้ชุมชน ปากคลองตลาดที่เป็นจุดค้าขายมาตั้งแต่สมัยโบราณ

วัด โบราณ หรือวัดร้าง ที่สร้างมาแต่เดิมในเขตพระนคร ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ จนเป็นพระเพณีพระราชนิยมอย่างหนึ่งของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงส์ เพราะเป็นการสร้างความรุ่งเรืองให้พระนครมีความเจริญเทียบเท่าเมื่อ ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ (ในรัชกาลที่ ๑) ทรงมีพระราชศรัทธาจะบูรณปฏิสังขรณ์วัดเลียบทั้งพระอาราม และขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต สถาปนาเป็นพระอารามหลวง และได้รับพระราชทานนามว่า “วัดราชบุรณราชวรวิหาร” ในปี พ.ศ. ๒๓๓๖ เพื่อให้ถูกต้องตามโบราณราชประเพณี ที่ว่าเมืองใดเป็นเมืองหลวงจำเป็นต้องมีวัดสำคัญประจำอยู่ ๓ วัด ดังข้อความจากเรื่อง ชุมนุมพระบรมราชาธิบายและประชุมพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๔ กล่าวว่า “ในแผ่นดินไทยแต่โบราณมา เมืองใดเป็นเมืองหลวงในเวลาใดเวลาหนึ่ง เมืองนั้นมักมีวัดสำคัญ ๓ วัด ชื่อต้นคือ วัดมหาธาตุ ๑ วัดราชบุรณะ ๑ วัดราชประดิษฐ์ ๑ ชื่อ ๓ ชื่อนี้กรุงศรีอยุธยาก็มี พิษณุโลกก็มี สุโขทัยก็มี สวรรคโลกก็มี แต่ในกรุงเทพฯ บางกอกนี้ครั้นถึงแผ่นดินที่หนึ่ง สร้างกำแพงลงแล้ว ก็สร้างพระอารามหลวง เป็นแต่แปลงชื่อเก่าที่มีชื่อมาแล้ว คือ วัดสลัก ที่อยู่ใกล้พระบรมมหาราชวัง ข้างเหนือนั้น ที่เดิมก็น้อยสร้างต่อออกมาเป็นที่ใหญ่แล้วขนานนามว่า วัดนิพพานาราม แล้วโปรดให้แปลงเป็นวัดศรีสรรเพ็ชญ์ แล้วภายหลังทรงพระราชดำริว่า ในกรุงเทพฯ บางกอกนี้ วัดมหาธาตุ ยังไม่มี ก็วัดมหาธาตุเป็นที่อยู่สมเด็จพระสังฆราช อยู่ในวัดสลัก ซึ่งแปลงมาเป็นวัดนิพพานาราม แล้วแปลงมาเป็นวัดศรีสรรเพ็ชญ์ นั้น ควรให้แปลงเป็นวัดมหาธาตุ ตามตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช เพราะฉะนั้น วัดนั้นจึงเรียก วัดมหาธาตุ จนทุกวันนี้

ที่ท้ายพระบรมมหาราชวังข้างใต้มีวัดเดิมเป็นวัดใหญ่ชื่อ วัดโพธาราม ชาวบ้านชาวเมืองแต่โบราณมาเรียก วัดโพธิ์ แผ่นดินที่ ๑ ได้สร้างโรงพระราชทานนามว่า วัดพระเชตุพลวิมลมังคลาราม ชื่อพระราชทานมีผู้เรียกอยู่แต่ในพระราชวังเท่านั้น แลคำเพ็ดทูลบัตรหมาย นอกนั้นแล้วคนยังเรียกว่า วัดโพธิ์ อยู่ทั่วทั้งแผ่นดิน

ยังอีก วัดเลียบ ที่เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ทรงสร้างพระอุโบสถใหม่ แลหอไตรลง ในหลวงจึงพระราชทานนามว่า “วัดราชบุรณะ” เพื่อจะให้เป็นคู่กันกับ “วัดมหาธาตุ” วัดเลียบนี้คนทั่วไปเรียก “วัดเลียบ” อยู่ทั้งเมือง ให้เป็นคู่กับ วัดโพธิ์ เหมือนบ้านเลียบ บ้านแพ บ้านโพ บ้านหว้า แขวงกรุงเก่า คร่องปากนักยักไม่ได้ อย่าว่าแต่คนอื่นเลย ถานานุกรมลางองค์ในวัดนั้นเองไม่รู้จักชื่อ วัดราชบุรณะ ก็มี

ได้ยินความตามลัทธิเก่า ข้างเมืองเหนือเล่าสืบมาว่า วัดมหาธาตุ มีทุกเมืองนั้น เพราะเป็นพระเจดียสถานของพระเจ้าอโศกมหาราช ตั้งแต่ครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชแผ่ศาสนาทุกบ้าน ทุกเมืองแต่เดิมที ครั้นศาสนาตั้งแล้ว พระเจ้าแผ่นดิน แลราษฏร ในเมืองนั้นๆ คิด จะให้มีวัดเป็นที่อยู่พระสงฆ์ขึ้นอีกสองวัด พระเจ้าแผ่นดินจึงสร้างวัดหนึ่งขึ้นด้วยพระราชทรัพย์หลวง ราษฏรเรี่ยรายกันสร้างวัดหนึ่งขึ้น ด้วยทุนเป็นของเรี่ยราย จึงให้ชื่อ “วัดราชบุรณะ” แปลว่าราษฏรทำให้เต็ม และฝ่ายวัดที่พระเจ้าแผ่นดินสร้างให้ขนานนามว่า “วัดราชประดิษฐาน” แปลว่า วัดหลวงสร้างด้วยทุนหลวงอย่างเดียว แต่วัดมหาธาตุ เป็นที่ตั้งพระบรมธาตุ ซึ่งพระเจ้าอโศกมหาราชแจกมาแต่เดิม จึงเรียก “ วัดมหาธาตุ”

วัดราชบุรณราชวรวิหาร หรือวัดเลียบ เป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ก่อนสมัยกรุงธนบุรี ถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ภายในปรากฏสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมอันงดงามเช่น พระอุโบสถทรงจตุรมุข พระพุทธปรางค์ ประดับตกแต่งด้วยกระเบื้องเครือบสีต่างๆ สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ ศาลาเทพหัสดิน ศาลา ๒๐๐ ปี และสุสานญี่ปุ่น เป็นต้น
ขอขอบคุณ http://www.watliab.com/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .