วัดพิชยญาติการาม วรวิหาร

SS-130924-2056-89

ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น บริเวณเขตคลองสาน ในความทรงจำของผู้คนชุมชนบางกอก คือศูนย์กลางการค้าที่สำคัญ มีอู่ต่อเรือขนาดใหญ่ สองฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งนี้คราคร่ำไปด้วยผู้คนที่สัญจรไปมา ค้าขายแลกเปลี่ยนสิ่งของ อีกทั้งยังเป็นที่พำนักอาศัยของขุนนางชั้นสูงจำนวนมาก รวมถึงข้าราชการต้นตระกูลบุญนาคด้วย

พระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพตอนหนึ่ง กล่าวถึงบ้านเรือนของพี่น้องตระกูลบุนนาคว่า ปลูกสร้างใกล้ชิดติดกันอยู่บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี โดยที่ดินที่ใช้ในการปลูกสร้างบ้านเรือน เป็นที่ดินซึ่งได้รับพระราชทานมาแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3

ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนาของบรรพบุรุษต้นตระกูลบุนนาค ที่ดินอันได้มาแต่การพระราชทานนั้น นอกจากจะใช้ปลูกสร้างบ้านเรือนเพื่อพักอาศัยแล้ว ยังได้ถวายแก่วัดวาอาราม เพื่อใช้ในการประกอบศาสนกิจ และเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับอักขระเบื้องต้นของลูกหลานในแถบคลองสานและบริเวณใกล้เคียงอีกด้วย

ปีพุทธศักราช 2384 มีวัดร้างวัดหนึ่งได้รับการบูรณะปฎิสังขรณ์ขึ้น โดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) หรือ สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย ในการนี้นอกจากการใช้ทุนทรัพย์เป็นจำนวนมากในการสร้างแล้ว ยังได้มีการนำเอาหินสลักจากเมืองจีนโพ้นทะเลไกลมาใช้ประดับประดาพระอารามให้ดูงดงามยิ่งขึ้น

หลังการปรับปรุงก่อสร้างแล้วเสร็จ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นพระอารามหลวง ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ได้พระราชทานนามวัดนี้ในครั้งนั้นว่า “ วัดพระยาญาติการาม ”

ครั้นรัชสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงได้พระราชทานนามวัดใหม่ จากแต่เดิมชื่อวัด “ วัดพระยาญาติการาม ” เป็น “วัดพิชยญาติการาม วรวิหาร” ซึ่งนิยมเรียกกันติดปากมาจนถึงปัจจุบันว่า วัดพิชัยญาติ

เอกลักษณ์อันโดดเด่นด้านสถาปัตยกรรมภายใน “วัดพิชยญาติการาม วรวิหาร” มีมากมายให้ได้เห็น ความประณีตและความวิจิตรตระการตาสะท้อนผ่านเจดีย์คู่ทรงระฆังคว่ำแบบศรีลังกาหน้าโบสถ์ และพระอุโบสถ์ซึ่งตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างพระปรางค์ใหญ่ 3 ยอด ถ้าหากสังเกตให้ดีจะพบว่า หน้าบันของพระอุโบสถ์อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าหน้ามุกของพระปรางค์องค์ใหญ่สอดคล้องรับกันอย่างหน้าอัศจรรย์ใจ

พระปรางค์ 3 ยอด ด้านหลังพระอุโบสถ์ เป็นพระปรางค์ขนาดใหญ่ สูงกว่า 40 เมตร ภายในเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธเจ้า 4 พระองค์ อันได้แก่ พระกกุสัธะพระพุทธเจ้า ,พระโกนาคมนะพุทธเจ้า ,พระกัสสปะพุทธเจ้า ,พระโคตรมะพุทธเจ้า ส่วนพระปรางค์องค์เล็กด้านทิศตะวันออก เป็นที่ประดิษฐานพระศรีอริยเมตไตรยโพธิสัตว์ หรือ พระพุทธเจ้าในอนาคต

พระปรางค์ด้านทิศตะวันตก เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทสี่รอยสลักไว้บนหลักศิลาสำริด ซึ่งเป็นศูนย์รวมศรัทธาของพระพุทธศาสนิกชนและแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ดึงดูดพุทธศาสนิกชนให้เข้ามากราบไหว้สักการะ

ภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานของพระประธานประจำวัดพิชยญาติการาม ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์ใหญ่ปางมารวิชัย มีพระนามว่า สมเด็จพระสิทธารถพุทธเจ้า หรือ “สมเด็จหลวงพ่อสมปรารถนา” สาเหตุที่เรียกพระประธานประจำวัดพิชยญาติการาม ว่า “สมเด็จหลวงพ่อสมปรารถนา” ก็เนื่องด้วยความเชื่อของพุทธศาสนิกชนที่เชื่อกันว่า ถ้ามากราบขอพรอันใดกับหลวงพ่อ ท่านก็จะประทานพรให้สำเร็จสมปรารถนาทุกคนไป สมเด็จหลวงพ่อสมปรารถนานี้ มีหน้าตัก 3 ศอก 1 คืบ เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่และมีความงดงามมาก อัญเชิญมาจากพิษณุโลก

นอกจากสมเด็จพระสิทธารถพุทธเจ้า อันเป็นพระประธานแล้ว ในพระอุโบสถ หน้าองค์พระสมเด็จพระสิทธารถพุทธเจ้า ยังมีองค์พระพุทธรูปปางสมาธิประดิษฐานอยู่อีกองค์หนึ่ง หน้าตักกว้าง 1 ศอก สูง 1 ศอก 1 คืบเศษ สร้างโดยพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ประดิษฐานไว้เมื่อปีพุทธศักราช 2465 มีชื่อเรียกว่า “ พระวรวินายก หรือ หลวงพ่อดำ “

มีเรื่องราวเล่าขานต่อๆกันมาเกี่ยวกับพุทธานุภาพของหลวงพ่อดำที่คอยปกปักชาวชุมชนย่านคลองสาน ว่ากันว่าตั้งแต่มีพระพุทธรูปองค์นี้ประดิษฐานอยู่ ยังไม่เคยมีผู้ใดจมน้ำตายหน้าวัด แม้เรือจะล่มหรือพลัดตกน้ำก็ตาม เหตุที่เป็นเช่นนี้ ชาวบ้านต่างเชื่อกันว่าเป็นเพราะเมตตาธรรมหรือความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อดำนั่นเอง

ในพระอุโบสถวัดพิชยญาติการาม วรวิหาร นอกจากเป็นที่ประดิษฐานสมเด็จหลวงพ่อสมปรารถนาและหลวงพ่อดำซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่คู่วัดมาช้านานแล้ว ยังเป็นที่ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวความงามในเชิงศิลปกรรมและประติมากรรมผ่านภาพจิตรกรรมฝาผนัง ที่ประณีตและวิจิตร มีเอกลักษณ์เฉพาะ ด้วยเพราะเป็นงานผสมผสานระหว่างศิลปะไทยและศิลปะจีนที่ลงตัว

และหากมองไปรอบๆ ฐานของพระอุโบสถรอบนอก ซึ่งมีหินแกรนิตรายรอบทั้ง 4 ด้าน จะเห็นภาพประกอบแกะสลักพงศวดารจีนเรื่องสามก๊ก รวมทั้งสิ้น 22 ภาพ อาทิ ตอน ขงเบ้งดีดพิณลวงสุมาอี้ ,ตอน เล่าปี่ กวนอู เตียวหุยสู้รบกับลิโป้ ,ตอน จูล่งฝ่าทัพรับอาเต๊า ,ตอน กวนอูปลอยโจโฉ และตอน ม้าเฉียวแตกทัพโจโฉ เป็นต้น

ส่วนที่สำคัญอีกที่หนึ่ง คือ ส่วนของกำแพงแก้วรอบพระอุโบสถ ด้วยที่ในส่วนนี้เป็นพระที่ตั้งพระอสีติมหาสาวก หรือพระอรหันต์ 80 รูป มีลักษณะเฉพาะคือ แต่ละหลังสร้างติดกับกำแพงแก้วหลังคาจั่วจีน มีลวดลายปูนปั้นรูปดอกไม้ ซึ่งใช้ถ้วยกระเบื้องเคลือบสีประดับอยู่หน้าบัน

วัดพิชยญาติการาม วรวิหาร เป็นมรดกอันเก่าแก่ ที่ตกทอดและอยู่คู่กับพระพุทธศาสนิกชนชาวไทยมากกว่า 200 ปี ด้วยความพิถีพิถันจากช่างศิลป์ที่บรรจงถ่ายทอดผลงาน จนเป็นที่ประจักษ์ชัดถึงความงามทางสถาปัตยกรรม การวางแบบแปลน ศิลปกรรม และประติมากรรม แม้กาลเวลาจะผ่านมาเนิ่นนานสักเพียงใด คุณค่าแห่งความงดงามทางจิตใจจึงเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับความงามทางศิลปะไม่มีวันลบเลือน

จากวัดร้างไม่มีชีวิต บัดนี้วัดพิชยญาติการาม วรวิหาร ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ ให้กลับคืนคงความสมบูรณ์อีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็น พระปรางค์ใหญ่ 3 ยอด ,เจดีย์คู่ทรงระฆังคว่ำ ศิลปะแบบศรีลังกา,พระอุโบสถรูปทรงพระราชนิยมสมัยรัชกาลที่ 3 ,ศาลาตั้งพระอสีติสาวก 80 รูป ,ศาลาการเปรียญทรงพระตำหนัก ศิลปะอยุธยา ,โรงเรียนสุขุมาลัย โรงเรียนที่อภิวัฒน์การศึกษาไทยในอดีต และกุฎิทรงช่วยสถาปัตยกรรมแบบยุโรปที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงสละราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้การช่วยเหลือ

ด้วยบารมีของพระเดชพระคุณ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม ประธานกรรมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้มีการอัญเชิญพระบรมสารรีริกธาตุมาจากประเทศศรีลังกา นำมาประดิษฐาน ณ วัดพิชยญาติการาม วรวิหาร เป็นการถาวร บริเวณลานกลางแจ้งหน้าพระปรางค์ 3 องค์ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนชาวไทยได้กราบสักการะบูชา

โดยประวัติของพระบรมสารีกริกธาตุนี้ เป็นพระบรมสารีกริกธาตุที่ได้รับมอบจากสมเด็จพระสังฆราชศรีลังกา เป็นส่วนหนึ่งของพระสรีระของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ประทานเพลิงแล้ว นับเป็นโอกาสดีที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยจะได้เข้ามากราบนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ อันเป็นเสมือนศูนย์รวมแห่งสายธารศรัทธา เพื่อที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายจักได้ดำรงรักษาพระพุทธศาสนา และพระธรรมให้ดำรงคงอยู่เป็นมรดกธรรมสืบเท่าชั่วลูกหลานต่อไป

ขอขอบคุณ http://www.watphichaiyat.com/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .