วัดพิชยญาติการามวรวิหาร

เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ริมคลองบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน เดิมเป็นวัดร้าง สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) ครั้งมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาศรีพิพัฒน์ราชโกษา ได้ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ประมาณ พ.ศ. ๒๓๗๒ – ๒๓๗๕ ในรัชกาลที่ ๓ เนื่องจากสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยขณะนั้นเป็นจางวางพระคลังสินค้า มีเรือสำเภาค้าขายกับจีน จึงได้นำอับเฉาเรือ กระเบื้องสี และหินมาจากจีน สถาปัตยกรรมวัดนี้มีลักษณะแบบไทยผสมจีน ซึ่งเป็นแบบพระราชนิยมในสมัยนั้น เมื่อบูรณะวัดเสร็จแล้ว ได้น้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงพระราชทานนามว่า “วัดพระยาญาติการาม” ในสมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเปลี่ยนชื่อวัดใหม่เป็น “วัดพิชยญาติการาม” คนทั่วไปเรียกว่า “วัดพิชัยญาติ”

พระอุโบสถวัดนี้มีขนาดย่อม หลังคาแบบเก๋งจีน ไม่มีช่อฟ้าใบระกา หน้าบันทั้งสองเป็นปูนปั้นมังกรสอดสีประดับกระเบื้อง เพดานตามระเบียงเขียนรูปดอกไม้สอดสี เสาพาไลเป็นศิลากลม ฐานสลักศิลาเป็นเรื่องสามก๊ก ฝีมืองดงามหาดูได้ยาก บานประตูหน้าพระอุโบสถเขียนลายรดน้ำเป็นรูปเซี่ยวกางเหยียบสิงห์โต บานประตูกลางเป็นลายรดน้ำรูปเทวดาถือพระขรรค์เหยียบราชสีห์ ภายในพระอุโบสถ ฝาผนัง และเสาภายใน เขียนลายดอกไม้ ต้นไม้สวรรค์ เช่น นารีผล และกัลปพฤกษ์ หลังพระประธานเขียนเป็นรูปซุ้มเรือนแก้ว ลานหน้าพระอุโบสถปูด้วยแผ่นศิลาจากเมืองจีน พระปรางค์ องค์ใหญ่สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ เลียนแบบปรางค์ สมัยอยุธยาประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น ๔ องค์ หันพระพักตร์ไปสู่ทิศทั้งสี่ ส่วนพระปรางค์องค์เล็ก ๒ องค์นั้น องค์ทิศตะวันออกเป็นที่ประดิษฐานพระโพธิสัตว์ศรีอาริยเมตไตรย องค์ทิศตะวันตกเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง ๔ รอย จำหลักด้วยแผ่นศิลา

เจดีย์หน้าพระอุโบสถเป็นเจดีย์ทรงกลมฐานสี่เหลี่ยม ถ่ายแบบจากพระบรมธาตุ นครศรีธรรมราช ฐานมีซุ้มประตูสี่ด้าน มีระเบียงเดินได้รอบ

พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปศิลปสุโขทัย อัญเชิญมาจากวัดพระวิหารหลวง เมืองพิษณุโลก มีพระนามว่า “พระสิทธารถ” เป็นพระโบราณรุ่นเดียวกับพระพุทธชินราชและพระพุทธชินสีห์ รัชกาลที่ ๔ ได้เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานพระกฐินที่วัดนี้ครั้งหนึ่ง ทอดพระเนตรเห็นองค์พระงดงาม จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานนำฉัตรพื้นขาว ๕ ชั้นมาถวายเป็นพระพุทธบูชา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐

นอกจากพระสิทธารถ พระประธานปางมารวิชัยแล้ว ยังมีพระวรวินายก พระพุทธรูปหล่อปางสมาธิ ซึ่งสมเด็จ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงหล่อเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕ แล้วอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถ (อยู่หน้าพระประธาน) วัตถุสำคัญอื่นๆ ได้แก่ พระบรมรูปหล่อรัชกาลที่ ๕ ทรงเครื่องจอมพล ธรรมมาสน์ชั้นเอกในงานพระบรมศพรัชกาลที่ ๕ จำนวน ๑ ธรรมาสน์ พระไตรปิฎกพิมพ์ในสมัยรัชกาลที่ ๕ พร้อมทั้งตู้ ทรงสร้างถวายไว้สำหรับวัด ๑ จบ เจ้าคุณจอมมารดาสำลีสร้างถวายไว้สำหรับวัดอีก ๑ จบ เตียงนอนลายสลักปิดทอง ๑ เตียง โต๊ะเท้าสิงห์ ๑ โต๊ะ เสลี่ยง ๑ ที่ รวม ๓ สิ่งนี้ประกอบเข้าด้วยกันเป็นธรรมาสน์สำหรับแสดงธรรมในวันธรรมสวนะ ซึ่งประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ

วัดพิชยญาติการามได้รับการปฏิสังขรณ์หลายครั้ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ พระราชทานตำหนักเก๋งมาประดิษฐานไว้ ๑ หลัง (ปัจจุบันนี้ไม่เหลืออยู่แล้ว) พระศาสนโสภณ (อ่อน) ครั้งเป็นพระเมธาธรรมรส ได้ปฏิสังขรณ์เสนาสนะและสร้างตึก ๒ ชั้นขึ้นอีก ๒ หลัง ใช้เป็นโรงเรียน ขนานนามว่า “โรงเรียนสุขุมาลัย” เพราะสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี โปรดให้สร้างอุทิศไว้ในพระพุทธศาสนา เดิมเป็นโรงเรียนภาษาบาลี ต่อมาได้สอนหนังสือไทย ปัจจุบันนี้สอนภาษาบาลีตามเดิม ตึกอีกหลังหนึ่งเป็นที่อยู่ของเจ้าอาวาส นามว่า “กุฎีทรงช่วย” เพราะขณะสร้าง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ พระราชทานทรัพย์ทรงช่วย ๑๐ ชั่ง และมีผู้อื่นโดยเสด็จพระราชกุศลด้วย

พ.ศ. ๒๔๕๗ สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตมรรคทายก ได้ทรงปฏิสังขรณ์และทนุบำรุงวัดมากมาย ได้แก่ การซ่อมพระอุโบสถและพระปรางค์ทั้ง ๓ องค์ เมื่อซ่อมเสร็จแล้วให้มีงานสมโภชฉลอง ๓ วัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาล ที่ ๖ และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระราชทานทรัพย์ทรงช่วยปฏิสังขรณ์ด้วย ทั้งยังโปรดให้บอกบุญแก่พี่น้องสกุลบุนนาค มีพระยาไพบูลย์สมบัติ (เดช บุนนาค) เป็นต้น และผู้มีจิตศรัทธาโดยเสด็จ พระราชกุศลครั้งนี้ ได้โปรดให้จารึกนามติดหน้ากุฏินั้นๆ ทุกห้อง ดังปรากฎอยู่ทุกวันนี้

ขอขอบคุณ http://www.bunnag.in.th/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .