พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ-เสาหุ้มดีบุก

pillar1

เสาทั้งสี่ต้นภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณประดับด้วยดีบุกดุนลายจากฝีมือช่างชาวนครศรีธรรมราชและช่างเชียงใหม่ ซึ่งชำนาญการทำเครื่องถมและเครื่อง เงินอันเป็นงานดุนโลหะประเภทหนึ่ง ตามปกติงานดุนโลหะมักใช้วัสดุทองแดง ทองเหลือง และเงินแต่เหตุที่เลือกใช้ดีบุก เป็นงานดุนประดับเสาในอาคารพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ เนื่องมาจากแต่เดิม คุณเล็ก วิริยะพันธุ์ มีดำริที่จะสร้างช้างด้วยดีบุก แต่เมื่อไม่สามารถทำได้และต้องเปลี่ยนมาใช้ทองแดงแทน คุณพากเพียร วิริยะพันธุ์ ผู้สานต่องานจึงนำดีบุกมาประดับเสาทั้งสี่ต้น เพื่อเป็นที่ระลึกและสืบทอดเจตนารมณ์ของบิดา เสาแต่ละต้นถ่ายทอดเรื่องราวศาสนาสำคัญของโลกประกอบด้วยศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ ศาสนาฮินดู และศาสนาพุทธนิกายมหายาน(ประวัติเจ้าแม่กวนอิม) ซึ่งแต่ละต้นจะใช้ระยะเวลาในการทำงานประมาณสามปี เสาทั้งสี่จึงเป็นเสาแห่งความกตัญญูและเสาสี่ศาสนาค้ำจุนโลก
วัสดุและอุปกรณ์ในการทำงานสลักดุน
1.แผ่นดีบุกแผ่นเรียบ
2.ค้อน
3.สิ่ว (หลายขนาด)
4.ชันและขี้ผึ้ง
5.เส้นลวดตะกั่ว
6.ตะเกียงเป่าแล่น
7.กรอบไม้หรือกะบะไม้
8.ดินน้ำมัน

pillar

ขั้นตอนการสลักดุนแผ่นดีบุก
1.นำกระดาษไขต้นฉบับไปถ่ายเอกสาร
2.นำภาพถ่ายเอกสาร ทากาวแล้วติดลงไปที่แผ่นดีบุก
3.ใช้สิ่วและค้อนสลักลงไปตามลวดลายของภาพที่อยู่บนแผ่นดีบุก
4.เมื่อสลักลวดลายเรียบร้อยแล้วนำแผ่นดีบุกด้านที่มีลวดลายวางคว่ำหน้าลงไปบนดินน้ำมัน เพื่อที่จะดุนจากด้านหลัง และทำให้ด้านหน้าของชิ้นงานนูนออกมา
5.เมื่อลวดลายด้านหน้านูนออกมาแล้ว จะตกแต่งรายละเอียดเพิ่มเติมโดยใช้ชันกับขี้ผึ้งไปต้มรวมกันแล้วนำมาเทใส่ในกรอบไม้หรือกะบะไม้ นำแผ่นดีบุกวางด้านหลังลงไปบนชันกับขี้ผึ้งทิ้งให้เย็น แล้วจึงแกะสลักลวดลายด้านหน้าเพิ่มเติมเพื่อให้เห็นรายละเอียดที่เด่นชัดขึ้น
6.เมื่อตกแต่งเสร็จเรียบร้อยจะใช้ไฟลนชันกับขี้ผึ้งออกจากด้านหน้าของแผ่นดีบุก จะทำให้ชันกับขี้ผึ้งที่อยู่ด้านหลังละลายออกทีละน้อย แล้วจึงดึงแผ่นดีบุกออกมาจากกรอบไม้หรือกะบะไม้
7.นำแผ่นดีบุกที่เคาะดุนเรียบร้อยแล้วไปประกอบหุ้มที่ต้นเสาทีละแผ่น โดยใช้เส้นลวดตะกั่วบัดกรีเชื่อมให้แต่ละแผ่นติดกัน
8.ขัดตกแต่งแผ่นดีบุกด้วยน้ำยา เพื่อให้เสาหุ้มดีบุกมีความสวยงามมากขึ้น
ธรรม – เสา – โลก
มนุษย์ต่างมีศรัทธาและยึดมั่นในศาสนาที่ต่างกัน แต่แก่นแท้ของศาสนานั้นมี ธรรม เป็น หลักเดียว ข้อปฏิบัติของแต่ละศาสนาจึงเป็นแนวทางที่ช่วยชี้แนะให้มนุษย์เข้าถึงธรรม แต่เพราะสิ่งที่มนุษย์ต้องการบรรลุนั้นไม่เหมือนกัน วิถีแห่งการปฏิบัติตนบนความเชื่อและยึดถือจึงต่างกัน
(เสาคริสต์) มอบความรักเพื่อปลดเปลื้องบาปของมนุษย์
การก่อเกิดของมวลมนุษย์ การเชื่อฟังในพระเจ้า สู่การไถ่บาปของพระเยซูให้กับมนุษย์ ด้วยฐานะบุตรแห่งพระเจ้า ผู้มีความรักอันบริสุทธิ์ รักที่ไม่มีข้อแม้ และยอมสละชีวิตเพื่อปลดเปลื้องบาปให้กับมนุษย์ สอนให้มนุษย์รู้จักรักและการจะได้มาซึ่งความรัก ต้องเชื่อมั่นและศรัทธาในตนเอง
(เสาพราหมณ์ – ฮินดู) ชี้ทางด้วยภาวนา และบูชาเพื่อพ้นทุกข์
พระตรีมูรติมหาเทพผู้เป็นศูนย์รวมความเชื่อ และศรัทธาจากศาสนิกชนทั่วโลก โดยเฉพาะองค์พระนารายณ์ผู้ยิ่งใหญ่ ที่ได้อวตารลงมาถึง ๑๐ ปาง เพื่อช่วยเหลือทั้งมนุษย์และเทพยดา จากภัยพิบัติทางธรรมชาติ จากหมู่มาร และจากมนุษย์ด้วยกัน
(เสาพุทธมหายาน) สร้างสันติสุขด้วยกรุณา
ถ่ายทอดเรื่องราวของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์จนบรรลุเป็น พระโพธิสัตว์ ผู้มากด้วยความกรุณาที่มีต่อทั้งมนุษย์และสรรพสัตว์ โดยระงับการนิพพานไว้จนกว่าจะช่วยเหลือมวลมนุษย์และเหล่าสัตว์ทั้งหมดจนพ้น จากความทุกข์
(เสาพุทธเถรวาท) หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดด้วยปัญญาและความเพียร
การบำเพ็ญเพียรของพระโพธิสัตว์ทั้งสิบชาติ ด้วยคุณธรรมสิบประการ ได้แก่ เนกขัมบารมี วิริยะบารมี เมตตาบารมี อธิษฐานบารมี ปัญญาบารมี ศีลบารมี ขันติบารมี อุเบกขาบารมี สัจจะบารมี และทานบารมี เรื่องราวทั้งหมดนี้ได้ถูกร้อยเรียงไว้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงการบำเพ็ญเพียรอย่างอุตสาหะของมหาบุรุษ ก่อนที่จะได้มาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ชี้หนทางแห่งการหลุดพ้นจากความทุกข์แก่มวลมนุษยชาติ
ลวดลายจำหลักดีบุกที่เสาทั้งสี่ต้นนั้น จึงสื่อความหมายถึงความงดงาม และง่ายในการมองเห็นศาสนา แต่แฝงไว้ซึ่งกุศโลบาย ให้เกิดการศึกษา ทำความเข้าใจ และปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงแก่นของศาสนาอย่างแท้จริง
ด้วยเจตนารมณ์ของผู้สร้างช้างเอราวัณ ที่จะนำเอายอดแห่งแก่นสารทางวัฒนธรรมมาเผยแพร่ในรูปแบบที่เข้าใจง่ายนั้น จึงได้ใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือสำคัญ ทำหน้าที่รักษาวัฒนธรรมและจรรโลงศาสนา และแสดงกตัญญุตาสืบทอดเจตนารมณ์เดิมที่จะสร้างช้างเอราวัณด้วยดีบุก แต่ต้องเปลี่ยนไปใช้แผ่นทองแดงแทนเพื่อความเหมาะสม ต้นเสาทั้งสี่ภายในตัวอาคาร จึงถูกหุ้มด้วยภาพสลักดุนดีบุกในเรื่องราวของศาสนาที่ประณีตและงดงามทั้งสิ้น.

ขอขอบคุณ http://www.ancientcitygroup.net/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .