พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ-ภาพจิตรกรรมสุริยจักรวาล

art

คุณเล็ก วิริยะพันธุ์ มีความคิดว่าภายในท้องช้างซึ่งจะจัดแสดงโบราณวัตถุนั้น ควรมีลักษณะเป็นสวรรค์และจักรวาล คุณพากเพียรบุตรชายคนโตผู้สานเจตนารมณ์ของบิดา ได้ติดต่อนาย Jakob Schwarzkopf ศิลปินชาวเยอรมัน ผู้สร้างผลงานกระจกสีที่เพดานอาคารทรงโดมพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ ให้ดำเนินการออกแบบวาดภาพจิตรกรรมสีฝุ่นรูปสุริยจักรวาลภายในท้องช้างเอราวัณศิลปินผู้ออกแบบอาศัยความโค้งของท้องช้างโดยออกแบบภาพวาดเป็นรูปสุริยจักรวาลในลักษณะร่วมสมัย มีดวงดาวต่างๆในระบบสุริยจักรวาลเรียงรายอยู่ในท้องฟ้าจนสุดขอบจักรวาลภาพจิตรกรรมสีฝุ่นนี้เป็นการวาดภาพแบบโบราณของทางยุโรปเช่นเดียวกับการวาดภาพของไทย
โดยเริ่มจากทำความสะอาดพื้นปูนที่จะวาดให้เรียบร้อย จากนั้นทาสีรองพื้นครั้งที่ 1 เมื่อแห้งจึงทาสีรองพื้นครั้งที่ 2 คุณสมบัติของสีรองพื้นนี้คือลบรอยร้าวของผนังปูน หลังจากนั้นจึงทาทับด้วยสีรองพื้นจริง(สีขาว)เป็นครั้งที่ 3 แล้วปล่อยให้แห้งสนิท นำกระดาษไขมาปรุตามลายเส้นของภาพจิตรกรรม แล้วทาบบนพื้นปูนที่จะวาด จึงใช้สีฝุ่นตบไปตามรอยปรุของกระดาษไข ซึ่งจะได้โครงร่างของภาพเขียนก่อนที่จะลงสี จากนั้นจึงลงสีตามที่ออกแบบไว้ภาพกลุ่มอุกกาบาตมีการวาดแตกต่างไปจากภาพอื่นๆคือการปิดทองคำเปลวที่ภาพซึ่งเป็นเทคนิคโบราณของเยอรมัน โดยเริ่มจากทาสีทองที่รูปอุกกาบาตแล้วใช้น้ำประสานทองทาทิ้งไว้จนแห้งประมาณ 3 ชั่วโมง จากนั้นนำแผ่นทองคำเปลวมาปิดทับโดยใช้มือตบให้แผ่นทองติดสนิทแล้วใช้แปรงปัดแผ่นทองเป็นเนื้อเดียวกันไม่ให้มีรอยต่อ เมื่อเสร็จสีทองจะขับเน้นกลุ่มอุกกาบาตให้ลอยเด่นขึ้นมาภาพจิตรกรรมสุริยจักรวาลเป็นภาพขอบฟ้าอันเวิ้งว้าง ประกอบด้วยดวงดาวต่างๆ ทางช้างเผือก กลุ่มอุกกาบาต ดาวหาง ซึ่งเป็นสรรพสิ่งที่อยู่ร่วมกันในจักรวาล และเราก็คือสิ่งมีชีวิตเล็กๆในจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาล

ขอขอบคุณ http://www.ancientcitygroup.net/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .