พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ–กระจกสี

glass

กระจกสีเป็นงานศิลปะในวัฒนธรรมตะวันตก ซึ่งติดตั้งอยู่ที่เพดานอาคารทรงโดมหรือชั้นโลกมนุษย์ของพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ โดยศิลปินผู้ออกแบบและวาดภาพบนกระจกสีนี้เป็นชาวเยอรมันชื่อว่า Jakob Schwarzkopf เป็นศิลปินอิสระ รับงานออกแบบและวาดภาพตามโบสถ์ วิหารและสถานที่สำคัญในประเทศแถบยุโรป อเมริกา และตะวันออกกลาง ศิลปินท่านนี้ประทับใจคุณเล็กผู้สร้างเมืองโบราณ บางปูและปราสาทสัจธรรมที่พัทยา จึงคิดฝากผลงานของตนไว้ ณ พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณที่คุณเล็กกำลังดำเนินการก่อสร้างแห่งนี้
เมื่อศิลปินทราบขนาดพื้นที่ของงานศิลปะที่จะทำการติดตั้งแล้ว จึงเริ่มทำการออกแบบภาพวาดและลวดลาย แล้วจึงสั่งบริษัทผลิตกระจกสีตามกรรมวิธีโบราณคือ เป่าแก้วแล้วนำเข้าเครื่องรีดเป็นแผ่นโดยแยกกระจกสีออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่ศิลปินต้องวาดภาพลงไปกับส่วนกระจกสีพื้นเป็นลวดลายประกอบของผลงาน จากนั้นศิลปินจะนำกระจกที่ได้ไปวาดภาพตามที่ออกแบบไว้ แล้วนำกระจกไปอบเพื่อให้ผลงานมีความคงทนยืนนาน เมื่ออบกระจกครบตามระยะเวลา บริษัทที่ดำเนินการติดตั้งกระจกสีจะลำเลียงกระจกสีจากเยอรมันมายังประเทศไทย การติดตั้งนั้นทางพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณจะเตรียมโครงเหล็กสำหรับยึดกระจกสีไว้ตามที่บริษัทรับติดตั้งได้คำนวณและออกแบบไว้ ซึ่งบริษัทส่งเจ้าหน้าที่จากเยอรมันมาทำการติดตั้งกระจกสี โดยการใส่กรอบตะกั่วแผ่นกระจกและมีลวดสแตนเลสรองรับอีกทีหนึ่ง ทั้งนี้ขณะทำการติดตั้งศิลปินผู้ออกแบบและบริษัทที่ดำเนินงานติดตั้งจะเดินทางมาตรวจตราเป็นระยะ
งานกระจกสีชิ้นนี้เป็นงานศิลปะในแนวทางกึ่งนามธรรมแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับโลกมนุษย์ ประกอบด้วยทวีปทั้งห้าอยู่ตรงกลางมีดวงอาทิตย์ส่องแสงและให้พลังงานแก่สรรพชีวิต ทั้งหมดถูกล้อมรอบด้วยจักรราศี 12 ราศีและบริเวณขอบนอกสุดเป็นภาพมนุษย์ที่แสดงอากัปกิริยาต่างนานา ศิลปินใช้สีเป็นตัวแทนของธาตุทั้ง 4ได้แก่ สีเหลืองคือดิน สีแดงคือไฟ สีขาวคือลม และสีฟ้าคือน้ำ เมื่อการติดตั้งเสร็จสมบูรณ์ ทำให้ภายในอาคารทรงโดมหรือชั้นโลกมนุษย์มีแสงสว่างสอดส่องเข้ามาผ่านเพดานกระจกสีประดุจดั่งความดีงามที่ส่งมายังโลกมนุษย์

ขอขอบคุณ http://www.ancientcitygroup.net/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .