ประวัติวัดไพชยนต์พลเสพย์ ราชวรวิหาร

วัดไพชยนต์พลเสพย์เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ราชวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ตำบลบางพึ่ง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ประวัติของวัดนี้มีเรื่องราวปรากฏอยู่ในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่๒ พระราชนิพนธ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า “ในคราวเมื่อสร้างป้อมเมืองสมุทรปราการ ทรงพระราชดำริว่า ป้อมที่ได้สร้างขึ้นที่เมืองนครเขื่อนขันธ์ แต่ก่อน ก็ยังค้างอยู่ไม่สำเร็จสมบูรณ์ จึงโปรดให้ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่น ศักดิพลเสพ เป็นแม่กองทำการสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์ที่ยังค้างอยู่ ให้สร้างป้อมขึ้นอีกป้อมขึ้นอีกป้อมหนึ่ง ชื่อ ป้อมเพชรหึง เปลี่ยนให้ขุดคลองลัดหลังเมืองนครเขื่อนขันธ์ คลองหนึ่งมาทะลุออกคลองตาลาว คลองลัดที่ขุดใหม่นี้ เมื่อขุดกว้าง ๖ วา ลึก ๕ ศอก ยาว ๕๐ เส้น กรมหมื่นศักดิพลเสพ ทรงสร้างวัดขึ้นในคลองลัด ที่ขุดใหม่นี้วัดหนึ่ง พระราชทานนามว่า วัดไพชยนต์พลเสพย์ พระเพชรพิชัย (เกศ) ซึ่งเป็นนายงานสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์ สร้างวัดหนึ่งขึ้น ใกล้กับวัดไพชยนต์พลเสพย์ ชื่อวัดโปรดเกศฐาราม ยังเป็นพระอารามหลวงอยู่จนทุกวันนี้ทั้งสองวัด

จากหลักฐานนี้ทำให้ทราบว่าวัดนี้ได้สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเสิศหล้านภาลัย พร้อมๆกับการขุดคลองปากลัด แต่จะสร้างขึ้นเมื่อปีใด และคลองปากลัดจะขุดขึ้นในปีใดไม่มีบอกไว้ อย่างไรก็ตาม อาจจะประมาณได้ว่าไม่ก่อนปี พ.ศ.๒๓๖๒ เพราะในพระราชพงศาวดารกล่าวว่าปีนี้เป็นปีที่เริ่มสร้างป้อมเมืองสมุทรปราการหลายป้อมด้วยกัน เพื่อป้องกันญวนที่อาจจะยกมาทางทะเล และในคราวสร้างป้อมเมืองสมุทรปราการนี้เอง ก็ได้ขุดคลองลัด และสร้างวัดไพชยนต์พลเสพย์ ขึ้นดังที่กล่าวข้างต้น ผู้สร้างวัดนี้คือ กรมหมื่นศักดิพลเสพ ซึ่งทรงดำรงพระยศเป็นเจ้าต่างกรม กำกับราชการในกรมพระกลาโหมในรัชกาลที่ ๒ แลละต่อมาได้เลื่อนยศเป็นกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ ในรัชกาลที่ ๓ ชื่อของวัดที่ว่า “ไพชยนต์พลเสพย์” นี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงสันนิษฐานว่าคงจะเป็นนามใหม่เดิมเมื่อแรกสร้างในรัชกาลที่ ๒ เห็นจะเรียกว่า “วัดกรมศักดิ” หรือ “วัดปากลัด” ถึงรัชกาลที่ ๓ คนทั้งหลายก็คงจะเรียกว่า “วัดวังหน้า” ที่ในพระราชราชพงศาวดารอ้างว่า พระราชทานนามว่า วัดไพชยนต์พลเสพย์นั้น เห็นจะไม่หมายถึง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชทานไว้แต่แรกสร้างก็ได้ เพราะมีเค้าเงื่อนตามพระวินิจฉัยของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพในหนังสือสาสน์สมเด็จ ซึ่งทรงแน่พระทัยว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นผู้พระราชทานนามในเวลาต่อมาว่าดังนี้

“บุษบกยอดปรางค์” (ที่อยู่วัดไพชยนต์พลเสพย์) กรมพระราชวังบวรฯ รัชกาลที่ ๑ ทรงสร้างประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ ณ พระที่นั่ง พุทไธสวรรย์ มีเรื่องปรากฏว่า เมื่อกรมพระราชวังบวรฯ พระองค์นั้นสวรรคตแล้ว การพิทักษ์รักษาในวังหน้าหละหลวมถึงมีผู้ร้ายขึ้นลักเครื่องบูชาในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงโปรดฯ ให้เชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมาไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (ปรากฏในจดหมายเหตุครั้งรัชกาลที่ ๓ ว่า ตั้งไว้บนฐานชุกชีทางด้านใต้) แต่บุษบกยอดปรางค์นั้นยังอยู่ในพระที่นั่นพุทไธสวรรย์ จนสิ้นรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๒ ไม่ได้เชิญพระรพุทธสิหิงค์กลับไปไว้วังหน้า บุษบกนั้นตั้งว่างอยู่เปล่าๆ กรมพระราชวังบวรฯ รัชกาลที่ ๒ จึงโปรดฯ ให้ย้ายเอาไปไว้ในที่อื่น (จะเอาไปไว้ไหนไม่ปรากฏ) แล้วตั้งพระที่นั่นเศวตฉัตรในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์แทนบุษบกนั้น ถึงรัชกาลที่ ๓ กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ จึงโปรดฯ ให้เอ่บุษบกยอดปรางค์นั้นไปตั้งเป็นที่ประดิษฐานพระประธานที่ในพระอุโบสถวัดไพชยนต์พลเสพย์ ซึ่งเป็นวัดที่พระองค์ได้ทรงสร้างขึ้นในคลองปากลัด จังหวัดพระประแดง แต่เมื่อยังเป็นเจ้าต่างกรมอยู่ในรัชกาลที่ ๒ สังเกตดูบุษบกนั้นเป็นฝีมือช่างชั้นหลังปะปนของเดิมอยู่ สันนิษฐานว่าเห็นจะทอดทิ้งจนดูชำรุดทรุดโทรมมาก กรมพระราชวังบวรฯ รัชกาลที่ ๓ ไปทอดพระเนตรเห็น ทรงสังเวชพระหฤทัย จึงโปรดฯ ให้เอาไปถวายเป็นพุทธบูชา (อย่างว่า “ปล่อยพระพุทธบาท”) เห็นจะต้องบูรณปฏิสังขรณ์มาก จึงปรากฏฝีมือช่างสมัยหลังปะปนอยู่ถึงป่านนี้ อนึ่งซึ่งวัดนั้นมีนามว่า “ไพชยนต์พลเสพย์” พิเคราะห์คำ “ไพชยนต์” ดูหมายจะเอาบุษบกนั้นเป็นนิมิต และคำว่า “พลเสพย์” มาแต่สร้อยพระนามของกรมพระราชวังบวรฯ รัชกาลที่ ๓ ซึ่งถวายบุษบกนั้น ชวนให้เห็นว่านามไพชยนต์พลเสพย์ คงจะเป็นนามใหม่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงขนานนามเมื่อในรัชกาลที่ ๔

พระวินิจฉัยของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพที่ว่า รัชกาลที่ ๔ ทรงขนานนามวัดนี้ก็ดูน่าจะเป็นจริง เพราะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงชำนาญในทางอักษรศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง คงจะขนานนามพระอารามหลวงซึ่งสร้างแต่รัชกาลที่ ๒ และเรียกกันเป็นสามัญว่า “วัดวังหน้า” นี้ให้ไพเราะขึ้น โดยผูกเป็นศัพท์มคธ ในหนังสือตำนานพระอารามหลวง ก็ปรากฏชื่อพระอารามหลวง ซึ่งรัชกาลที่ ๔ ทรงพระราชทานนามหลายอาราม เช่น วัดทอง พระราชทานนามว่า วัดกาญจนสิงหาสน์, วัดตะเคียน พระราชทานนามว่า วัดมหาพฤฒาราม, วัดสมอราช พระราชทานนามว่า วัดราชาธิวาส, วัดเงิน พระราชทานนามว่า วัดรัชฎาธิฐาน, วัดเจ้าขรัวหงส์ พระราชทานนามว่า วัดหงส์รัตนาราม และวัดขวิด พระราชทานนามว่า วัดกระวิศราราม เป็นต้น

วัดไพชยนต์พลเสพย์ เมื่อแรกสร้าง กรมหมื่นศักดิพลเสพ คงจะได้เป็นพระธุระอุปการะมาตลอด และเมื่อกรมหมื่นศักดิพลเสพ ได้ทรงดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรฯ ในรัชกาลที่ ๓ วัดนี้ก็คงจะมีความสำคัญมากขึ้น และคงจะมีฐานะเป็นพระอารามหลวงในรัชกาลนี้ ประกอบทั้งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชนิยมในการสร้างวัด ถึงกับมีคำพังเพยเล่าสืบต่อกันมาในรัชกาลที่ ๑ ว่า ใครรบทัพจับศึกเก่งก็เป็นคนโปรด ในรัชกาลที่ ๒ ใครเป็นนักเลงกลอนก็โปรด ในรัชกาลที่ ๓ ใครสร้างวัดวาอารามก็เป็นคนโปรด เพราะฉะนั้นวัดไพชยนต์พลเสพย์ ก็คงจะรุ่งเรืองมากในรัชกาลที่ ๓ นอกจากนี้ยังมีหมายรับสั่งในรัชกาลที่ ๓ เรื่องการบูรณะซ่อมแซมพระอารามนี้ว่า มีรับสั่งให้นำทองคำเปลวไปจ่ายให้ช่างรักปิดเสาเม็ดราวเทียนในพระอุโบสถ กระจัง เสามุขเด็จหน้าหลังพระวิหารใหญ่ ในรัชกาลต่อๆมา ไม่มีหลักฐานว่าวัดนี้ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์หรือไม่ อย่างไรก็ตามวัดนี้ยังคงมีฐานะเป็นพระอารามหลวง ตราบเท่าทุกวันนี้

วัดไพชยนต์พลเสพย์ เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ตำบลบางพึ่ง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เป็นสีมาชนิดพัทธสีมา สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๒

๑.ที่ตั้งวัด ขนานไปตามคลองลัดหลวง ด้านทิศตะวันออกตลอดหน้าวัด ยาว ๔ เส้น ๖ วา ด้านทิศเหนือเลียบเข้าไปในคลองซอย ชื่อคลองเพลง กว้าง ๓เส้น ๕ วา ด้านทิศตะวันตกสุดเขตมีคูหักมุมเลียบไปตามหลังวัด ยาว ๕ เส้น ๓ วา ด้านทิศใต้มีลำประโดงไปทะลุหน้าวัดจดคลองลัดหลวง ยาว ๓ เส้น ๑๑ วา คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ ๑๕ ไร่ ๑ งาน ๑๔๘ ตารางวา

๒.ที่ธรณีสงฆ์ เลียบไปตามคลองลัดหลวงสุดปากคลองด้านเหนือยาวประมาณ ๑๑ เส้น ด้านใต้เข้าไปในคลองลัดหลวง ยาวประมาณ ๕ เส้น ด้านใต้เข้าไปในคลองลัดหลวง ยาวประมาณ ๕ เส้น แล้ววกอ้อมไปทางทิศตะวันตก เป็นเนื้อที่สวนและนารอบวัด(ปัจจุบันเนื้อที่จัดสรรปลูกบ้านและสวนรอบวัด) รวมเนื้อที่นาและสวนทั้งหมด ๔ แปลง รวมเนื้อที่ประมาณ ๒๐๐ ไร่ ในอดีตสมัยพระเดชพระคุณพระครูบวรวิมุติ (บุญ) มีนายกรองแจ่มกระจ่าง เป็นมัคคทายกจัดการหาผลประโยชน์โดยมีผู้เช่าเป็นรายปี แล้วทำรายงานผลประโยชน์ทั้งหมดส่ง กระทรวงธรรมการ แจ้งรายรับรายจ่ายการก่อสร้างและปฏิสังขรณ์เป็นลำดับมา ปัจจุบันจัดประโยชน์โดยการจัดสรรที่ธรณีสงฆ์ แบ่งที่เป็นล็อคๆให้เช่าปลูกบ้านที่อยู่อาศัย ซึ่งวัดได้ขอเวรคืนจากกรรมการศาสนาเป็นบางส่วน จัดประโยชน์โดยนายสุดใจ สิทธิกำจร ไวยาวัจจกร นอกจากนั้นจัดประโยชน์โดยศึกษาธิการอำเภอ

ขอขอบคุณ https://sites.google.com

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .