ประวัติความเป็นมาของวัดชัยมงคล

วัดชัยมงคลเดิมเขียนว่า“วัดไชยมงคล“ ปรากฏตามหนังสือที่อ้างถึงของวัดนี้ เช่นโฉนดที่ดิน เป็นต้นปัจจุบันเขียนว่า “ชัยมงคล“ ทั้งในส่วนราชการและทั่วๆไปที่ได้นามเช่นนั้น ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเหตุการณ์เล่าว่าในระยะเริ่มแรกของการก่อสร้าง มีอุปสรรคหลายประการ เช่น มีผู้ยับยั้งไม่ให้สร้าง เพราะตั้งอยู่ใกล้กับวัดบางมูลนาก ซึ่งเป็นวัดเก่าคู่บ้านคู่เมือง หากมีการอนุญาตให้สร้างขึ้นใหม่อีกวัดหนึ่งแล้ว จะเป็นเหตุให้วัดเก่าร่วงโรยทรุดโทรม ไม่ได้รับการบำรุงเท่าที่ควร เพราะวัดใหม่ตั้งอยู่ใกล้ชุมชนกว่า เป็นต้น แต่คณะผู้ริเริ่มเห็นว่าเมื่อมีผู้ให้ที่ดินและสร้างเสนาสนะไปบ้างแล้ว ก็ควรจะสร้างต่อไปจนกว่าจะสำเร็จ ตามความมุ่งหมายเดิม จึงส่งคนไปติดต่อกรมการศาสนา เพื่อชี้แจงเหตุผล และขออนุญาตสร้างวัด ในช่วงนั้นท่านเจ้าคุณพระมงคลเทพมุนี ( นวม พุทธสร ) วัดอนงคาราม กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเจ้าคณะมณฑลพิษณุโลก ได้มาที่วัดบางมูลนากด้วยกิจพระศาสนาบางประการ ( บางท่านว่ามาตั้งเจ้าคณะอำเภอบางมูลนาก ) คณะผู้ริเริ่มจึงถือโอกาสอาราธนาท่าน มาที่วัดสร้างใหม่ แล้วพร้อมกันถวายที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างใหม่ทั้งหมด สุดแล้วแต่อัธยาศัยของท่านจะจัดการอย่างใด เพราะได้ถวายให้เป็นของท่านแล้ว เมื่อเห็นความปรารถนาดีของผู้ถวาย ท่านก็รับและยกให้เป็นศาสนสมบัติโดยให้สร้างเป็นวัดต่อไป เนื่องจากท่านมีความเห็นว่า วัดที่จะสร้างขึ้นจะไม่กระทบกระเทือนต่อวัดเก่ามากนัก เพราะอยู่ห่างกันพอสมควร ไม่ใกล้ชิดกันดังที่ได้รับรายงาน ทั้งตั้งอยู่คนละฝั่งแม่น้ำด้วย พร้อมกับให้นามวัดใหม่นี้ว่า “วัดชัยมงคล“ ซึ่งคล้ายกับราชทินนามของท่าน และเพราะชนะอุปสรรคจนสร้างเป็นวัดได้ เมื่อท่านเจ้าคณะมณฑลรับที่ดินสิ่งปลูกสร้างและ อุทิศให้เป็นวัดดังนี้แล้ว อุปสรรคในการขออนุญาตสร้างก็เป็นอันหมดไป
ปูชนียวัตถุและโบราณวัตถุ
วัดชัยมงคลเป็นวัดที่สร้างขึ้นมาใหม่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๗ จึงไม่มีปูชนียวัตถุ และโบราณวัตถุอันสำคัญทางประวัติศาสตร์

ประวัติสิ่งปลูกสร้างและเสนาสนะ
แรกเริ่มการก่อสร้างในราวปี พ.ศ. ๒๔๖๗ ได้มีบุคคลกลุ่มหนึ่ง คือ

๑. นายพริ้ง อาจองค์
๒. นายฉาย แก้วสาหร่าย
๓. นายพร ทองทักษ์
๔. นายโต๊ะ วัลลิภากร

ได้พิจารณาเห็นว่า
“…การข้ามฟากไปทำบุญยังวัดบางมูลนาก ต้องข้ามแม่น้ำน่านโดยเรือจ้าง ในฤดูน้ำหลาก น้ำไหลเชี่ยวไม่ปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สิน อีกทั้งประชาชนมีมากพอสมควรที่จะสร้างวัดขึ้นใหม่ได้ …” จึงติดต่อขอที่ดินจากนายยา นางบุญ (ไม่ทราบนามสกุล) บุคคลทั้งสองก็อุทิศที่ดินให้สร้างวัดได้ตามความประสงค์
นายพริ้ง อาจองค์ และ นายฉาย แก้วสาหร่าย จึงเดินทางเข้ากรุงเทพมหานคร เพื่อทำการติดต่อกับกรมการศาสนา เพื่อขออนุญาตสร้างวัด ในที่สุดกรมการศาสนาก็อนุญาตให้สร้างวัดได้ คณะบุคคลผู้ดำเนินการก่อสร้างนี้เห็นว่า การก่อสร้างวัดใหม่นั้นย่อมมีปัญหา และอุปสรรคติดตามมามากมายเห็นสมควรให้มีคณะกรรมการเพิ่มขึ้นอีก จึงได้ตั้งคณะกรรมการเพิ่มขึ้นดังนี้

๑. นายถมยา หรือครูยา วิเศษวงษ์
๒. นายเกลี้ยง สุขโข
๓. นายจอย หรือหมอจอย
๔. นายถมยา ภรรยาชื่อ นางพุก

เมื่อได้คณะกรรมการผู้ดำเนินการรวมอีก ๔ ท่านแล้ว จึงได้บอกบุญกับท่านผู้มีจิตศรัทธาเพื่อที่จะได้สร้างที่อยู่อาศัยแก่พระภิกษุสามเณร
ผู้ศรัทธาในครั้งแรก มีดังนี้

๑. นายแต้ม นางถุงเงิน
๒. นายละมุด นางอ้อย สิทธิเกษร
๓. นายเป้ นางหมี
๔. แม่จีน (มารดานางเกียว สามีชื่อนายย่งง้วน)

สร้างกุฏิถวาย รวมเป็น ๔ หลัง ราคาทั้งหมดประมาณ ๓,๐๐๐ บาท (สามพันบาท) จากนั้นมีการ รื้อถอนเพราะทรุดโทรมไปมาก ก่อสร้างเพิ่มเติม ถาวรวัตถุต่างๆขึ้นใหม่ จนถึงปัจจุบัน

ขอขอบคุณ http://www.luangporthob.com/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .