วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร

225061_503572563013296_719460237_n

วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ซอยเฉลิมพระเกียรติ 15 เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา รัชกาลที่ 3 ทรงสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2390 เพื่อถวายพระอัยกา พระอัยกีและสมเด็จพระราชชนนี มาสร้างแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 4 ภายในเขตพระอารามมีความสงบ สะอาด ร่มรื่น ศิลปะสถาปัตยกรรมอนุรักษ์รูปแบบเดิมไว้ แม้สิ่งก่อสร้างต่างๆ ก็มีความกลมกลืนกับสถาปัตย์เดิม วัดนี้ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นประจำปีพ.ศ. 2536 จากสมาคมสถาปนิกสยาม

สถาปัตยกรรมในวัดที่น่าสนใจได้แก่

พระอุโบสถ เป็นศิลปะแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 (คือ ศิลปะที่ได้รับอิทธิพลจากจีนมาผสม) หลังคามุงด้วยกระเบื้องรางดินเผาชนิดกาบกล้วยไม่เคลือบสี ถือปูนทับแนวทำเป็นลอนลูกฟูกแบบเก๋งจีน หน้าบันประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสี สลับลวดลายใบดอกพุดตาน กระจังฐานพระ ช่อฟ้าใบระกา ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีสลับลายจากประเทศจีน ผนังด้านในเขียนสีลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง มีช่อดอกพุดตานภายใน เพดานลายฉลุปิดทอง ซุ้ม ประตูหน้าต่างประดับลายปูนปั้นรูปใบและดอกพุดตาน พื้นประดับกระจก

ผนังภายในพระอุโบสถเขียนสีลายดอกไม้ร่วง บานประตูหน้าต่างเขียนลายทองรดน้ำ กรอบประตูหน้าต่างประดับปูนปั้นยกดอกพุดตาน พื้นประดับกระจกส่วนด้านในของบานประตูหน้าต่างเขียนรูปกอบัว ดอกบัว นก และสัตว์น้ำ

พระประธานในพระอุโบสถวัดเฉลิมพระเกียรติเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยทองแดงทั้งองค์ มีตำนานเล่าว่า ในสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯให้ขุดแร่ทองแดงที่อำเภอจัณทึก จังหวัดนครราชสีมา ได้แร่ถลุงเป็นเนื้อทองแดงมาก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะใช้ทองแดงนั้นให้เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่พระพุทธศาสนาก่อน จึงโปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระพุทธรูปซึ่งประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอาราม ซึ่งทรงสร้างใหม่ 2 พระอาราม คือ วัดราชนัดดากับวัดเฉลิมพระเกียรติ และยังได้โปรดเกล้าฯให้หล่อพระพุทธรูปปางอื่นอีก 34 ปางด้วย พระประธานนี้หล่อเสร็จเรียบร้อยเมื่อ พ.ศ. 2389 เฉพาะที่อัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดราชนัดดานั้น เวลาชักเคลื่อนองค์พระไปวัดเกิดอาเพศ ตะเฆ่ (เครื่องลากเข็นของหนัก รูปเตี้ยๆ มีล้อ) ประดิษฐานพระไปทับเอาเจ้าพระยายมราช (บุญนาค) กับทนายอีก 2 คน ตาย เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 4 พระองค์ถวายพระนามพระประธานว่า “พระพุทธมหาโลกาภินันทปฏิมา” ภายในพระวิหารหลวง หรือเรียกกันว่า วิหารพระศิลาขาว อยู่ด้านทิศใต้ของพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานศิลา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาเมื่อพ.ศ. 2401 เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย พร้อมด้วยพระอัครสาวกซ้ายขวาเป็นพระศิลานั่งพับเพียบซึ่งปัจจุบันเหลืออยู่เพียงองค์เดียว

พระเจดีย์ อยู่ทางทิศตะวันตกของพระอุโบสถ เป็นเจดีย์ทรงกลมหรือทรงระฆัง มักเรียกกันว่า ทรงลังกา เนื่องจากได้รับแบบอย่างมาจากลังกา พร้อมกับการเผยแพร่เข้ามาของพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ มีฐานแปดเหลี่ยมสองชั้นสูง 45 เมตร ภายในบรรจุพระบรมธาตุ

ยังมีถาวรวัตถุอื่นที่สำคัญ เช่น การเปรียญหลวง อาคารแบบผสมระหว่างอาคารทรงไทยกับเครื่องบนหลังคาแบบจีน ลักษณะเป็นตึกทรงโรงมีเสาอยู่ข้างใน ภายในประดิษฐานพระชัยวัฒน์ ซึ่งหาชมได้ยาก นอกจากนี้ยังมี กุฏิทรงไทย อยู่ด้านเหนือเขตพุทธาวาสจำนวน 20 หลัง เป็นเรือนไทยภาคกลางใต้ถุนสูง กำแพงแก้วและป้อมปราการ เป็นกำแพงก่ออิฐถือปูน มีใบเสมาเหมือนกับกำแพงพระบรมมหาราชวัง มีป้อมปราการทั้งสี่มุม มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และพระศรีมหาโพธิ์ ต้นโพธิ์พันธุ์พุทธคยาที่ได้มาสมัยรัชกาลที่ 4

ข้อมูลเพื่อการเดินทางไปวัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร

รถยนต์ เข้าไปตามถนนบางกรวย-ไทรน้อยแล้วเลี้ยวเข้าท่าน้ำนนทบุรี(ฝั่งธนบุรี) จะมีป้ายบอกทางตลอด หากมาจากฝั่งกรุงเทพฯข้ามสะพานพระราม 5 แล้วแยกเข้าถนนบางกรวย-ไทรน้อย หรือข้ามจากสะพานพระนั่งเกล้า ถึงแยกบางพลู เลี้ยวซ้ายผ่านวัดสวนแก้ว ขับไปตามทางมีป้ายบอกทางเช่นกัน

เรือ นั่งเรือด่วนเจ้าพระยาไปยังท่าน้ำนนทบุรีแล้วลงเรือหางยาวประจำเส้นทางไปคลองบางใหญ่ ออกจากท่าน้ำนนทบุรีทุก 20 นาที ใช้เวลาเดินทางประมาณ 5 นาที

รถโดยสารประจำทาง ขึ้นรถโดยสารประจำทางหรือรถสองแถวจากท่าน้ำนนทบุรี (ฝั่งธนบุรี)

ขอขอบคุณ https://www.facebook.com

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .