ประวัติความเป็นมาวัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร

v8fdq

มูลเหตุแห่งการสร้างวัดเริ่มเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่3) เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติในปี พ.ศ. ๒๓๖๗ นั้น พระองค์ทรงสถาปนาสมเด็จพระราชชนนีแห่งพระองค์ขึ้นเป็นกรมสมเด็จพระศรีสุลาไลยด้วย ต่อมาทรงพระราชดำริว่าบริเวณป้อมปราการ (ชื่อว่าป้อมทับทิม) ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาใต้ตลาดขวัญ เมืองนนทบุรี เป็นนิวาสถานเดิมแห่งพระอัยกา(ตา) พระอัยกี(ยาย) ของพระองค์ และยังเป็นสถานที่ประสูติของสมเด็จพระศรีสุลาไลยพระราชชนนีพันปีหลวง สมควรที่จะสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวงสักแห่งหนึ่ง เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติแด่พระอัยกา พระอัยกี และสมเด็จพระราชชนนีพันปีหลวงแห่งพระองค์ ด้วยเหตุนี้โปรดให้พระยาคลัง (ดิศ บุนนาค) ตำแหน่งที่สมุหพระกลาโหมเป็นแม่กองสร้างวัดขึ้นในบริเวณนั้น และโปรดให้สร้างป้อมปราการ ก่ออิฐถือปูน มีใบเสมาเป็นทำนองเดียวกันกับพระบรมมหาราชวังรอบวัดไว้เป็นอนุสรณ์ด้วยพระราชทานนามวัดแห่งนี้ว่า “วัดเฉลิมพระเกียรติ” เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๐ วัดเฉลิมพระเกียรติเป็นวัดที่พระบาทสมเด็จนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นเป็นวัดสุดท้ายในรัชกาลก่อนที่พระองค์จะเสด็จสวรรคต ในปี พ.ศ. ๒๓๙๔ การสร้างวัดเฉลิมพระเกียรติน่าจะยังไม่แล้วเสร็จในรัชกาลของพระองค์ เพราะเมื่อพระองค์ใกล้จะเสด็จสวรรคต พระองค์ก็ยังตรัสถึงวัดต่างๆ ที่ยังสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ค้างไว้ว่า ” …ทุกวันนี้คิดสละห่วงใหญ่ให้หมด อาลัยอยู่แต่วัด สร้างไว้ใหญ่โตหลายวัด ที่ยังค้างอยู่ก็ดี ถ้าชำรุดทรุดโทรมไปจะไม่มีผู้ช่วยทำนุบำรุง เงินในพระคลัง ที่เหลือจับจ่ายใช้ราชการแผ่นดิน มีอยู่ ๔๐,๐๐๐ ชั่ง ขอสัก ๑,๐๐๐ ชั่งเถิด ถ้าผู้ใดเป็นเจ้าแผ่นดินแล้วให้ช่วยบอกแก่เขาขอเงินรายนี้ให้ช่วยทำนุบำรุงวัดที่ชำรุดและการวัดที่ยังค้างอยู่นั้น เสียให้แล้วด้วย…” เมื่อเป็นเช่นนี้ วัดเฉลิมพระเกียรติที่ยังสร้างค้างอยู่น่าจะเป็นวัดหนึ่งที่พระองค์ทรงห่วงใยด้วย


ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า-เจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติแล้ว พระองค์ก็ทรงรับเป็นพระราชภาระในการสร้างวัดเฉลิมพระเกียรติจนเสร็จเรียบร้อย โดยโปรดให้พระยาทิพากรวงศ์ (นำ บุญนาค) เป็นแม่กองการบูรณะจนแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๑ วัดเฉลิมพระเกียรติได้รับการคัดเลือกเป็นวัดพัฒนาตัวอย่างของกรมการศาสนา ในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ เป็นวัดอุทยานการศึกษากรมการศาสนา ปี พ.ศ. ๒๕๓๘

ปูชนียวัตถุ

๑. พุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยทองแดง ขนาดหน้าตักกว้าง ๖ ศอก สูง ๘ ศอก ๑ คืบ ๔ นิ้ว พระนามพระพุทธมหาโลกาภินันทปฏิมา ตามตำนานกล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ขุดแร่ทองแดง ที่อำเภอจันทึก จังหวัดนครราชสีมา ได้แร่ทองแดงจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะใช้ทองแดงเกื้อกูลพระศาสนา จึงโปรดให้หล่อพระพุทธรูปขนาดใหญ่เพื่อนำไปประดิษฐานเป็นพระประธานประจำพระอุโบสถวัดเฉลิมพระเกียรติและวัดราชนัดดาราม จำนวน ๒ องค์ พระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระพุทธรูป ปางต่างๆ จำนวน ๓๔ องค์

๒. พระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง ๓๐ นิ้ว สูง ๓๓ นิ้ว นามว่า พระศิลาขาว พระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐานในพระวิหารเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๑ พร้อมพระอัครสาวก ๒ องค์ สูง ๑๓ นิ้ว เป็นพระพุทธรูปศิลา

๓. พระปฏิมาชัยวัฒน์ เป็นพระพุทธรูปนั่งสมาธิเพชร

๔. พระเจดีย์ สร้างเสร็จประมาณ พ.ศ.๒๓๙๔ เป็นศิลปะแบบลังกา ก่ออิฐถือปูนรูปทรงกลมมี ฐาน ๘ เหลี่ยม ๒ ชั้น พระเจดีย์ตั้งอยู่ในแนวเขตกำแพงแก้ว

เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน

วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร มีพระธรรมกิตติมุนี (สาย ฐานมงฺคโล) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน ปกครองภิกษุสามเณร โดยยึดหลักพระธรรมวินัย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับของมหาเถรสมาคม

ขอขอบคุณ http://nbi.onab.go.th/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .