ชมพระแม่ธรณีฯงามที่สุดในโลกที่ “วัดชมภูเวก”

Image

เคยได้ยินเกจิภาพจิตรกรรมไทยท่านหนึ่งบอกว่า มีภาพจิตกรรมฝาผนังรูปพระแม่ธรณีบีบมวยผมที่สวยงามมากอยู่ที่วัดมอญ เมืองนนท์ ดังนั้นเมื่อมีเวลาและโอกาสได้ไปแถวๆนั้น ฉันจึงไม่พลาดที่จะแวะเวียนไปชื่นชมให้เห็นเป็นบุญตาที่ “วัดชมภูเวก” จังหวัดนนทบุรี

แน่นอนว่าก่อนที่จะได้ชมภาพจิตกรรมฝาผนังอันเลื่องชื่อ เราต้องทำความรู้จักกับวัดแห่งนี้กันเสียก่อน โดย “วัดชมภูเวก” นี้ เป็นวัดมอญ สร้างสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายระยะต้น ในสมัยพระนารายณ์มหาราช ราว พ.ศ. 2225

ในสมัยนั้นเกิดสงครามระหว่างพม่ากับจีนฮ่อ ชาวมอญจึงได้อพยพหนีเข้าเมืองไทยมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร สมเด็จพระนารายณ์ทรงทราบก็ทรงรับไว้ โปรดให้แม่ทัพนายกองอยู่ในกรุงศรีฯ ส่วนไพร่พลและครอบครัวโปรดให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ตามหัวเมือง ได้แก่ บ้านสามโคก เมืองปทุมธานี บ้านปากเกร็ด บ้านบางตลาด บ้านตะนาวศรี เมืองนนทบุรี ที่บ้านท่าทราย(วัดชมภูเวก) มีท่านพ่อปู่(ฮาโหนก) เป็นหัวหน้ามอญอพยพ

เมื่อปักหลักอาศัยอยู่นานเข้าสัตว์เลี้ยงได้คุ้ยเขี่ยเหยียบย่ำพื้นดิน เมื่อฝนตกน้ำท่วม น้ำได้ไหลหลากพัดพาดินไปจึงทำให้อิฐก้อนใหญ่สีแดงโผล่ขึ้นมาเป็นบริเวณกว้าง ท่านพ่อปู่เห็นดังนั้นจึงถือเป็นนิมิตรหมายที่ดี สันนิษฐานว่าที่ตรงนี้คงเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์และเคยสร้างโบราณสถานมาก่อน

ท่านพ่อปู่จึงได้จัดสร้าง พระมุเตา ลงบนเนินอิฐนั้นและให้ชื่อว่า “วัดชมภูวิเวก” ภายหลังคำว่า วิ ได้หายไปเหลือเพียง “วัดชมภูเวก” เท่านั้น ส่วนท่านพ่อปู่นั้นภายหลังชาวบ้านได้ตั้งสมญานามท่านว่า “พ่อปู่ศรีชมภู” เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อวัด ปัจจุบันก็มี “ศาลท่านพ่อปู่ศรีชมภู” อยู่ด้านหลังวัดด้วย

ด้านสถาปัตยกรรมของวัดชมภูเวกที่มีความเก่าแก่ถึง 350 ปีนี้ เป็นศิลปะผสมผสานระหว่าง ไทย มอญ จีน พม่า และของชาวตะวันตก ที่สวยงาม กรมศิลปากรจึงได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อปี 2517 และถือเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านโบราณสถานของจังหวัดนนทบุรีอีกด้วย

สำหรับโบราณสถานแรกที่ถือเป็นสัญลักษณ์คู่วัดชมพูเวกนี้คือ “พระมุเตา” หรือ “เจดีย์ทรงมอญ” สร้างราว พ.ศ.2225 ถัดมาในพ.ศ.2460 ได้ทำการบูรณะสร้างพระมุเตาให้สูงใหญ่กว่าเดิมและสร้างเจดีย์รายที่มุมพระมุเตาทั้งสี่ของฐาน นอกจากนั้นได้สร้างเจดีย์อีกสององค์ด้านหลังพระมุเตาเพื่อบรรจุอัฐธาตุอดีตเจ้าอาวาส ส่วนพระมุเตาสันนิษฐานว่าสร้างเพื่อบรรจุพระบรมธาตุ

ต่อมาใน พ.ศ. 2534 ก็ได้ทำการบูรณะอีกครั้ง โดยตีเข็มคอนกรีตรอบฐานพระธาตุ ผูกเหล็กเทคานคอนกรีตรัดรอบฐานล่างองค์พระธาตุ กะเทาะปูนฉาบออกทั้งหมด ใช้เหล็กเส้นสองหุนผูกเป็นตะแกรงหุ้มองค์พระธาตุแล้วฉาบปูนใหม่หมดทั้งองค์แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2539

องค์พระธาตุมุเตาสร้างอยู่บนฐานปูนขนาดใหญ่ โดยฐานองค์พระธาตุเป็น 8 เหลี่ยม สร้างลดหลั่นซ้อนกัน4ชั้น มีลวดลายจำพวกกลีบบัว ระฆังคว่ำ ดอกพุดตาน ยอดบนเป็นฉัตรหรือชฎาทำด้วยทองเหลืองแผ่นฉลุลายเครือเถาดอกพุดตานมีทั้งหมดสี่ชั้น เหนือฉัตรเป็นยอดพุ่ม เหนือขึ้นไปเป็นแกนเหล็กประดับใบไม้และธงชัย(หมายถึงพระเกตุ) ยอดสูงสุดเป็นดอกไม้เพชร ลักษณะเป็นโคมเปลวไฟ

ส่วน “อุโบสถเก่า” ที่ตั้งอยู่ข้างอุโบสถหลังใหม่นั้น ก็มีอายุเก่าแก่ประมาณ 350 ปี เช่นกัน ลักษณะเด่นของอุโบสถเก่านี้คือ ถูกออกแบบให้มีประตูเข้า-ออก ทางด้านหน้าด้านเดียวตามคติมอญ เรียกว่า “โบสถ์มหาอุต” หรือฝรั่งเรียกว่า “แบบวิลันดา” ผนังด้านข้างทั้งสองสอบเข้าเพื่อใช้ผนังในการรับน้ำหนักทั้งหมดแทนเสา เชื่อกันว่าอุโบสถลักษณะมหาอุตนี้ปลุกเสกของขลังได้ศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง

ประติมากรรมภายในอุโบสถเก่าส่วนใหญ่เป็นงานลายปูนปั้น ประเภทจำหลักนูนต่ำตกแต่งหลากหลายรูปแบบ โดยรับอิทธิพลจากงานจำหลักไม้ของจีน เป็นลายเครือเถาประดับด้วยเครื่องถ้วยชามลายเบญจรงค์สีต่างๆ หน้าบันเป็นลายพันธุ์พฤกษาดอกพุดตาน ประดับกลางดอกด้วยถ้วยลายครามและเบญจรงค์ มีก้านใบเป็นส่วนประกอบ ส่วนกรอบหน้าบันปั้นรูปลายบัวกลีบขนุนประดับแทนใบระกาและปั้นรูปเทพนมอยู่ในตำแหน่งช่อฟ้าและหางหงส์

ส่วนจิตกรรมฝาผนังที่เลื่องชื่อเป็นฝีมือสกุลช่างนนทบุรีสมัยอยุธยาตอนกลาง โดยใช้เทคนิคเขียนด้วยสีฝุ่นผสมกาวแบบเทมเพอร่า เขียนตามคติอยุธยาตอนกลาง คือ ผนังด้านบนเหนือขอบหน้าต่างด้านบนขึ้นไปเขียนรูปอดีต พุทธเจ้าประทับบนบัลลังก์เรือนแก้วมีซุ้มโพธิ์ เบื้องหลังมีผ้าทิพย์ห้อยลงระหว่างอดีตพระพุทธเจ้ามีพระสาวกนั่ง ถวายสักการะทั้งเบื้องขาวและเบื้องซ้าย

ผนังหุ้มกลองหน้าพระประธานเหนือประตูเป็นภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ ใต้รูปพระพุทธเจ้าเป็นภาพเขียนรูป “แม่พระธรณีบิดมวยผม” ในซุ้มเรือนแก้ว ซึ่งงามวิจิตรด้วยความคดเคี้ยวของเส้น แสดงให้เห็นถึงลักษณะของศิลปะขั้นสูงฝีมือบรมครู ว่ากันว่าเป็นภาพที่ให้ความรู้สึกเหนือธรรมชาติประดุจภาพทิพย์ที่เบาเสมือนลอยอยู่ในอากาศ ซึ่งศิลปินที่เป็นจิตกรของกรมศิลปากรต่างยกย่องและรับรองว่าเป็นแบบอย่าง “ภาพเขียนแม่พระธรณีที่งดงามที่สุดในโลก” เลยทีเดียว

นอกจากนี้ยังมีจิตกรรมฝาผนังภาพเด่นๆอีกก็คือ ภาพทศชาติชาดกที่ผนังด้านข้างระหว่างช่องหน้าต่าง และภาพเหล่าเทวดากำลังไหว้พระธาตุจุฬามณีบนสวรรค์ ส่วนผนังหลังพระประธานนั้น ตรงกลางเขียนซุ้มเรือนแก้วใหญ่เป็นฉาก พื้นผนังเป็นลายดอกไม้ร่วง ด้านข้างทั้งสองเป็นรูปอดีตพระพุทธเจ้า

สำหรับองค์พระประธานภายในอุโบสถเก่า เป็นพระประธานจำลองปางมารวิชัยถอดแบบของเก่าสมัยสุโขทัย ซึ่งภายในอุโบสถหลังใหม่ก็มีพระประธานลักษณะเหมือนกันนี้เช่นกัน โดย “อุโบสถหลังใหม่” นี้ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2520 เป็นลักษณะทรงไทยใต้ถุนสูง 2 ชั้น หลังคาลดหลั่น 3 ชั้น มีช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ หน้าบัน ซุ้มหน้าต่าง และประตูประดับด้วยกระจก จิตกรรมฝาผนังภายในอุโบสถหลังใหม่นี้ เป็นภาพเขียนเกี่ยวกับเรื่องราวพุทธประวัติ ตามบานประตูหน้าต่างเขียนลายเทพพนม

ส่วน “วิหาร” ที่ตั้งอยู่หลังอุโบสถเก่า มีลักษณะคล้ายอุโบสถหลังเก่ามีขนาดไล่เลี่ยกัน แต่ผนังวิหารเป็นแนวตั้งตรง หลังคาไม่มีกันสาด ไม่มีพาไล มีประตูทางด้านหน้าและหลัง หน้าบันและซุ้มประตูหน้าต่างประดับด้วยลวดลายปูนปั้นพันธ์พฤกษาแบบลายฝรั่ง ลายดอกพุดตานหรือดอกโบตั๋น

ซึ่งลวดลายลักษณะนี้เป็นที่นิยมกันมากในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ส่วนตรงกลางซุ้มนิยมทำเป็นลายรูปแจกันจีนและตะวันตก ภายในวิหารยังเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลองภายใต้บุษบกไม้ สร้างราวพุทธศตวรรษที่18-19 สันนิษฐานว่ามอญคงนำมาจากเมืองมอญ คราวอพยพเข้าประเทศไทย

นอกจากนี้ สิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับวัดมอญก็คือ “เสาหงส์” ซึ่งชาวมอญถือว่าหงส์เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองมอญมาตั้งแต่โบราณ ซึ่งเสาหงส์นี้ก็ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ใกล้ๆกับพระมุเตา และทั่วบริเวณวัดยังมีพระพุทธรูปให้เราได้กราบไหว้อีกหลายองค์ด้วย

ขอขอบคุณ http://www.manager.co.th/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .