วัดปรมัยยิกาวาส

cover-sadoodta_752

วัดปรมัยยิกาวาส เดิมชื่อ “วัดปากอ่าว ” มีชื่อในภาษามอญว่า ” เภี่ยมุเกี๊ยะเติ้ง ” หมายความว่า วัดหัวแหลม เป็นวัดเก่าแก่ ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย ดังปรากฎพระเจดีย์มุเตาซึ่งเป็นเจดีย์ทรงมอญ ปัจจุบันอยู่ติดริมแม่น้ำกระแสน้ำกัดเซาะฐานราก ทำให้เจดีย์มีลักษณะเอียง อันเป้นสัญลักษณ์ของวัดมาแต่โบราณ ต่อมาสมัยธนบุรี และต้นกรุงรัตนโกสินทร์ได้มีชาวมอญ ที่อพยพเข้ามาตั้งบ้าน เรือนที่เกาะมากขึ้น วัดแห่งนี้จึงเป็นศูนย์กลางของชุมชน และสถานที่จัดงานประเพณีพิธีกรรมของชาว มอญบนเกาะเกร็ด และที่ท่าเรือหน้าวัดจะพบปราสาทไม้ห้ายอดซึ่งเคยเป็นที่ตั้งเหม (โลงศพมอญ) ของอดีตเจ้าอาวาสตั้งตระหง่านอยู่ ภายในวัดมีสถานที่ท่องเที่ยวได้แก่

พระอุโบสถ มีการตกแต่งด้วยวัสดุนำเข้าจากประเทศอิตาลี ศิลปะยุโรปแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่กระนั้พระองค์ยังรักษาธรรมเนียมเดิม โดยรับสั่งให้ที่นี่ริเริมการสวดเป็นภาษามอญ และปัจจุบันที่นี่เป็นวัดเดียว ที่ยังเก็บรักษาพระไตรปิฏกภาษามอญไว้ พระประธานในพระอุโบสถนั้นเป็นพระปางมารวิชัย ฝีพระหัตถ์พระองค์เจ้าประดิษฐว รการ ผู้สร้างพระสยามเทวาธิราช รัชกาลที่ 5 ทรงยกย่องว่าพระประธานองค์นี้ งามด้วยพระพักตร์ดูมีชีวิตชีวาเหมือนคนจริง เอกลักษณ์ของมอญอีกอย่างหนึ่งในวัดนี้คือ เจดีย์ทรงรามัญที่จำลองแบบมาจากพระธาตุเจดีย์มุเตา เมืองหงสาวดี ตั้งอยู่ทางด้านเหนือของวัดติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งคนมอญนับถือมาก ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

พระวิหาร ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์สมัยอยุธยาตอนปลาย ความยาว 9.50 เมตร มีภาพจิตรกรรมที่เพดานนั้นแปลกตากว่าที่อื่น เป็นภาพลายปฐมจุลจอมเกล้า หน้าพระวิหารประดับตราพระเกี้ยว เป็นตราประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระ จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านหลังพระวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปประจำจังหวัดนนทบุรี ชื่อว่า พระนนทมุนินท์ เป็นพระพุทธรูปสมัยอยุธยาตอนปลาย ปางขัดสมาธิเพชร ประดิษฐานอยู่ในบุษบกแบบมอญ (จองพารา) สลักโดยฝีมือช่างเมืองนนท์ ที่มุขเด็จหน้าวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปหินอ่อน ซึ่งซาง ซิว ซูน ชาวพม่าถวายให้กับรัชกาลที่ 5 พระวิหารเปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่ 09.00-16.00 น.

นอกจากนี้ยังมี พิพิธภัณฑ์วัดปรมัยยิกาวาส จัดแสดงวัตถุต่าง ๆ ที่ล้วนน่าชม เช่น พระพิมพ์ เครื่องแก้ว เครื่องถ้วยชาม รวมทั้ง “เหม” ที่ พ.อ. ชาติวัฒน์ งามนิยม บรรจงสร้างขึ้นจนนับว่าเป็นงานศิลป์ ชิ้นเยี่ยมชิ้นหนึ่งเลยทีเดียว นับตั้งแต่การออกแบบโครงสร้าง การต่อลาย การตอกไข่ปลาเพื่อต่อลายบนกระดาษอลูมิเนียม ทุกชิ้นส่วนที่นำมาประกอบเป็นเหมนี้ล้วนแต่ต้องทำอย่างละเอียด ประณีต เชื่อว่าชาวมอญคงดัดแปลงลักษณะของ เหมมาจากโลงของพระพุทธเจ้าซึ่งก้นสอบปาก บานข้างแคบเช่นกัน (ในพิพิธภัณฑ์แสดงภาพไว้) โลงเหมใช้กับศพแห้ง เหมพระจะมีลักษณะพิเศษกว่าตรงที่เจาะหน้าต่างมองเห็นศพด้านในได้

ขอขอบคุณ http://www.sadoodta.com

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .