ประวัติความเป็นมาวัดปรมัยยิกาวาส

paramai

วัดปรมัยยิกาวาส เดิมเป็นวัดราษฎร์ของชาวรามัญซึ่งอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร แต่สมัยก่อนสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ เรียกตามภาษารามัญว่า (เกี่ยวมุ๊เกี๊ยะเติ้ง) ปัจจุบันเพี้ยนเป็น(เกี่ยเมิ้งฮะเติ้ง) แปลว่า วัดหัวแหลม ไทยเรียกวัดปากอ่าว

วัดปากอ่าว เป็นวัดรามัญมาแต่โบราณ มีอายุกว่า ๒๐๐ ปี ก่อนจะได้รับการปฏิสังขรณ์ ใน พ.ศ.๒๔๑๗ นั้น วัดปากอ่าวมีเสนาสนะที่น่าศึกษาคือ

๑.ศาลาเปรียญทรงมอญ ยกพื้นสูงจากดิน ๒ ศอก ไม้สักทั้งหลัง หลังคามุงกระเบื้องดินเผาขนาดกว้างยาวเท่าไรหาหลักฐานไม่พบ สูงจากพื้นถึงเพดานเท่ากับความสูงของบุษบกปัจจุบัน ปลูกไว้บริเวณลานดินตรงต้นหว้าหน้าพระอุโบสถในปัจจุบัน

๒.พระอุโบสถ ตั้งอยู่ที่ปัจจุบัน ขื่อกว้าง ๓ วา ยาว ๗ วา ๓ ห้อง ผนังก่ออิฐถือปูน หลังคาชั้นเดียว มุงกระเบื้องดินเผา มีพะหน้าหลัง เช่นเดียวกับวัดรามัญทั่วไป ภายในมีพระประธานและพระอัครสาวกนั่งคุกเข่าอย่างรามัญทั่วไป เป็นปูนปั้นทั้ง ๓ องค์

๓.วิหารพระพุทธไสยาสน์ ตั้งอยู่ที่ปัจจุบัน ขื่อกว้าง ๔ วา ๒ ศอก ยาว ๕ วา ๓ ศอก สูง ๓ วา เครื่องบนไม้สัก มุงกระเบื้องดินเผา ภายในมีพระพุทธไสยาสน์ขนาดยาว ๔ วา ๓ ศอก มีพะหน้าหลัง

รอบกำแพงวิหารทำเป็นระเบียง ขื่อกว้าง ๖ ศอก ก่ออิฐถือปูนด้านกว้าง ๙ วา ยาว ๑๗ วา สูง ๖ ศอก

รอบระเบียงวิหารมีพระพุทธรูปปูนปั้น ปางขัดสมาธิเพชรขนาดหน้าตัก ๑ ศอกเศษ จำนวน ๔๖ องค์

๔. หมู่กุฏิอยู่สถานที่ปัจจุบัน เป็นเรือนไม้สักมุงกระเบื้องดินเผา ไม่ทราบจำนวน

๕.เจดีย์ทรงรามัญ ก่ออิฐถือปูน ฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ฐานกว้างยาวด้านละ ๕ วา สูง ๔ วา ๑ ศอก ยอดมีฉัตร ๕ ชั้น อย่างรามัญ สูง ๑ วา ตั้งอยู่หัวมุมเกาะเกร็ด ทางราชการได้ขึ้นทะเบียน เป็นโบราณสถาน ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๒ ตอน ๗๕ วันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘

๖. บุษบกไม้สักแกะสลัก ลงรัก ปิดทอง ประดับกระจก ปัจจุบันอยู่บนศาลาการเปรียญ นับเป็นบุษบกที่แปลกที่สุดคือประยุกต์ ระหว่างศิลปะรามัญกับไทย อาจจะเป็นชิ้นเดียวในโลกก็ได้

วัดปากอ่าวเป็นวัดสำคัญที่สุดของชาวรามัญ ปากเกร็ด เพราะสภาพที่ตั้งเป็นทำเลดีเป็นมงคลสถานสิ่งก่อสร้างมีสภาพแข็งแรงกว่าวัดรามัญทั่วไป นอกจากนั้นเจ้าอาวาสวัดปากอ่าว มีปรากฏว่าองค์แรก มีสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะฝ่ายรามัญที่ พระสุเมธาจารย์

 

ในวันเสาร์ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๑๒ พ.ศ.๒๔๑๗ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน กรุงเก่าเพื่อสำราญราชอริยบถ เช่นทุกปี แต่ปีนี้มีพระราชศรัทธาทอดผ้าพระกฐิน ณ พระอารามรามัญ เมืองนนทบุรี ๔ อาราม ซึ่งปรากฏตามราชกิจจานุเบกษาหน้า ๒๔๑ เล่ม ๑ จ.ศ.๑๒๓๖ ว่า

เช้าเสด็จกรุงฯ จะประทับพระราชทานผ้าพระกฐินที่ปากเกร็ด ทอด ณ วัดปากอ่าว วัดรามัญ (วัดเกาะพญาเจ่ง) วัดบางพัง แล้วเสด็จพระราชดำเนิน วัดสนาม พระราชทานกฐินแล้ว เวลาบ่ายเสด็จไป บางปะอิน

แต่ตามจารึกที่ทรงโปรดเก้าฯ ให้จารึก ณ ศิลาจารึกหน้าพระอุโบสถวัดปรมัยยิกาวาสว่า พระราชทานวัดปากอ่าวเป็นวัดที่ ๓ ในพรรษานั้น วัดปากอ่าวมีพระภิกษุสงฆ์ ๙ รูป มีพระคุณวงศ์ (สน) พระราชาคณะ ฝ่ายรามัญ เป็นเจ้าอาวาส การสวดกรานกฐินนั้น พระคุณวงศ์จะสวดเป็นภาษาไทย แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สวดอย่างรามัญ และให้รักษาไว้ต่อไป

ครั้นพระราชทานกฐินแล้ว เสด็จพระราชดำเนินรอบพระอารม ทรงเห็นว่าวัดนี้ตั้งอยู่ในทำเลที่ดี แต่ทรุดโทรมกว่าพระอารามอื่น ๆ ทรงมีพระราชศรัทธาที่จะสถาปนาให้ดีขึ้นเพื่อสนองพระเดชพระคุณพระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูรผู้ทรงอภิบาลเลี้ยงดูพระราชมารดาและพระองค์แต่ยังทรงพระเยาว์ ถวายเป็นการเฉลิมพระเกียรติ จึงทรงตรัสพระราชดำริที่จะปฏิสังขรณ์พระอารามนี้ แต่พระคุณวงศ์ เจ้าอาวาส แล้วถวายพระพรลา เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปบางปะอินทรงนำพระราชดำริขึ้นกราบทูล พระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร ซึ่งเสด็จขึ้นมาถึงก่อน ครั้นพระองค์ทราบพระราชดำริ ทรงปลื้มปิติด้วยจะได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอันยิ่งใหญ่ที่จะได้ปฏิสังขรณ์พระอาราม สมที่ได้ทรงตั้งพระหฤทัยมาแต่เดิม จึงทรงรับภาระการการปฏิสังขรณ์

 

ครั้นเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพพระมหานครแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พระยาอัครนีศราภัย (ต้นตระกูล หงสกุล) จางวางพระแสงปืนต้น เป็นแม่กองปฏิสังขรณ์

การปฏิสังขรณ์วัดปากอ่าว เริ่มเมื่อวันอาทิตย์ขึ้น ๒ ค่ำ เดือนยี่ ปีจอ ฉ ศก จุลศักราช ๑๒๓๖ โดยสร้างกุฏิสงฆ์ เสนาสนะทั้งปวงทางทิศเหนือ หมู่หนึ่ง ขื่อกว้าง ๒ วา ห้าห้อง เฉลียง ๔ ด้าน ขื่อกว้าง ๗ ศอกคืบ ๖ ห้อง ขื่อกว้าง ๗ ศอกคืบ ๙ ห้อง มีเฉลียงด้านหน้า ๑ หลัง มีเฉลียงด้านหน้า ๒ หลัง ขื่อกว้าง ๗ ศอกคืบ ๙ ห้อง มีเฉลียงด้านหน้า ๑ หลัง ขื่อกว้าง ๗ ศอกคืบ ๔ ห้อง มีเฉลียงด้านหน้า ๒ หลัง ขื่อกว้าง ๖ ศอก ๓ ห้อง ๙ หลัง รวมกุฏิ ๗ หลัง

กุฏิทุกหลังเสาทำด้วยไม้ ก่ออิฐถือปูน ทั้งสองชั้นการถือปูนรอบเสาทำไม่เรียบร้อย

หอกลางขื่อกว้าง ๗ ศอกคืบ ๓ ห้อง มีเฉลียง ๔ ด้าน พื้น ๒ ชั้น ชั้นล่างเป็นหอฉัน ชั้นบนใช้ทำหอไตร

ครัว ขื่อ ๖ ศอกคืบ ๓ ห้อง ๑ หลัง หน้าระเบียงเป็นพนักมุมกุฏิ ระหว่างกุฏิปูอิฐตลอด กุฏิครัวไฟ หอฉัน เป็นตึกก่ออิฐ ถือปูนทุกห้อง

การก่อสร้างใช้เวลา ๗ เดือน สิ้นราชทรัพย์ ๙,๙๘๙ บาท (เก้าพันเก้าร้อยแปดสิบเก้าบาทถ้วน)

พระอุโบสถนั้นทรงเห็นว่าชำรุดทรุดโทรมมาก จึงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อเสีย คงไว้แต่พระประธานและสาวก

 

ครั้นวันอาทิตย์ เดือน ๔ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีจอ ฉศก จุลศักราช ๑๒๓๖ เป็นวันที่ ๒๓๑๕ ในรัชกาลเวลา เช้าโมงเศษ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค โดยเรือพระที่นั่งปิกนิค เสด็จพระราชดำเนินมาทรงก่อพระฤกษ์พระอุโบสถวัดปากอ่าว ปากคลองเกร็ด ตามหมายกำหนดการคือ

เวลาเช้า ๓ โมงเศษ เสด็จพระราชดำเนินถึงวัดปากอ่าว ปากคลองเกร็ด ประทับเรือพระที่นั่งเสด็จขึ้นพลับพลาที่ประทับพระบรมวงศานุวงศ์ แลท่านเสนาบดี ข้าราชการพร้อมกันเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในที่นั้น จึงทรงจุดเทียนนมัสการแล้วทรงศีล พระสงฆ์รามัญ ๑๐ รูป มีพระคุณวงศ์เป็นประธานถวายพรพระ ครั้งจบแล้วพอได้ฤกษ์ เสด็จพระราชดำเนินขึ้นบนพระอุโบสถทรงวางอิฐทองอิฐเงินอิฐนากก่อฤกษ์ตามโบราณราชประเพณี พระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ ทั้ง ๒ พระองค์กับทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ พร้อมกันวางอิฐทอง อิฐเงิน อิฐนาก โดยลำดับ ครั้นเสร็จแล้วเสด็จทรงประเคนถวายจังหันพระสงฆ์ พอพระสงฆ์รับพระราชทานฉันแล้ว ทรงถวายไทยธรรม แล้วพระสงฆ์ถวาย ยถาสัพพี แลถวายดิเรกแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรวิหาร พระพุทธไสยาสน์ ซึ่งจะทรงปฏิสังขรณ์ขึ้นนั้นเดิมพระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร ทรงกะพระราชทรัพย์สำหรับจะปฏิสังขรณ์ในเขตพระอุโบสถแลกุฏิสงฆ์ทั้งสิ้นเป็นเงิน ๕๐๐ ชั่ง ครั้นทอดพระเนตรพระวิหารพุทธไสยาสน์แล้วทรงเห็นชำรุดโทรมเป็นอันมาก จึงทรงพระราชศรัทธาเลื่อมใส ในการที่จะปฏิสังขรณ์ต่อไปนอกจากจำนวนพระราชทรัพย์ที่ทรงกะไว้ ๕๐๐ ชั่ง ครั้นทอดพระเนตรแล้ว เสด็จกลับลงเรือพระที่นั่งปิกนิคทรงประพาสตามลำน้ำ ถึงบางหลวง เชียงราก เวลาบ่าย ๒ โมงเศษ โปรดเกล้าให้กลับเรือแล้วเสด็จกลับพระราชวัง

 

การก่อสร้างพระอุโบสถยังคงดำเนินต่อไป แต่ด้วยวัดปากอ่าวเป็นวัดที่กว้างขวาง มีพื้นที่ทั่วไปราบลุ่มเป็นหลุมเป็นบ่อทั่วไป ขณะก่อสร้างนั้น คลองลัดเกร็ด (คลองเกร็ด) มีความกว้างเพียง ๘ วา ซึ่งแคบกว่าปัจจุบันนี้มาก ฉะนั้นพื้นที่วัดปากอ่าวจึงกว้างขวาง ด้วยเหตุชาวรามัญทั่วไปมีประเพณีการก่อพระเจดีย์ทราย ในเดือน ๕ ของทุกปี เพื่อนำทราบถมที่วัด ดังนั้นในวันอาทิตย์เดือน ๕ ขึ้น ๖ ค่ำ ปีกุน ฉศก จุลศักราช ๑๒๓๖ วันที่ ๒๓๔๓ ในรัชกาลเวลาเช้าโมงเศษพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูรเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค ทรงเรือพระที่นั่งปิกนิค เพื่อเสด็จพระกุศลก่อพระเจดีย์ทราย ณ วัดปากอ่าว ครั้นเวลาเช้าสามโมงเศษ เสด็จพระราชดำเนินถึงวัดปากอ่าว ประทับเรือพระที่นั่ง เสด็จขึ้นพลับพลาที่ประทับ พระบรมวงศานุวงศ์ แลท่านเสนาบดี ข้าราชการพร้อมกันเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในที่นั้น ทรงจุดเทียนนมัสการ แล้วทรงศีล พระสงฆ์ในกรุงแลหัวเมืองรวม ๓๘ รูป มีพระธรรมไตรโลกาจารย์วัดราชบูรณะ เป็นประธานฯ พร้อมกันถวายพรพระจบแล้ว เสด็จถวายจังหันพระสงฆ์ ครั้นพระสงฆ์ฉันแล้วทรงถวายไทยธรรม แล้วพระสงฆ์ถวายยถาสัพพี ถวายอดิเรก แล้วมีพระบรมราชโองการ ให้เชิญเสด็จพระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร เสด็จมาถวายไทยธรรมแก่พระสงฆ์รามัญ ๘ รูป มีพระคุณวงศ์เป็นพระประธาน แล้วพระสงฆ์ถวายยถาสัพพี อีกครั้งแล้วพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน นำพระบรมวงศานุวงศ์ ไปทอดพระเนตรพระอุโบสถและพระวิหารพุทธไสยาสน์ แล้วเสด็จกลับเรือพระที่นั่งปิกนิค ประทับอยู่จนบ่าย ๕ โมง จึงเสด็จพระราชดำเนินขึ้นจากเรือพระที่นั่ง มาประทับพลับพลาที่ประทับ พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์จนเวลาทุ่มหนึ่ง จึงเสด็จพระราชดำเนินกลับพระราชวัง

พระราชทานนามวัด

ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้ปฏิสังขรณ์ วัดปากอ่าวจนหมู่กุฏิเรียบร้อยสมบูรณ์แล้ว จึงมีหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินมาวัดปากอ่าวเพื่อประกอบพระราชกุศล ในวันพุธขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๘ หลัง ปีกุน จุลศักราช ๑๒๓๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยพระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร และพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จพระราชดำเนินมาวัดปากอ่าว ทรงถวายไตร บริขาร แลเสนาสนะพร้อมแก่ภิกษุสงฆ์ ๑๖ รูป แล้วทรงพระราชอุทิศถวายหมู่กุฏิเป็นสังฆิกาวาส แล้วทรงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามพระอารามนี้เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติยศ พระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูรว่า “วัดปรมัยยิกาวาศ” (บรม+อัยยิกา+อาวาศ) แปลว่าวัดของยาย ภายหลังเขียนเป็นวัดปรมัยยิกาวาส

ขอขอบคุณ http://nbi.onab.go.th/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .