วัดปรมัยยิกาวาส วรวิหาร

วัดปรมัยยิกาวาส วรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิด วรวิหาร ตั้งอยู่ที่ตำบลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เป็นวัดมอญ เดิมเรียกว่า วัดปากอ่าว

วัดปากอ่าวยุคแรก
วัดปากอ่าว หรือ วัดปรมัยย์ เป็นวัดโบราณสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากที่ตั้งของวัดอยู่ตรงคุ้งน้ำ บริเวณทางแยกคลองลัดเกร็ด กับแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณหัวมุมเกาะเกร็ด ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จึงเรียกวัดนี้ว่า วัดปากอ่าว มอญ เรียกวัดนี้ว่า เพี่ยะมุ๊ฮะเติ่ง แปลว่า วัดหัว(มุม)แหลม

คนมอญจำนวนมากที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ในพระราชอาณาจักรไทย เพราะถูกพม่ากดขี่ข่มเหง และปฏิบัตต่อคนมอญอย่างไม่ชอบธรรม พระมหากษัตริย์ไทยโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ในพระราชอาณาจักรไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา ตลอดมาจนถึงสมัยธนบุรี และต้นรัตนโกสินทร์

บริเวณปากเกร็ด จึงเป็นชุมชนมอญมาตั้งแต่สมัยอยุธยา การอพยพมาแต่ละครั้งมีพระภิกษุสามเณรมอญร่วมด้วย ดังนั้น จึงปรากฏมีวัดมอญจำนวนมากในประเทศไทย

วัดปากอ่าวต้องกลายเป็นวัดร้าง เมื่อพม่ายกทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา ชุมชนเกาะเกร็ดถูกพม่าเข้ายึดครองปล้นสะดมทรัพย์สิน กวาดต้อนไปเป็นเชลยหมด วัดปากอ่าวถูกทิ้งรกร้าง จนถึง พ.ศ. 2317 พระเจ้าตากสินมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้ชาวมอญที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ซึ่งนำโดย พญาเจ่ง (เจ้าพระยามหาโยธา ต้นสกุลคชเสนี) มาตั้งบ้านเรือนที่บริเวณปากเกร็ดแห่งนี้

วัดปากอ่าวนี้ เป็นที่พำนักของพระสงฆ์มอญ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ แก่พระมอญที่พำนัก ณ อารามแห่งนี้ และทรงแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะชั้นปกครองในตำแหน่งที่สำคัญ ๆ หลายรูป

จากบัญชีรายจ่ายค่านิตยภัตรพระสงฆ์ พ.ศ. 2367 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ถวายนิตยภัตรแก่พระสงฆ์วัดปากอ่าว ดังนี้
พระธรรมวิสารท วัดปากอ่าว 4 ตำลึง
พระมหานาค เปรียญตรี วัดปากอ่าว 1 ตำลึง 2 สลึง

วัดปากอ่าว เป็นวัดที่พระเถระมอญปกครองตลอดมา เท่าที่สืบประวัติได้ในช่วงปลายรัชกาลที่ 2 ถึงช่วงที่เปลี่ยนนามวัดเป็นวัดปรมัยยิกาวาส วรวิหาร มีนามเจ้าอาวาสดังนี้
1. พระธรรมวิสารท
2. พระสุเมธาจารย์ (เฒ่า)
3. พระสมุห์ (น้อย) หรือ พระสุเมธน้อย
4. พระครูอุตตโมรุวงศ์ธาดา
5. พระไตรสรณธัช (เดช)
6. พระคุณวงศ์ (สน)

ยุคเป็นพระอารามหลวง
ในวันเสาร์ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 12 พ.ศ. 2417 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินกรุงเก่า เพื่อสำราญราชอริยาบถ เช่นทุกปี แต่ปีนี้มีพระราชศรัทธาทอดผ้าพระกฐิน ณ อารามรามัญ เมืองนนทบุรี 4 อาราม ซึ่งปรากฏตามราชกิจจานุเบกษาหน้า 241 เล่ม 1 จ.ศ. 1236 ว่า

เช้าเสด็จกรุงเก่า จะประทับพระราชทานผ้าพระผ้าพระกฐินที่ปากเกร็ด ณ วัดปากอ่าว วัดรามัญ (วัดเกาะพญาเจ่ง) และวัดบางพัง แล้วเสด็จพระราชดำเนิน วัดสนาม พระราชทานกฐินแล้ว เวลาบ่ายเสด็จไปบางปะอิน

แต่ตามจารึกที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จารึก ณ ศิลาจารึกหน้าพระอุโบสถวัดปรมัยยิกาวาส ว่า พระราชทานวัดปากอ่าวเป็นวัดที่ 3 ในพรรษานั้น วัดปากอ่าวมีพระภิกษุ 9 รูป มีพระคุณสงศ์ (สน) พระราชาคณะฝ่ายรามัญ เป็นเจ้าอาวาส การสวดกรานกฐินนั้น พระคุณวงศ์ จะสวดเป็นภาษาไทย แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้า ฯให้สวดอย่างรามัญและให้รักษาไว้ต่อไป

ครั้นพระราชทานกฐินแล้ว เสด็จพระราชดำเนินรอบพระอาราม ทรงเห็นว่าวัดนี้ตั้งอยู่ในทำเลที่ดี แต่ทรุดโทรมกว่าพระอารามอื่น ๆ ทรงมีพระราชศรัทธาที่จะสถาปนาให้ดีขึ้น เพื่อสนองพระเดชพระคุณพระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตน์ราชประยูร ผู้ทรงอภิบาลเลี้ยงดูพระราชมารดาและพระองค์มาแต่ยังทรงพระเยาว์ ถวายเป็นการเฉลิมพระเกียรติ จึงทรงตรัสพระราชดำริที่จะปฏิสังขรณ์พระอารามนี้ แก่พระคุณวงศ์ เจ้าอาวาส แล้วถวายพระพรลา เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปบางปะอิน ทรงนำพระราชดำริขึ้นกราบทูลพระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดดารัตน์ราชประยูร ซึ่งเสด็จขึ้นมาถึงก่อน ครั้นพระองค์ทราบพระราชดำริ ทรงปลื้มปีติด้วยจะได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอันยิ่งใหญ่ ที่จะได้ปฏิสังขรณ์พระอาราม สมที่ได้ทรงตั้งพระหฤทัยมาแต่เดิม จึงทรงรับภาระการปฏิสังขรณ์

ครั้นเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพพระมหานครแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้พระยาอัครนีศราภัย (ต้นตระกูล หงสกุล) จางวางกรมพระแสงปืนต้น เป็นแม่กองปฏิสังขรณ์

ในวันอาทิตย์ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 4 ปีจอ พ.ศ. 2417 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาก่อฤกษ์พระอุโบสถหลังใหม่ พระอุโบสถหลังเก่า โปรดให้รื้อ คงไว้แต่พระประธานและพระสาวก โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ากฤษฎาภินิหาร (ต้นราชสกุล กฤดากร) เป็นนายกอง พระราชสงคราม (ทัต) เป็นนายช่าง มีพระคุณวงศ์พระพระสงฆ์รามัญ 10 รูป เจริญพระพุทธมนต์

โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอารามใหม่ทั้งหมด แต่ให้คงรูปแบบมอญไว้ เนื่องจากเป็นวัดมอญเดิม ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระไตรปิฏกเป็นภาษามอญ และให้พระสงฆ์ในพระอารามนี้ปฏิบัติศาสนกิจตามแบบธรรมเนียมมอญทุกประการ แม้ในพิธีกฐินพระราชทาน ทั้งในการวางผังวัด ทรงโปรดให้กำหนดเขตพุทธาวาสและสังฆาวาส แยกจากกันอย่างชัดเจนตามธรรมเนียมพระอารามหลวง

โปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีสุนทรโวหาร เจ้ากรมพระอาลักษณ์ จารึกเรื่องทรงสร้างพระอารามนี้ ลงในเสาศิลาจารึกเป็นอักษรไทยเสาหนึ่ง และเป็นภาษามอญเสาหนึ่ง พร้อมทั้งพระราชทานนามพระอารามนี้ว่า “วัดปรมัยยิกาวาส”

ลำดับเจ้าอาวาส นับแต่ได้รับสถาปนาเป็นพระอารามหลวง
1. พระคุณวงศ์ (สน นาคสนโท) เปรียญ 3 ประโยค พ.ศ. 2414-2450
2. พระคุณวงศ์ (จู สิงโฆ) พ.ศ. 2450-2462
3. พระสุเมธาจารย์ (วร นนทิโย) พ.ศ. 2462-2489
4. พระไตรสรณธัช (แสน โกลิโต) พ.ศ. 2490-2505
5. พระไตรสรณธัช (มาลัย ปุบผาทาโม) พ.ศ. 2506-2538
6. พระสุเมธมุนี (เสน่ห์) พ.ศ. 2538 ถึงปัจจุบัน

ขอขอบคุณ http://www.monstudies.com/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .