ประวัติวัดปรมัยยิกาวาส

วัดปรมัยยิกาวาสวรวิหารเป็นพระอารามหลวงชั้นโท เดิมชื่อ วัดปากอ่าว เป็นวัดโบราณสร้างตั้งแต่สมัยอยุธยา ถูกปล่อยให้เป็นวัดร้าง หลังจากการเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 จนถึง พ.ศ. 2317 พระเจ้าตากสินมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้ชาวมอญมาตั้งบ้านเรือนที่เกาะเกร็ด พระสุเมธาจารย์ (เถ้า) พระเถระผู้ใหญ่ฝ่ายรามัญได้รวบรวมผู้มีจิตศรัทธาสร้างขึ้น ได้สร้างเจดีย์ทรงรามัญ ชื่อ เจดีย์ร่างกุ้ง

วันเสาร์ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 12 พ.ศ. 2417 พระบาทสมเด็จพระจุมจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทอดกฐิน ณ วัดปากอ่าวและวัดใกล้เคียง ได้เสด็จทอดพระเนตรบริเวณวัดซึ่งปรักหักพังและทรุดโทรม ทรงคำนึงถึงพระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตน์ราชประยูร ซึ่งอภิบาลบำรุงพระองค์มาแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงมีรับสั่งอยู่เนืองๆ ว่าถ้าทรงพระเจริญขึ้นแล้ว ขอให้ทรงช่วยให้ได้สร้างพระอารามหนึ่ง จึงทรงกำหนดจะปฏิสังขรณ์วัดปากอ่าว และทรงมีพระราชดำรัสต่อพระคุณวงศ์ (สน) เจ้าอาวาสให้ทราบพระราชประสงค์ และ ทรงนำพระราชดำริกราบทูลแด่พระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตน์ราชประยูร ซึ่งทรงพระปิติปราโมทย์เมื่อได้ทรงทราบเช่นนั้น

การปฏิสังขรณ์วัดปากอ่าว มีพระยาอัศนีศาภัยจางวางกรมพระแสงปืนต้น เป็นแม่กองปฏิสังขรณ์ เริ่มทำกุฏิสงฆ์และหอไตรแบบมอญเมื่อวันอาทิตย์ขึ้น 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีจอ พ.ศ. 2417 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาก่อฤกษ์พระอุโบสถใหม่ โดยมีพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้ากฤษฎาภินิหาร (ต้นราชสกุลกฤดากร) เป็นนายกอง พระราชสงคราม (ทัด) เป็นช่างทำพระอารามที่สร้างใหม่ทั้งหมด คงรูปแบบมอญไว้เนื่องจากเป็นวัดมอญ

ทรงโปรดให้สร้างพระไตรปิฎกเป็นภาษามอญ ให้ พระยาศรีสุนทรโวหารเจ้ากรมพระยาลักษณ์จารึกเรื่องทรงพระอารามนี้ลงในเสาศิลา เป็นอักษรไทยเสาหนึ่ง และพระสุเมธาจารย์แปลเป็นภาษามอญ และทรงโปรดให้จารึกเป็นภาษามอญอีกเสาหนึ่ง จารึกทั้งอักษรไทยและอักษรมอญอยู่ที่หน้าอุโบสถ และโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามพระอารามนี้ใหม่ว่า “วัดปรมัยยิกาวาส”

(ปรมัยยิกาวาส คือ พรม + อัยยิกา + อาวาส )

ขอขอบคุณ http://watporamai.blogspot.com/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .