ทำบุญไหว้พระ 9 วัด

เป็นเพราะอยู่เมืองพุทธ และ นับถือศาสนาพุทธ ไม่มีอะไรให้ความสุขทางจิตใจ ไปมากกว่าการเข้าวัด ไม่ว่าจะสุข เศร้า เหงา อกหัก ศาสนาจึงเป็นที่พึ่งทางใจได้อย่างเหนียวแน่นไม่เสื่อมคลายและด้วยเหตุนี้เองกระมัง! จึงเป็นที่มาของการเริ่มต้นชักชวนเหล่าเพื่อนพ้องอีกครั้ง หลังจากที่เคยไหว้พระ 9 วัด

วัดสังฆทาน..เน้นปฏิบัติธรรม
สำหรับวัดแรกที่ได้เข้าไปกราบนมัสการ คือ วัดสังฆทาน วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่ไม่ปรากฏว่าสร้างขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ปัจจุบันมีหลวงพ่อสนอง กตปุญโญ เป็นเจ้าอาวาส

สิ่งที่น่าสนใจในสถานที่แห่งนี้คือ ภายในพระอุโบสถทรงเจดีย์ สถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ 2 พระองค์ ที่อัญเชิญมาจากประเทศศรีลังกา พระบรมสารีริกธาตุองค์หนึ่งมีลักษณะพิเศษ ซึ่งเป็นลักษณะที่ไม่ค่อยได้พบเห็นง่ายนัก คือ องค์พระบรมธาตุเป็นรูพรุนขนาดเล็กทั่วทั้งองค์คล้ายฟองกระดูก ซึ่งทางวัดได้ถ่ายรูปและพิมพ์เป็นภาพขนาดใหญ่แสดงไว้บริเวณสถานที่ประดิษฐาน ทั้ง 2 พระองค์ และในบริเวณเดียวกันมีการจัดสถานที่ประดิษฐานพระอรหันตสาวกธาตุสมัยพุทธกาล และพระธาตุ-อัฐิ ครูบาอาจารย์สายหลวงปู่มั่นไว้อีกหลายองค์

เมื่อหลวงพ่อสนอง กตปุญโญได้มาพบวัดสังฆทานครั้งแรก ในปี พ.ศ.2511 ท่านได้พิจารณาสถานที่ว่าเหมาะสมแก่การเผยแผ่พระพุทธศาสนาและปฏิบัติธรรม ท่านได้กลับมาอีกครั้งในปี พ.ศ. 2517 ในปีต่อมาจึงได้ร่วมกับพระเณรและชาวบ้าน ช่วยกันบูรณะองค์หลวงพ่อโต ในปี พ.ศ. 2536 หลวงพ่อสนองจึงดำริให้รื้อศาลาหลังเดิมที่ประดิษฐานหลวงพ่อโตออกเพื่อสร้างพระอุโบสถขึ้นแทน และหลวงพ่อสังวาลย์ เขมโก ได้วางศิลาฤกษ์สร้างพระอุโบสถในวันมาฆบูชา ปี พ.ศ. 2537


วัดบางไกรใน…โบราณสถาน 300 ปี
วัดบางไกรใน ตั้งอยู่ริมคลองบางไกรนอก ตำบลบางขุนกอง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 118 ตอนพิเศษ 127 วันที่ 21 ธันวาคม 2544

วัดบางไกรใน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เดิมชื่อ วัดนายไกร เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่นายไกรทอง โบราณสถานสำคัญภายในวัดบางไกรใน ได้แก่ อุโบสถ อุโบสถ ก่ออิฐฉาบปูนเรียบ มีมุขพาไลโครงสร้างไม้ทั้งหน้าและหลัง หน้าบันเป็นไม้สักฉลุลวดลาย บานประตูด้านหน้ามีภาพเขียนสีรูปทวารบาลถืออาวุธด้ามยาว ฉากหลังเขียนภ าพช่อดอกพุดตานใบเทศ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางสมาธิมีพระอัครสาวกซ้าย – ขวาและพระพุทธรูปปางมารวิชัยข้างละองค์

ภายในโบสถ์ของวัดบางไกรใน ยังมีองค์หลวงพ่อโต อายุ 300 ปี ซึ่งองค์หลวงพ่อโตอยู่ระหว่างการบูรณะ ภายในพระอุโบสถยังมีองค์พระพุทธรูปองค์ขนาดกลางหลายองค์รายล้อมองค์หลวงพ่อโต หลังออกจากโบสถ์ บริเวณภายนอกวัดบางไกรใน ยังมีศาลเก่าแก่ ศาลแห่งนี้ชื่อว่า “ศาลนายไกรทอง ผู้ปราบจระเข้ชาลาวัน บรรพบุรุษชาวบางนายไกร ถิ่นฐานบ้านนายไกรทอง” ภายในศาลนี้จะมีรูปปั้นของนายไกรทอง กับ ชาลาวัน ซึ่งศาลแห่งนี้สร้างขึ้นมาเพื่อเชิดชูนายไกรทอง ที่สามารถปราบพญาชาลาวัน

วัดซองพลู อุโบสถเก่าแก่

ตั้งอยู่เลขที่ 74 บ้านบางขุนกอง ม.2 ต.บางขุนกอง อ.บางกรวย นนทบุรี ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ.2275 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ 2275 พระอุโบสถเก่าแก่หน้าบันไม้สักแกะสลักนารายณ์ทรงครุฑ(เป็นพระวิหาร) เจ้าอาวาส พระครูวิสิฐกิตติญาณ (กิตฺติญาโณ จุฬาวัล แสงใส) อุปสมบทเมื่อ 12 มิ.ย. 2525

สำหรับวัดซองพลู ห้วงเวลานี้อยู่ระหว่างการปรับปรุง และ บูรณปฏิสังขรณ์ ถึงแม้อยู่ระหว่างบูรณะแต่บรรดากัลยาณมิตรเข้าไปกราบไหว้เพื่อขอพร

วัดละมุดใน ….หอไตรโบราณ

ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลบางคูเวียง อำเภอบางกรวย สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2329 จุดเด่นของวัดแห่งนี้ คือ หอไตร ซึ่งเป็นอาคารไม้ ขนาดสองห้อง บานประตูลงรักปิดทองลายพรรณพฤกษา หน้าบันจำหลักไม้ปิดทอง ประดับกระจกลายดอกพุดตาน เครื่องลำยองเป็นไม้จำหลักงดงาม ศาลาท่าน้ำ เป็นศาลาสองห้อง ระเบียงสองข้าง ลวดลายเครื่องประดับเป็นไม้จำหลักปิดทอง ประดับกระจกละเอียดประณีต

ปัจจุบัน “หอไตร” ถูกบรรจุให้เป็นโบราณสถานแต่ไม่สามารถเข้าไปดูในหอไตรได้ นอกจากนี้ภายในบริเวณวัดยังมีศาลาการเปรียญ 2 ชั้น สร้างอยู่ติดกับ “หอไตร” ภายในศาลาการเปรียญแห่งนี้มีผู้สูงอายุกว่า 10 คน นุ่ง ขาว ห่ม ขาว เพื่อถือศีล 8

“หอไตร ถูกปิดมานานแล้วลูกตอนนี้กรมศิลปากรกำลังบูรณะส่วนใหญ่พวกป้าก็จะพายเรือมาถือศีลกันที่นี้”

วัดสิงห์วิหารหลวงพ่อมงคลบพิตร
สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
หลังจากออกจากวัดละมุดใน ขับรถแล่นผ่านสิ้นสุดถนนพระราม 5 วนรถกลับบริเวณนี้มีวัดอยู่หลายแห่งให้นมัสการ โดยวัดลำดับถัดมาที่ได้เข้าไปนมัสการ คือ วัดสิงห์ ช่วงที่จะเข้ามานมัสการองค์พระพุทธรูปแห่งนี้ฝนตกเล็กน้อย แต่เหล่าบรรดากัลยาณมิตรก็ไม่ท้อ

สำหรับวัดสิงห์ แห่งนี้จุดเด่นอยู่ที่ วิหารหลวงพ่อมงคลบพิตร วิหารแห่งนี้เป็นศิลปกรรมสมัยอยุธยาตอนปลายลักษณะทรงสูงฐานแอ่นโค้งทรงเรือสำเภา ด้านในและด้านหลังเป็นมุขเด็จ หน้าบันและสาหร่ายเป็นไม้สัก สลัก ลวดลายดอกไม้ บัวหัวเสา ฐานซุกชี ซุ้มประตู หน้าต่างมีลวดลายปูนปั้นปิดทองประดับกระจก

วัดตะเคียน
ลอดโบสถ์ ทางเข้าหัวเสือ-ทางออกหัวมังกร

ออกจากวัดสิงห์ ขับรถแล่นผ่านไปเรื่อยๆ เข้าไปชม “วัดตะเคียน” ปรากฏว่าพอเข้าไปภายในบริเวณวัดฝนตกหนัก บริเวณวัดแห่งนี้มีจุดขายอยู่ที่ตลาดน้ำ แม้แต่คนเฒ่าคนแก่ก็พายเรือนำสินค้าที่เก็บจากสวน อาทิ มะนาว,ชะอม และ กระท้อน ฯลฯ มาจำหน่ายให้กับผู้ที่แวะเวียนมาตลาดน้ำแห่งนี้

บรรดากัลยาณมิตรได้ซื้อของติดไม้ติดมือเพื่ออุดหนุนคุณยายที่อายุกว่า 80 ปีต้องพายเรือขายของเลี้ยงชีพไปวัน ๆ

สำหรับประวัติวัดตะเคียน เมื่อสมัยก่อนเป็นป่าสวนส้มเขียวหวานเกือบทั้งหมด ถนนหนทางไม่สะดวกสบายเหมือนสมัยนี้

ส่วนวัตถุมงคลที่ขึ้นชื่อของหลวงปู่แย้ม มีหลายอย่างเช่น พระขุนแผนยอดขุนพล พระนางพญา พระขุนแผนใบบัว และตะกรุดคลองตะเคียน โดยท่านได้จารยันต์ คาถาพระเจ้า 5 พระองค์ หรือเรียกว่า “แม่ธาตุใหญ่” ซึ่งมีพุทธคุณเหนือยันต์ทั้งปวงลงในตะกรุด

นอกจากหลวงปู่่แย้ม ที่มีชื่อเสียง วัดตะเคียน ได้มีการบูรณะอุโบสถเก่าโดยพระครูสมุห์สงบ กิตฺติญาโณ หรือหลวงพี่สงบ หลังจากรับแต่งตั้งให้เป็นเลขานุการ หลวงปู่แย้ม ปิยวณฺโณ เจ้าอาวาสวัดตะเคียน ได้จัดสร้างทางเข้าโบสถ์เป็นหัวเสือขนาดใหญ่ ส่วนทางออกนั้นเป็นรูปหัวมังกรขนาดใหญ่ ซึ่งน่าจะเป็นโบสถ์แห่งเดียวในประเทศไทย ที่มีการสร้าง หัวเสือ และ หัวมังกร ให้เป็นประตูเข้าออกสำหรับการลอดโบสถ์

สำหรับวิธีการลอดโบสถ์ของวัดตะเคียนนั้น เมื่อไปถึงวัดก็สามารถลงไปลอดได้เลย โดยไม่ต้องซื้อดอกไม้และธูปเทียนไป ส่วนใครจะเตรียมไปเพื่อไหว้พระทางวัดไม่ได้กำหนดกฎเกณฑ์อะไรทั้งสิ้น ทั้งนี้ให้เดินเข้าทางหัวเสือ ก่อนการลอดให้ตั้ง นะโม 3 จบ โดยให้ตั้งจิตอธิษฐานว่า “ข้าพเจ้าลอดโบสถ์ ทุกข์โทษนานาติดเนื้อหนังมังสา กรรมปัจจุบันให้พลันสวาหาย”

และระหว่างเดินลอดโบสถ์ 3 รอบนั้น มีคำอธิษฐาน 9 อย่าง ซึ่งวัดได้จัดพิมพ์ไว้ให้ใช้อธิษฐาน คือ 1.ข้าพเจ้า ชื่อ…อวมงคลติดเนื้อหนังมังสาแต่ใดมา ให้หลุดสวาหาย 2.ข้าพเจ้าต้องรณีสาร อุบาทว์ 8 ประการตามโบราณว่าไว้ แต่ใดมา ให้หลุดสวาหาย 3.ข้าพเจ้าต้องน้ำมันผีพราย ติดเนื้อหนังมังสาแต่ใดมา ให้หลุดสวาหาย 4.ข้าพเจ้าต้องเดรัชฉาน เสน่ห์ยา ติดเนื้อหนังมังสาแต่ใดมา ให้หลุดสวาหาย 5.ข้าพเจ้าต้องคุณ 12 ภาษา ติดเนื้อหนังมังสาแต่ใดมา ให้หลุดสวาหาย 6.ข้าพเจ้าต้องมนต์ดำ มนต์แดง ติดเนื้อหนังมังสาแต่ใดมา ให้หลุดสวาหาย 7.ข้าพเจ้าต้องโรคพยาธิ เกิดโรคภัยไข้เจ็บรักษามิได้สร่างชา ให้หลุดสวาหาย 8.ข้าพเจ้าต้องโรคกรรม โรคเวร ปัจจุบันโรคกรรมพลันสวาหาย โสธายะ และ 9.ข้าพเจ้าปิดทองลอดโบสถ์ครั้งนี้ จงหนุนวาสนา หนุนบารมี ให้มั่งมีศรีสุข สิ่งที่ปรารถนาจงสำเร็จด้วยเทอญ

วัดอุทยาน ประมูลเรือมงคลหลวงปู่เพิ่มราคาสามแสน

สำหรับวัดที่ 7 คือ วัดอุทยาน ระหว่างเดินทางไปวัดปรากฏว่าโชคดีฝนหยุดตก แต่ปัญหา ก็คือ ไม่สามารถเข้าไปกราบนมัสการภายในโบสถ์ได้ แต่ได้พบท่านพระครูปลัดกิตติมงคลวัฒน์ (ศรี) ท่านแนะนำว่าโยมน่าจะมาวันถัดไป เพราะวันนั้นจะมีการทอดผ้าป่าสามัคคี และ มีการประมูลเรือมงคลหลวงพ่อเพิ่ม ปีละ 10 ลำ เหล่ากัลยาณมติรรับทราบแต่ไม่กล้ารับปากจะมาอีกรอบดีไหม

แม้วันนี้ยังไม่ได้กราบนมัสการพระพุทธรูป แต่ก็ยังไม่กลับเดินไปบริเวณหลังวัดพบเห็นโบสถ์ใหม่ที่สร้างเสร็จแล้วโดยเฉพาะรั้วคอนกรีตบริเวณรอบบริเวณหลังวัด ถูกก่อสร้างสไตล์ออกบาหลีเลยทีเดียวหยิบกล้องถ่ายรูปบันทึกเป็นหลักฐาน ระหว่างอยู่ภายในโบสถ์ปรากฏว่า พระครูปลัดกิตติมงคลวัฒน์ เดินมาหลังโบสถ์พร้อมพระอีกหนึ่งรูปพร้อมเรืองมงคลหลวงปู่เพิ่มมาด้วย และ ก็ขึ้นในโบสถ์เพื่อนำ เรือมงคลหลวงปู่เพิ่ม ไปตั้งประดิษฐานเพื่อนำมาออกประมูล

วัดบางไกรนอก ปิดทองหลวงปู่คล้อย มงคโล

สำหรับวัดบางไกรนอก วัดนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงโบราณสถาน มีโบสถ์อายุเก่าแก่มากกว่า 10 ปี และ วัดนี้ส่วนใหญ่บุคคลที่เข้ามาร่วมทำบุญนั้นจะเข้ามาปิดทองหลวงปู่คล้อย มงคโล อดีตเจ้าอาวาส วัดบางไกรนอก เสียดายว่าช่วงที่ไปนั้นโบสถ์ไม่ได้เปิด ทำให้ไม่สามารถเข้าไปดูโบราณสถานภายในโบสถ์ได้

วัดไทยเจริญ

ส่วนวัดที่ 9 เป็นวัดสุดท้ายที่เหล่ากัลยาณมิตรได้เห็นชื่อแล้วหายเหนื่อยเพราะชื่อ “วัดไทยเจริญ” เพราะถ้าได้เข้าไปกราบหลวงพ่อทุกคนจะได้เจริญเหมือนชื่อของวัด

แม้โบสถ์จะปิดแต่เหล่าพ้องเพื่อนไม่ย้อท้อเดินเล่นบริเวณรอบนอกโบสถ์ และ ทันใดนั้นก็มีพระ 2 รูป กำลังเดินทางออกมาจากวัดเพื่อเข้าไปทำวัดเย็นภายในโบสถ์ ถือว่าเป็นความโชคดีเหลือเกินเพราะได้ขออนุญาติพระเข้าไปกราบพระพุทธรูปองค์ใหญ่เพื่อให้ชีวิตเจริญรุ่งเรืองเหมือนชื่อของวัด

ตามประวัติของวัดไทยเจริญนั้น ว่ากันว่า พระอธิการองค์หนึ่ง ชื่อพระอธิการแฉ่ง เป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดไทยเจริญ (แต่เดิมชื่อวัดบ้านจีน) เป็นผู้จัดให้มีขึ้นและทำต่อกันมาเป็นประเพณีนิยม เดิมทีดียวชาวบ้านวัดไทรได้ริเริ่มจัดทำมาก่อนวัดใด ๆ ทั้งสิ้น แต่ต่อมาในระยะหลังวัดไทรไม่สามารถจัดต่อไปได้ จึงมอบหมายให้วัดไทยเจริญ จัดตำต่อมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน ที่เรียกว่าตักบาตรพระร้อยนั้นข้อแท้จริงเป็นชื่อเรียกกันตามหมู่บ้าน

แต่ถ้าเรียกกันเต็ม ๆ ต้องเรียกว่าตักบาตรพระร้อยแปด คำว่า “ร้อยแปด” หมายถึงคณาจารย์ร้อยแปดองค์ ที่ได้ร่วมปลุกเสกหลวงพ่อพุทธอาคมตามเรื่องนี้กล่าวกันว่าในพ.ศ. 2466 พระอธิการซึ่งเป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดไทยเจริญ ได้ประชุมปรึกษาหารือกับคณะกรรมการจัดสร้างพระพุทธรูปองค์หนึ่งเพื่อไว้เป็นที่สักการะในตำบลนั้น และ อนุชนรุ่นหลังต่อไป ได้ออกบอกบุญตามชาวบ้านตำบลนั้นและตำบลใกล้เคียง เพื่อนำองค์พระ เมือ่ได้ทองเหลือพอแก่ความต้องการแล้วคณะกรรมการ จึงแผ่ทองเหลืองให้เป็นแผ่น และ มอบให้พระอาจารย์จำนวนร้อยแปดองค์และได้มีการเททองหล่อเป็นองค์พระพุทธปฏิมากรจนสำเร็จเป็นสมมติชื่อว่า “พระพุทธอาคม” หล่อสำเร็จเมื่อ พ.ศ. 2466

ขอขอบคุณ http://www.thanonline.com/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .