เที่ยวบางใหญ่…ไหว้พระ 9 วัด

ช่วงปลายปีที่แล้ว ชื่อของ อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรีโด่งดังขึ้นมา เพราะรัฐบาลได้ชะลอโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่ – บางซื่อ รวมระยะทาง 23 กม.ซึ่งก็ทำหลายๆคนในละแวกนี้ ที่หวังจะเดินทางด้วยรถไฟฟ้าตามเส้นทางที่รัฐบาลหาเสียง ถึงกับฝันค้าง!!!

งานนี้คงต้องรอกันต่อไป แต่ที่ไม่ต้องรอก็คือ ในวันนี้ทางจังหวัดนนทบุรี เทศบาลตำบลบางม่วง อำเภอบางใหญ่ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ภาคกลาง เขต 6 ได้จัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงธรรมะขึ้นมา ในชื่อ “โครงการวันเดียวเที่ยว 9 วัด” เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวใจจังหวัดนนทบุรี โดยทางจังหวัดนนทบุรีได้ชูวัดเด่นๆในอำเภอบางใหญ่ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน

สำหรับวัดทั้งหมดนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปเที่ยวได้อย่างสะดวกสบายภายใน 1 วัน ทั้งในเส้นทางการท่องเที่ยวทางรถ และการท่องเที่ยวทางเรือ ซึ่งหากไปเที่ยวทางรถนั้น ทางจังหวัดจะมีรถรางไว้บริการโดยจุดแรกจะพาไปไหว้พระที่ วัดพิกุลเงิน วัดนี้ไม่ปรากฏนามผู้สร้าง แต่สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ราว พ.ศ. 2374 ต่อมาเมื่อชาวจีนชื่อ “ฮะ” ต้นตระกูลโฑณวนิก ได้ล่องเรือผ่านมาเห็นลักษณะของวัดแล้วเกิดศรัทธา จึงบริจาคทรัพย์ส่วนตัว สร้างอุโบสถขึ้นมาในราว พ.ศ. 2521 และเป็นที่ประดิษฐาน หลวงพ่อพุทธโสธร(หลวงพ่อโสธร)จำลององค์แรกของเมืองไทย

หลังกราบไหว้หวงพ่อโสธรองค์จำลองที่คติความเชื่อไม่ได้แตกต่างไปจากองค์จริง รถรางจะพาต่อไปยัง วัดคงคา วัดเก่าแก่รุ่นราวคราวเดียวกับวัดพิกุลเงิน เพราะสร้างราว พ.ศ. 2370 โดยไม่ปรากฏหลักฐานผู้สร้างเช่นเดียวกัน เดิมชาวบ้านเรียกวัดแห่งนี้ว่า “วัดโคก” เนื่องจากบริเวณวัดบางช่วงตั้งอยู่บนเนิน แต่ที่ได้นามว่า “วัดคงคา” เนื่องจากตั้งอยู่ริมคลองลัดและคลองบางใหญ่ มีพระประธานในพระอุโบสถ คือ หลวงพ่อศิลาแลงปิดทองคำเปลวแบบสุโขทัย ที่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ชาวบ้านเชื่อว่าน้ำมนต์อันศักดิ์สิทธิ์ของท่านจะช่วยปัดเป่าสิ่งเลวร้ายให้กลับกลายเป็นสิริมงคล และสามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ชะงัดนัก นอกจากนี้วัดคงคา ยังมีวังมัจฉาที่เต็มไปด้วยปลามากมาย เหมาะแก่การทำบุญให้อาหารปลายิ่งนัก

วัดต่อมาคือ วัดปรางค์หลวง วัดในสมัยอยุธยา ที่สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยของพระเจ้าอู่ทองประมาณ พ.ศ. 1904 เดิมชื่อ “วัดหลวง” ต่อมาในสมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้มาเห็นองค์พระปรางค์ที่สร้างขึ้นไว้พร้อมกับการสร้างวัด จึงได้เปลี่ยนนามวัดนี้เป็น “วัดปรางค์หลวง” สำหรับปูชนียวัตถุ มีประธานในอุโบสถ นามว่า “หลวงพ่ออู่ทอง” เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทอง ปางมารวิชัย หน้าตัก 9 คืบ โด่งดังเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ ทำให้มีชาวบ้านเดินทางมาสักการะบูชากันไม่ขาดสาย

จากวัดปรางค์หลวง ไปเที่ยวต่อกันที่ วัดอัมพวัน หรือวัดม่วง ที่โดดเด่นไปด้วยรอยพระพุทธบาทจำลอง ในมณฑปทรงพม่าที่สร้างตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย และหอไตรกลางน้ำ ที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งเป็นอาคารทรงไทยขนาดเล็กสมส่วนสวยงาม บานประตูลงรักปิดทองลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ปัจจุบันได้รับการบูรณะและทาสีใหม่โดยคงไว้ซึ่งรูปแบบเดิมทุกประการ

รถรางพาแล่นต่อไปท่ามกลางสายลมเอื่อยๆ ก่อนจะไปจอดยัง วัดราษฎร์ประคองธรรม วัดเก่าแก่ที่สันนิษฐานว่า และน่าจะสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยสุโขทัยตอนปลาย ก่อนจะถูกทิ้งร้างทรุดโทรม ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา จนชาวบ้านเรียก “วัดค้างคาว” ครั้นเวลาผ่านไปจนถึงปี พ.ศ. 2493 หมอแดง พุ่มเล็ก และชาวบ้านได้บูรณะพัฒนาให้เจริญรุ่งเรือง และเปลี่ยนชื่อเสียใหม่เป็น “วัดราษฎร์ประคองธรรม” ซึ่งวัดนี้มีสิ่งที่น่าสนใจ อาทิ หลวงพ่อโต (ซำปอกง) รูปหล่อพระครูนนทคุณประสิทธิ์ อดีตเจ้าอาวาส และพระนอนองค์ใหญ่ที่สุดในเมืองนนท์ที่มีคนเดินทางไปกราบไหว้เพื่อความเป็นสิริมงคลกันเป็นประจำ

วัดต่อไปคือ วัดเสาธงหิน วัดเก่าสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่เดิมชื่อ วัดสัก เนื่องจากมีต้นสักและต้นยางมาก วัดแห่งนี้สมเด็จพระเจ้าตากสิน ได้มาตั้งทัพเพื่อไปทำศึกที่อยุธยา มีการนำธงประจำกองทัพมาปักไว้ แล้วเอาหินทับที่โคนเสากันล้ม เมื่อได้ชัยชนะ พระองค์ก็ได้กลับมาทำการบูรณะและเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดเสาธงหิน” เป็นวัดที่มีโบสถ์งดงามวิจิตรตระการตา และมีพระพุทธรูปทีสำคัญ คือ หลวงพ่อโต พระปางป่าเลไลย์ที่ไม่มีที่ใดเหมือน เพรราะประธานพรด้วยหัตถ์ด้านซ้าย ถือเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านเคารพนับถือมาก

จากนั้นไหว้พระต่อกันที่ วัดอินทร์ ที่สร้างเมื่อ พ.ศ. 2253 โดยไม่ปรากฏนามผู้สร้าง วัดนี้ภายในอุโบสถ ประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัย ที่สร้างด้วยหินทรายแดง ฐานชุกชี อ่อนโค้งท้องสำเภา ตกแต่งด้วยผ้าทิพย์และลายปูนปั้นที่สูงค่ายิ่ง เป็นฝีมือช่างสมัยอยุธยาตอนปลาย นอกจากนี้ยังมีร่องรอยการลงรักปิดทองประดับกระจกมาก่อน แสดงให้เป็นว่าเป็นการช่างชั้นสูงที่มีฝีมือเป็นเลิศ

จากวัดอินทร์ รถรางจะพาไปยัง วัดสะแก ที่สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2305 เดิมชื่อ “วัดกลางคลอง” เพราะเรียกตามลักษณะภูมิประเทศที่ตั้งวัดมาแต่เดิม วัดนี้ไม่ปรากฏนามผู้สร้าง มี “หลวงพ่อพุทธมหามงคล” พระประธานปางสมาธิสมัยอยุธยา เนื้อหินทราย ประดิษฐานอยู่ในโบสถ์หินอ่อน ที่มีบานประตู-หน้าต่าง เป็นไม้แกะสลักตัวนูน นอกจากนี้ยังมี “พระผงรูปเหมือนพระครูสินิทนนทคุณ” ด้านหลังเป็นยันต์นะคงคา ที่ชาวบ้านนิยมศรัทธา โดยเฉพาะในด้านการรักษาโรค

ไปปิดท้ายกันที่ วัดสวนแก้วอันโด่งดังที่พุทธศาสนิกชนต่างรู้จักกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะนามของ พระพยอม กัลยาโณ พระนักเทศน์และนักปฏิบัติผู้ดูแลวัดสวนแก้ว สำหรับวัดแห่งนี้มีลักษณะของวัดป่าที่พระพยอมได้ จำลองสวนโมกขพลารามมาไว้ที่นี่ โดยตลอดทางเดินเข้าสู่ตัววัดจะร่มรื่นไปด้วยแมกไม้เขียวครึ้ม ติดป้ายคำขวัญเป็นข้อความเตือนสติพร้อมทั้งยังมีภาพปริศนาธรรม มีพื้นที่การทำสวนผลไม้ พืช ผัก สมุนไพรปลอดสารพิษแบบผสมผสาน ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

ส่วนที่ถือเป็นหนึ่งไฮไลท์ของวัดนี้ก็คือ โบสถ์ธรรมชาติ ที่เป็นลานโล่ง ไม่มีผนังและหลังคา แต่มีต้นไม้ใหญ่หลายต้นทำโน้มกิ่งโค้งเข้าหากัน ทำหน้าที่เป็นผนังและคาแทน ซึ่งวันไหนอากาศร้อนทางวัดก็จะพ่นไอน้ำออกมาสร้างความเย็นสบายให้แก่ผู้ที่นั่งฟังเทศน์ฟังธรรมหรือประกอบพิธีกรรมอยู่ในโบสถ์ธรรมชาติแห่งนี้ นอกจากนี้วัดสวนแก้วยังมีสินค้าขายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้ รวมถึงผลิตผลต่างๆจากในวัด และที่มีชื่อเสียงมากก็คือ สินค้ารีไซเคิลคุณภาพดี ราคาถูกที่ในแต่ละวันจะมีคนเดินทางไปเลือกซื้อสิ่งของจากที่นี่เป็นจำนวนมาก นับได้ว่า วัดสวนแก้ว เป็นหนึ่งในวัดปฏิบัติที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

นอกจากวัดทั้ง 9 แล้ว อำเภอบางใหญ่ยังมีวัดที่น่าสนใจ อย่าง วัดพระเงิน วัดส้มเกลี้ยง วัดต้นเชือก วัดท่าบันเทิงธรรม รวมถึงกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงเกษตรเพราะบางใหญ่มากไปด้วยสวนผัก ผลไม้ รวมถึงสวนไม้ดอก ไม้ประดับ โดยเฉพาะที่ถนนสายดอกไม้ดอกไม้ประดับ(ถนนกาญจนาภิเษก) ที่สองข้างทางมากไปด้วยพืชพันธุ์ไม้นานาชนิด นับเป็นหนึ่งในถนนที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ชื่นชอบต้นไม้

ใครที่สนใจก็สามารถแวะเวียนไปเที่ยวอำเภอบางใหญ่กันได้ เพราะถึงแม้ว่าอำเภอนี้จะยังไม่มีโครงการหาเสียงรถไฟฟ้าสายสีม่วงของรัฐบาลวิ่งผ่าน แต่อำเภอนี้ก็มีสถานที่ท่องเที่ยวอันน่าสนใจ (ใกล้กรุงฯ) หลายแห่งให้เที่ยวชม แถมยังเดินทางไปจากกรุงเทพฯได้อย่างสะดวกสบายอีกด้วย

ขอขอบคุณ http://www.manager.co.th/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .