วัดสวนแก้ว สะพานบุญของการีไซเคิล

หากพูดถึงวัด สิ่งที่เราจะคิดถึงก็คือการทำใจให้สงบ การทำบุญ และการบริจาคสิ่งของ แต่สำหรับวัดสวนแก้วแล้วเราจะได้พบสิ่งอื่นอีก นั่นก็คือ การรีไซเคิล ซึ่งเป็นสะพานบุญระหว่างผู้ให้หรือผู้บริจาควัสดุเหลือใช้และผู้รับหรือผู้ยากไร้ ซึ่งสะพานบุญของการรีไซเคิลนี้ ดำเนินการโดยมูลนิธิสวนแก้ว จ.นนทบุรี

มูลนิธิสวนแก้ว ได้ก่อตั้งขึ้นในปี 2529 ภายในวัดสวนแก้ว เริ่มจากพระพยอม กัลยาโณ (พระพิศาลธรรมวาที) ได้มีความตั้งใจที่จะช่วยเหลือบุคคลที่ด้อยโอกาสในสังคมรวมทั้งผู้ประสบภัย นักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ คนชรา ฯลฯ โดยการให้อาชีพใหม่และที่พักอาศัยแก่พวกเขาเหล่านั้น ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามูลนิธิสวนแก้วได้จัดทำโครงการที่ช่วยเหลือสังคมต่างๆ มากมาย แต่มีโครงการหนึ่งที่มีส่วนช่วยให้การลดปริมาณขยะมูลฝอย และช่วยให้ผู้ยากไร้ได้มีลู่ทางทำมาหากิน นั้นคือ โครงการสะพานบุญจากผู้เหลือเจือจานผู้ขาด สาเหตุที่ได้เกิดโครงการนี้ขึ้นมา พระพยอมได้เทศนาโดยสรุปว่า วันหนึ่งท่านไปธุระพร้อมลูกศิษย์ ระหว่างนั่งคอยลูกศิษย์บนรถ เผอิญบ้านตรงข้ามเป็นบ้านเศรษฐีแล้วมองเห็นเขาหยิบถุงขยะเทลงถังหน้าบ้าน และมีเด็ก 2 – 3 คน รถคนจน รถซาเล้งปรี่เข้าไปเขี่ยคุ้ย เลือกเอาของเก่าที่ยังใช้ได้จากถังที่มีขยะปนเปื้อน ใส่ในรถเข็นก่อนที่จะนำไปขาย จากวันนั้นได้จุดประกายแนวคิดที่ว่าจะทำอย่างไรให้เด็กเหล่านี้ได้ขยะที่ไม่เปรอะเปื้อนผนวกกับความคิดที่ว่า มนุษย์หาความสุขที่เป็นกากมากกว่าที่เป็นทิพย์ยิ่งความสุขที่เป็นกากมากกากของความสุขก็มาก ถ้าเอากากของความสุขมาทำให้มันเป็นประโยชน์อีกทีจะได้ไหม ดังนั้น ในปี2536 มูลนิธิสวนแก้ว จึงได้ริเริ่มโครงการที่ รับบริจาคสิ่งของหรือของเหลือใช้ที่เจ้าของไม่ต้องการแล้ว หรือของที่ทิ้งแล้วแต่ยังสามารถนำมาดัดแปลงให้เป็นประโยชน์ได้อีก ให้แก่ผู้ยากไร้ คนตกงาน ภายในวัดสวนแก้ว นำไปขายเพื่อยังชีพหรือใช้ประโยชน์อย่างอื่นต่อไป ตัวอย่างเช่น

เศษไม้ เศษอิฐ หิน ดิน ทราย และเศษอุปกรณ์ที่เป็นวัสดุก่อสร้างทุกชนิด เพื่อนำมาต่อเติมส่วนที่ขาดของอาคารสถานที่ภายในวัด
สิ่งของใช้เก่าๆ ภายในบ้านที่เจ้าของไม่ใช้ทำประโยชน์แล้ว เช่น หม้อ ไห ถ้วย ชาม เฟอร์นิเจอร์เก่า เสื้อผ้า รองเท้าเก่า เพื่อนำมาดัดแปลงใช้ประโยชน์และขาย
หนังสือเก่าทุกประเภทเพื่อนำไปขายและแจกให้กับห้องสมุดในชนบท
บ้านเก่า และวงกบประตูหน้าต่าง โดยทางเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิจะเป็นผู้รื้อถอนให้ เพื่อสร้างที่พักให้แก่ผู้ประสบภัยและผู้ยากจน
การดำเนินโครงการสะพานบุญจากผู้เหลือเจือจานผู้ขาด และจากศรัทธาของประชาชนที่มีกุศลเข้าร่วมบริจาคปัจจัย และเครื่องอุปโภค บริโภค แก่มูลนิธิ ทำให้มีสิ่งของมากขึ้นซึ่งพระพยอมก็ได้จัดแจกให้แก่ผู้ยากไร้ต่างๆ และทำให้เกิดโครงการอื่นๆ ตามมาอีกมาก เช่น โครงการซูเปอร์มาร์เก็ตผู้ยากไร้ โดยการนำเสื้อผ้าและสิ่งของเบ็ดเตล็ดที่ได้รับบริจาคมาขายให้แก่ผู้ยากไร้ในราคาถูก และโครงการเพื่อการเกษตรและสิ่งแวดล้อมที่มุ่งเน้นไปที่การผลิตปุ๋ยน้ำชีวภาพจากขยะเศษอาหารจากโรงครัวและพืชผักใบไม้จากสวนภายในวัด จากจุดนี้เองทำให้มูลนิธิสวนแก้วสามารถขยายการรับบริจาคได้มากและเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น ก่อให้เกิด แผนกการรับสิ่งของบริจาคที่เป็นระบบชัดเจน

ณ วันนี้ มูลนิธิสวนแก้วมีการดำเนินงานเป็นศูนย์รับบริจาควัสดุรีไซเคิล เปิดรับของบริจาคทุกชนิดและอัตราการบริจาคของผู้มีจิตศรัทธาก็มาก เช่น ทีวี 25 – 50 เครื่อง/สัปดาห์ ตู้เย็น 20 เครื่อง/สัปดาห์ รวมทั้งเสื้อผ้าและสิ่งของเบ็ดเตล็ดนับหลายคันรถ คงเป็นการยากที่จะประเมินออกมาได้ว่าวันหนึ่งๆ นั้น มูลนิธิสวนแก้วรับบริจาคได้กี่ตัน/วัน แต่ที่แน่นอน คือ การบริจาคนั้นช่วยประหยัดงบประมาณการจัดการขยะมูลฝอยของเทศบาลได้ ขณะเดียวกันยังได้ช่วยเหลือผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส คนตกงาน ได้มากกว่า 2,000 ชีวิต ให้มีอาชีพ มีที่พักอาศัย และที่พึ่งทางใจสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้โดยไม่เบียดเบียนใคร

ดังคำพูดของผู้ประสบภัยท่านหนึ่ง ที่มาเลือกซื้อเสื้อผ้าจากวัดในราคาตัวละ 2 – 3 บาท แล้วนำไปขายชายแดน ตัวละ 5 บาท 10 บาท เขาบอกว่า ในแต่ละเที่ยวได้กำไร 500 – 600 บาท ทำให้เขามีเงินซื้อข้าวให้ลูกกิน โครงการนี้ (โครงการซูเปอร์มาร์เก็ตผู้ยากไร้) เป็นที่พึ่งของเขา ช่วยให้มีอาชีพและฟื้นตัวได้
การดำเนินงานที่ผ่านมาอาจกล่าวได้ว่า วัดสวนแก้วไม่ได้เป็นเพียงวัดที่อบรมบ่มนิสัยพุทธศาสนิกชนเท่านั้น แต่หากยังเป็นวัดที่ได้พลิกบทบาทเข้ามามีส่วนช่วยเหลือและพัฒนาสังคมได้อย่างมากทีเดียว โดยเฉพาะการช่วยลดปัญหาทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมซึ่งสามารถที่จะใช้เป็นแบบอย่างในการดำเนินงานให้แก่วัดหรือองค์กรอื่นๆ นำไปประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ คือ การรับบริจาคของเหลือใช้เข้ามามาก ขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นก็จะมากขึ้นเป็นเงาตามตัว รวมทั้งขยะมูลฝอยที่เกิดจากบุคคลภายนอกที่เข้ามาทำกิจกรรมภายในวัดด้วย ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่วัดจะต้องมีระบบการจัดการขยะมูลฝอยที่มีประสิทธิภาพ รู้จักการแยกแยะว่าสิ่งไหนควรจะนำมาใช้ประโยชน์ และสิ่งไหนควรจะต้องนำไปกำจัดโดยวิธีการที่เหมาะสม เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการคงอยู่อย่างยั่งยืนของวัดสวนแก้วเพื่อเป็นที่พึ่งของสังคมไทยตลอดไป

ขอขอบคุณ http://www.pcd.go.th/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .