วัดอุภัยภาติการาม (วัดซำปอกง)

ตั้งอยู่บนถนนศุภกิจ ใกล้กับบริเวณตลาดบ้านใหม่ เดิมเป็นวัดจีนแต่ปัจจุบันแปรสภาพเป็นวัดญวนในลัทธิมหายาน ภายในวัดมีวิหารลักษณะเหมือนศาลเจ้า เป็นที่ประดิษฐานของหลวงพ่อโต (พระไตรรัตนนายก) หรือที่ชาวจีนเรียกว่า “เจ้าพ่อซำปอกง” ในประเทศไทยมีเพียง 3 องค์เท่านั้น ประดิษฐานอยู่ที่วัดกัลยาณมิตร (ฝั่งธนบุรี) จังหวัดกรุงเทพฯ วัดพนัญเชิง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และวัดอุภัยภาติการาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ จะมีนักท่องเที่ยวจากฮ่องกง สิงคโปร์ และไต้หวัน มานมัสการอยู่เป็นประจำความเป็นมาหลวงพ่อโต ซำปอกง วัดอุภัยภาติการาม
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่เมืองแปดริ้ว หรือ จ.ฉะเชิงเทรา มีเศรษฐี ๒ พ่อลูก ซึ่งเป็นชาวตลาดบ้านใหม่ล่าง คือ หลงจู๊ฮี้ (พ่อ) กับ หลงจู๊แดง (ลูก) มีใจศรัทธาต่อ หลวงพ่อโต ที่วัดพนัญเชิง อยุธยา มาก เวลานั้นเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายมากในหมู่ชาวจีนในเมืองไทย นิยมไปกราบไหว้บูชา หลวงพ่อโต หรือ ซำปอกง ที่อยุธยา เพราะถือว่ามงคลยิ่งนัก พระพุทธรูปโบราณองค์นี้ ประชาชนชาวไทย และชาวจีน เคารพนับถือกันมาก เชื่อว่าสามารถนำโชคดีมาสู่ตนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนค้าขาย หากบูชาดีๆ ตั้งใจอธิษฐานอย่างแน่วแน่ ย่อมประสบผลสำเร็จ กิจการรุ่งเรือง ใหญ่โต เหมือนองค์ท่านดังนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๔๙ (ร.ศ.๑๒๕) หลงจู๊ฮี้ และหลงจู๊แดง (ซึ่งเวลาต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “ขุนพิพิธพานิชกรรม”) ได้ช่วยกันสละทรัพย์สร้าง พระซำปอกง ขึ้นไว้กราบไหว้บูชา โดยให้ช่างปั้นไปจำลองมาจากวัดพนัญเชิง อยุธยา ขณะเดียวกันหลงจู๊แดง หรือ ขุนพิพิธพานิชกรรม ได้สละที่ดิน ต.บ้านใหม่ อ.เมือง สร้างวิหาร เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปขึ้น

คนเก่าแก่เล่าว่า พระซำปอกง เป็น พระพุทธรูปปูนปั้น ข้างในองค์พระเป็นโพง โดยใช้กระบุง หรือ ภาชนะที่สานด้วยไม้ไผ่เอามาก่อซ้อนกันเป็นรูปองค์พระแล้วจึงค่อยเอาปูนฉาบ แล้วจึงลงรักปิดทองภายหลัง พระซำปอกงที่สร้างนั้นมีขนาดหน้าตักกว้าง ๖.๕๐ เมตร สูงประมาณ ๑๒ เมตร ในปีต่อมา ร.ศ. ๑๒๖ (พ.ศ. ๒๔๕๐) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ เสด็จ จ.ฉะเชิงเทรา ได้ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินมายังวิหาร อันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปด้วย ทรงมีพระราชศรัทธาบริจาคเงิน ๒๐๐ บาท พระราชทานสมทบในการสร้างอาราม และปฏิสังขรณ์พระพุทธรูป (ซำปอกงแปดริ้ว) กับได้พระราชทานนามวัดนี้ว่า “วัดอุภัยภาติการาม” ส่วนพระพุทธรูปทรงทราบว่าไปจำลองมาจากอยุธยา ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) พระราชทานพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระพุทธไตรรัตนนายก” เช่นเดียวกับ ซำปอกงที่อยุธยา และฝั่งธนบุรี(วัดกัลญาณมิตร) สาเหตุที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ พระราชทานนามวัดนี้ว่า “อุภัยภาติการาม” ก็เนื่องจากทราบว่า วัดนี้ประสบความเสียหารจากน้ำท่วมอยู่บ่อยๆ และบางปีพระพุทธรูป (ซำปอกง) ดูดน้ำซึมเข้าองค์พระ ทำให้ทองที่ปิดเสียหายอยู่เสมอ โดยเฉพาะบริเวณฐาน และตอนล่างขององค์พระ จะพบว่าทองที่ปิดไว้ เริ่มลอก และหลุดออกเป็นแห่งๆ ต้องทำการซ่อมแซมอยู่เสมอ (หากจะทำการบูรณะซ่อมแซมปิดทองทั้งองค์พระ จะต้องใช้งบประมาณถึง ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท)

ในปีต่อมา ร.ศ. ๑๒๗ (พ.ศ. ๒๔๕๑) หลงจู๊ฮี้ และหลงจู๊แดง ผู้สร้าง พระซำปอกงแปดริ้ว จัดงานสมโภชฉลอง พระพุทธรูป พระไตรรัตนนายก (นามพระราชทาน) เป็นการฉลองที่ได้รับพระราชทานนาม “วัด” และ “พระ” ขณะเดียวกัน ทรงมีพระราชศรัทธาบริจาคเงิน ๒๐๐ บาท พระราชทานสมทบในการสร้างอาราม และปฏิสังขรณ์พระพุทธรูป

งานสมโภชฉลอง “พระพุทธไตรรัตนนายก” กำหนดการวันที่ ๘ เมษายน ร.ศ. ๑๒๗ ตรงกับ วันพุธขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๕ ปีวอก ไปจนถึงวันที่ ๑๒ เมษายน ปีเดียวกัน รวม ๕ วัน การสมโภชมีการแสดง งิ้ว และลิเก การละเล่นต่างๆ พร้อมกับได้กำหนดลงไปว่า ตั้งแต่ปีนี้ต่อไปทุกๆ ปีถึงกำหนดวันเดือน ๕ ขึ้น ๘ ค่ำ ให้เป็นวันกำหนดปิดทอง พระพุทธไตรรัตนนายก หรือ พระซำปอกง เพิ่มเติมทุกๆ ปี พร้อมกับชักชวนประชาชนทั้งหลายให้มาทำบุญปิดทองพระ

ขอขอบคุณ http://www.muangthai.com/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .